top of page

กทม. ผนึกกำลัง TikTok ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เป็น Smart City อย่างยั่งยืน

ผ่านแนวคิด 3 Smart: Smart Economy, Smart People และ Smart Environment


กรุงเทพมหานคร ประกาศจับมือกับ TikTok ร่วมขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ผ่านการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างองค์ความรู้สู่การพัฒนาสังคม และสร้างความตระหนักรู้ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดริเริ่ม 3 Smart ที่ครอบคลุมใน 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ (Smart Economy) ด้านสังคม - การศึกษา (Smart People) และด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment)

(10 ต.ค. 66) กรุงเทพมหานคร และ TikTok Thailand จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ TikTok ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นางชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy - Thailand, TikTok ร่วมลงนาม

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมืองจะน่าอยู่ได้ด้วยปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้ คือ 1. เรื่องคุณภาพของคน หัวใจของเมืองอยู่ที่ ‘คน’ การที่เมืองมีคนดีคนเก่งอยู่มาก ๆ ก็จะช่วยกันพัฒนาเมืองและพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นได้ 2. เรื่องเศรษฐกิจ คนในเมืองมีอาชีพ การค้าการขายคล่องตัว ยิ่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้เกิดการค้าการลงทุน เกิดบรรยากาศของการเดินทางและการท่องเที่ยวที่คึกคัก และกระตุ้นให้เศรษฐกิจของเมืองมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น 3. เรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสุขภาพ และคนในเมืองร่วมแรงร่วมใจกันทำให้เมืองมีความสะอาด สดชื่น สวยงาม ใช้ชีวิตด้วยความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทั้ง 3 ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครกำลังขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งวิธีการหนึ่งที่เราพยายามทำก็คือการเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City โดยนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานและพัฒนาการให้บริการต่าง ๆ ซึ่งต้องขอบคุณทาง TikTok ที่เห็นตรงกันกับเรา ร่วมมือกับเรา และช่วยกันผลักดันให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ในทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ Smart People, Smart Economy และ Smart Environment

จาก 3 เสาหลักข้างต้น อาจกล่าวรวม ๆ ได้ว่า การเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้น มี 2 เรื่องสำคัญ โดยเรื่องแรกคือ เราจะทำให้กรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นได้อย่างไร กทม.อาจจะออกกฎหรือระเบียบต่าง ๆ ได้ แต่การบังคับใช้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นจึงต้องทำให้คนมีความรับผิดชอบมากขึ้น เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น ในภาษาอังกฤษจะมีคำว่า “Nudge” ซึ่งแปลว่าการสะกิดหรือการดุน หรือการทำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น ซึ่งการ Nudge ไม่สามารถใช้กฎระเบียบได้เพราะเหมือนเป็นการบังคับ ฉะนั้น จึงต้องใช้สื่อที่มีประสิทธิภาพที่สามารถสื่อสารกับคนได้ตรงจุด โดย TikTok เป็นสื่อหนึ่งที่มีความเร็วและสื่อสารได้กับกลุ่มคนที่ไม่มีเวลาอ่านอะไรยาว ๆ และชอบเนื้อหาแบบสรุป

ทั้งนี้ หากอยากให้คนมีพฤติกรรมดีขึ้น นอกจากมีเนื้อหาแล้ว ต้องเลือกสื่อที่เหมาะสมเพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนที่เราต้องการด้วย ซึ่งหัวใจแรกก็คือ Nudge โดยอาศัยพลังของ Social Media และมีการสื่อสารที่ถูกต้อง เพื่อปรับพฤติกรรมคนให้ดีขึ้นและสอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น ในครั้งนี้ กทม. ได้รับความร่วมมือจาก TikTok เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอนาคต TikTok เองก็ต้องปรับตัวให้มีฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมคนที่อาจเปลี่ยนไป เพราะโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เรื่องที่สอง คือ เศรษฐกิจ ซึ่งมีหัวใจคือการช่วยคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม อนาคตโลกจะเปลี่ยนจากยุคของแบรนด์ (Brand Age) มาเป็นยุคของผลิตภัณฑ์ (Product Age) ซึ่งหมายถึงแบรนด์หรือชื่อเสียงไม่สำคัญเท่าคุณภาพ ลูกค้าไม่ได้เชื่อการโฆษณาเพื่อการสร้างแบรนด์ แต่ลูกค้าเชื่อในคุณภาพสินค้า การรีวิว หรือการบอกต่อของคนที่เขาไว้วางใจ แต่ Product Age จะประสบผลสำเร็จได้จะต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการสื่อสาร ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวคือแพลตฟอร์ม

