ดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ สู่ชุมชน
เมื่อวันที่ 30 พ.ย.66 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานการประชุม ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ (ถ.ศรีอยุธยา) เขตราชเทวี
การประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้แจ้งถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติตามที่มติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีคำสั่งแต่งตั้ง รวมทั้งสิ้น 14 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 ด้าน 12 คณะ คณะอนุกรรมการอำนวยการจัดการประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power Forum) คณะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และพิจารณาแผนงานโครงการของอุตสาหกรรมเป้าหมายชอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขา ประกอบด้วย 1
. เฟสติวัล 10 โครงการ 2. ท่องเที่ยว 7 โครงการ 3. อาหาร 3 โครงการ 4. ศิลปะ 5 โครงการ 5. ออกแบบ 1 โครงการ 6. กีฬา 6 โครงการ 7. ดนตรี 3 โครงการ 8. หนังสือ 6 โครงการ 9. ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ 1 โครงการ 10. แฟชั่น 5 โครงการ และเกม 7 โครงการ ตามแนวทางและหลักการในการบูรณาการข้อเสนอแผนงาน/โครงการ ประกอบด้วย เป็นกิจกรรมที่สามารถเริ่มดำเนินการและ/หรือมีผลสำเร็จ ได้อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงเวลา 100 วัน 6 เดือน และ 1 ปี ไม่มีความซ้ำซ้อนหรือสอดคล้องกับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ที่หน่วยงานรัฐดำเนินการ และได้รับจัดสรรงบประมาณอยู่แล้ว โดยมอบหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้องหลัก ให้เป็นหน่วยงานดำเนินการเพื่อให้สามารถประสานการสนับสนุนในแต่ละสาขาได้อย่างเป็นเอกภาพ สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของหน่วยงาน
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของแต่ละสาขาหนุนเสริมซึ่งกันและกันและก่อให้เกิดเอกภาพ และพลังในการขับเคลื่อน ให้แต่ละสาขาพิจารณานำ Theme หลัก ของสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องมาเป็นองค์ประกอบ Content ในการขับเคลื่อนของตนเองด้วย (เช่น มวยไทย อาหาร แฟชั่น ดนตรี งานประเพณี) โดยเน้นการสื่อและยกระดับคุณค่าความเป็นไทย ใน 4 มิติ คือ Smart, Kind, Deep, and Mysterious โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เป็นผู้ประสานงานหลักในแต่ละประเด็น (focal point) ร่วมกับ อนุกรรมการฯ ของแต่ละสาขา กระทรวงที่รับผิดชอบเป็นหน่วยดำเนินการ หน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนสำนักงบประมาณให้คำปรึกษาแนะนำหารือร่วมกันเพื่อจัดทำรายละเอียดข้อเสนอโครงการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ตามรูปแบบการเสนอของบประมาณ (ทั้งปี 2567และปี 2568) ภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2566 เพื่อรวบรวมนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาฯ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ Water Festivals โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล ซึ่งจะจัดงาน World Water Festival - The Songkran Phenomenon 77 จังหวัด ตลอดเดือนเมษายน เพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีอันงดงามของไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาร่วมงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชมชน และสร้าง IP Festival ผลักดันให้ประเทศไทย ติด 1 น 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลของโลก โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลก สื่อจากต่างประเทศ ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศ สุดยอดเฟสติวัลของโลก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และดันยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 35 ล้านคน ในปี 2567 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 ประมาณ 40,000 ล้านบาท สร้างงาน สร้างรายได้ สู่ชุมชน 77 จังหวัด ซึ่งคาดว่าสถานที่จัดกิจกรรมหลัก ได้แก่ ถนนราชดำเนิน - สนามหลวง - ลานคนเมือง – เสาชิงช้า รูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นการร่วมมือกันของ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ (ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น) ร่วมนำเสนอใน Soft Power Avenue (ถนนราชดำเนิน) ประกอบกับกิจกรรมการสรงน้ำพระ กิจกรรมสายมู น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ หมอดู Parade Mardi Gras รวบรวมของดีจาก 77 จังหวัด การแสดงทางวัฒนธรรมจาก 4 ภาค การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงมหรสพ การจำหน่ายสินค้าของดีจาก 77 จังหวัด ถนนแห่งสายน้ำชุ่มฉ่ำ (WATER BATTLE STREET) การแสดงดนตรีหลายประเภทและศิลปินรับเชิญระดับโลก
นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณา การประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power Forum) ซึ่งมีกำหนดจัดงานในเดือนมีนาคมหรือเมษายน 2567 ระยะเวลา 2 วัน ซึ่งกำหนดเป็น Quick Win 6 เดือน รูปแบบการจัดกิจกรรม ประกอบด้วย เวทีหลัก การกล่าว Key Note Speakers ด้านซอฟต์พาวเวอร์ เวทีเสวนา (Panel Discussion) 11 ห้อง เพื่อการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ 11 ด้าน การจัดนิทรรศการนำเสนอสาระที่น่าสนใจของซอฟต์พาวเวอร์และการจัดแสดงบูธ (Corporate Booth) ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศไทยเป็นเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ ให้เกิดกลไกการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม SOFT POWER สู่ระดับสากล ส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ Soft Power ด้วยองค์ความรู้ วิสัยทัศน์ของผู้นำทางความคิด และการขยายโอกาสทางธุรกิจสู่ระดับสากล รวมถึงสร้างการรับรู้ด้าน Soft Power เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากภาคประชาชน โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล สนับสนุน ส่งเสริม อุตสาหกรรม Soft Power เป้าหมาย 11 อุตสาหกรรม สมาคม สมาพันธ์ หรือหน่วยงานภาคเอกชน เครือข่ายพันธมิตร ในอุตสาหกรรม Soft Power ระดับนานาชาติ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุน จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึง Startup นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐฒนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อน ติดตาม และกำกับการดำเนินการตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานกรรมการ
การประชุมครั้งนี้มีคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ จำนวน 49 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม กรมประชาสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการศึกษา อุดมศึกษาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กรมการปกครอง กรมสรรพากร กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการพัฒนาชุมชน กรมศุลกากร กรมสารนิเทศ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คณะกรรมการการอาชีวศึกษา สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น
Comments