แพลตฟอร์มก็เหมือนกับตลาดนัด เมื่อก่อน “โบ๊เบ๊” ถือเป็นแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่แบบแพลตฟอร์มแบบอนาล็อก ซึ่งแตกต่างจากดิจิทัลแพลตฟอร์มในปัจจุบัน โดยตลาดนัดแบบเดิมจะมีปัญหาอยู่ 4 อย่าง คือ 1. มีคนควบคุมการเข้า-ออก (Gatekeeper) มีความฝืด (Friction) เช่น ต้องนั่งรถไป กำหนดเวลาเปิด-ปิด อยู่ที่บ้านซื้อไม่ได้ 3. Scale หรือขยายผลยาก เพราะมีพื้นที่จำกัด กลุ่มลูกค้าจำกัด 4. ไม่มี Feedback Loop ยกตัวอย่างเช่น เราไปซื้อของที่โบ๊เบ๊ เราจะรู้ว่าของมีคุณภาพหรือไม่ก็ต่อเมื่อมีการซื้อไปใช้แล้ว แต่ดิจิทัลแพลตฟอร์มสามารถแก้ปัญหา 4 ข้อนี้ได้ ไม่มีคนควบคุมการเข้าออก ไม่มีความฝืด จะซื้อของเวลาไหน จากที่ไหนก็ได้ Scale ได้ โดยมีลูกค้าได้จากทั่วโลก และมีรีวิวต่าง ๆ ให้พิจารณาก่อนซื้อ

ปัญหาพ่อค้าแม่ค้าโบ๊เบ๊ที่ขายไม่ดีในระยะหลังมานั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าที่หันมาซื้อของผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วย จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาช่วยพ่อค้าแม่ค้าที่โบ๊เบ๊ เชื่อว่าหากทำอย่างเต็มที่และมีความร่วมมือกัน จะช่วยเรื่องเศรษฐกิจได้ดี พ่อค้าแม่ค้าจะมียอดขายที่ดีขึ้น กทม.ก็พร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนช่วยโปรโมต ส่วนทาง TikTok เองก็น่าจะเป็นพลังที่จะช่วยสนับสนุนได้เป็นอย่างดีอีกแรงหนึ่งด้วย

“ความร่วมมือกันในครั้งนี้เป็นโครงการที่ดี ซึ่งต้องขอขอบคุณทาง TikTok อีกครั้งที่ร่วมมือกัน โดยหวังว่าจะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างสูงสุด อนาคตเราคงไม่หยุดแค่นี้ คงต้องหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดเพื่อมาพัฒนาและรับใช้พี่น้องประชาชนต่อไป” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้าย

นางชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy - Thailand, TikTok กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง TikTok และกรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นมาจากพันธกิจของ TikTok ในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขับเคลื่อนสังคมอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกรุงเทพมหานคร โดยได้มีการประกาศคำมั่นสัญญาของ TikTok ที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านโครงการสนับสนุนท้องถิ่น (Support Local Program) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในระดับประเทศไทยเราเป็นพาร์ทเนอร์กับกรุงเทพมหานคร โดยได้มีการคุยกันว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อที่จะสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็น Smart City ในอนาคต ซึ่งการลงนามความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในครั้งนี้จะสามารถช่วยให้เราประสบความสำเร็จตามคำมั่นสัญญาในการปลดล็อกโอกาสต่าง ๆ ที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มมากมายในทุกมิติตามแนวคิด Smart Economy, Smart People และ Smart Environment อย่างครบถ้วน

ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีผู้ใช้ TikTok มากกว่า 325 ล้านคน มีธุรกิจมากกว่า 15 ล้านธุรกิจ ฉะนั้น เราจึงเป็นฟันเฟือนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

สำหรับแนวคิด Smart Economy เกิดขึ้นด้วย TikTok มีความมุ่งมั่นในการเปิดโอกาสและสร้างความเป็นไปได้ให้กับทั้งครีเอเตอร์ ธุรกิจ ตลอดจนสังคมไทย ให้สามารถปลดล็อกศักยภาพด้านการค้าขายบนแพลตฟอร์มเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันไปจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ กว่า 36% ของครีเอเตอร์ในประเทศไทย มีรายได้บน TikTok มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน เราจึงเห็นแนวทางในการใช้ TikTok มาพัฒนาธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง หรือธุรกิจรายย่อย โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า TikTok Shop และได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครสนับสนุนกลุ่มผู้ขายในตลาดโบ๊เบ๊ หนึ่งในแหล่งขายเสื้อผ้าชื่อดังของกรุงเทพฯ ให้มีทักษะดิจิทัล และมีความรู้ในการทำคอนเทนต์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การชวนเปิดร้าน และแบ่งปันความรู้ต่าง ๆ ทั้งการลงสินค้า การขาย การไลฟ์สตรีม ผ่าน TikTok Shop Seller Academy เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้สามารถสร้างคอนเทนต์ได้อย่างสร้างสรรค์และประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งจะมีการเชื่อมการสร้างรายได้จากร้านของตลาดโบ๊เบ๊ให้กับเหล่าครีเอเตอร์ด้วย

ในส่วนของแนวคิด Smart People ที่ผ่านมา TikTok ได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมเทศกาลการอ่านและหนังสือกรุงเทพฯ โดยจัด hashtag challenge #อ่านตามTikTok #BKKBooktok ชวนคนมารีวิวหนังสือ รีวิวว่าทำอย่างไรจะมีการอ่านหนังสือมากขึ้น ซึ่งมีวิดีโอมากกว่า 40,000 วิดีโอที่เกิดขึ้นจากเหล่าครีเอเตอร์ของเรา รวมผู้เข้าชมกว่า 186 ล้านวิว

จากนั้นได้มีการหารือด้านการศึกษากับกรุงเทพมหานคร เกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งมุ่งมั่นในการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลในกลุ่มเยาวชนไทย โดยวางแนวทางดำเนินการเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อาทิ ร่วมกันเปิดห้องเรียนคอมพิวเตอร์ จำนวน 109 ห้อง พร้อมจัดอบรมโดยเหล่าครีเอเตอร์ที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้มีองค์ความรู้และทักษะทางคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นในการต่อยอดทางสายงานอาชีพในอนาคต

นอกจากนี้ TikTok และกรุงเทพมหานคร ยังเล็งเห็นถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมกันจัดทำแคมเปญเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด Smart Environment โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำ hashtag challenge #ไม่เทรวม ซึ่งมีกระแสตอบรับบนแพลตฟอร์ม TikTok อย่างคึกคักและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถลดจำนวนขยะได้สูงถึง 52 ตัน ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน หรือ 94 ตัน ภายใน 3 เดือน ในครั้งนี้จึงร่วมกันต่อยอดแคมเปญ “ไม่เทรวม” โดยผสานพลังกับหน่วยงานพันธมิตรเปิดตัวแคมเปญ “REact For Change ลองเปลี่ยนโลก” สนับสนุนการสร้างสรรค์คอนเทนต์รักษ์โลกในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และ Eco-School ภายใต้แนวคิด Refill-Recheck-Recycle บนแพลตฟอร์ม TikTok เพื่อสร้างแรงบันดาลใจนำไปสู่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยแคมเปญดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2566

ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครมีระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของ TikTok ในการเป็นผู้นำแพลตฟอร์มที่มอบทั้งความบันเทิงอย่างมีความรับผิดชอบ ปลดล็อกศักยภาพทางธุรกิจ และส่งมอบโอกาสให้กับทุกภาคส่วน เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สำหรับกิจกรรมในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ TikTok ประกอบด้วย ช่วง “Smart BKK by TikTok” บรรยายถึงความร่วมมือในการก้าวสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จากวิทยากร 3 ท่าน ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ 1. เรียนดีกับ TikTok โดย นายชนินทร์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีการศึกษา สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร 2. สิ่งแวดล้อมดี กับ TikTok โดย นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ 3. โบ๊เบ๊ On TikTok โดย นางสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ดำเนินรายการโดย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร จากนั้นเป็นการรับชมคลิป “Kickoff - โบ๊เบ๊ TikTok Shop” แล้วจึงเข้าสู่ช่วงพิธีลงนาม โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร ผศ.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณ Teresa Tan - Director of Public Policy SEA และคุณ Kyu Kyu Thein - Public Policy Manager ร่วมเป็นสักขีพยาน นอกจากนี้ยังมีการออกบูท TikTok Shop และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ 3 Smart อีกด้วย

กรุงเทพมหานคร ปัก 3 เสาหลัก ผลักดัน กทม. เป็น Smart City ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok (10 ต.ค. 66) ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง: นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นางสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และนายชนินทร์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีการศึกษา สำนักการศึกษา เป็นวิทยากรบรรยายถึงความร่วมมือในการก้าวสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของกรุงเทพมหานคร ในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ TikTok โดยมีนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกกรุงเทพมหานคร ร่วมดำเนินรายการ โดยในปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีความร่วมมือกับTikTok เพื่อร่วมกันพัฒนากรุงเทพมหานครให้ดีขึ้น เริ่มจากโครงการไม่เทรวม ซึ่งสามารถสร้างกระแสความตื่นตัวในสังคมได้เป็นอย่างดี สำหรับในปีนี้จะเน้นให้เห็นถึงการต่อยอดต่อโครงการเดิม เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ด้วยการปักเสาหลัก 3 ต้น ภายใต้แนวคิด 3 Smart คือ เสาเศรษฐกิจ (Smart Economy) เสาสังคม - การศึกษา (Smart People) เสาสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) —————————


Commentaires


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page