(35th Council Extraordinary Session: C/ES.35)
นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ผู้แทนถาวรของประเทศไทยประจำองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย พร้อมด้วย ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงคมนาคม และผู้แทนกรมเจ้าท่า ซึ่งประกอบไปด้วย นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านวิชาการ
ผู้ช่วยทูตด้านกิจการทางทะเล และเจ้าหน้าที่ของกลุ่มกิจการระหว่างประเทศของกรมเจ้าท่า เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสมัยวิสามัญขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ครั้งที่ 35 (35th Council Extraordinary Session: C/ES.35) ระหว่างวันที่ 10 - 11 มีนาคม 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล
การประชุมดังกล่าวมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญได้แก่ ผลกระทบต่อการขนส่งทางทะเลและคนประจำเรืออันเนื่องมาจากสถานการณ์ในทะเลดำและทะเลอาซอฟ (Impacts on shipping and seafarers of the situation in the Black Sea and the Sea of Azov) เนื่องจากสถานการณ์ในยูเครน ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบการจัดตั้งช่องทางทางทะเลที่ปลอดภัย (safe maritime corridor) เพื่ออพยพคนประจำเรือและเรือในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (high-risk and affected areas) ในทะเลดำและทะเลอาซอฟ โดยเลขาธิการ IMO จะดำเนินการร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งช่องทางอพยพดังกล่าว และแจ้งประเทศสมาชิกให้ทราบถึงพัฒนาการเป็นระยะ ที่ประชุมยังได้รับข้อเสนอขั้นตอนในการบรรเทาผลกระทบต่อคนประจำเรือ เช่น เรือควรได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากพื้นที่ในโอกาสแรก หากไม่สามารถเดินทางได้ทันทีเนื่องจากสถานการณ์ คนประจำเรือควรได้รับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม คนประจำเรือควรได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับครอบครัว เข้าถึงค่าแรง และได้รับการยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทางทหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในยูเครน
ประเทศไทยในฐานะสมาชิกคณะมนตรี ได้แสดงท่าทีในที่ประชุม โดยเน้นย้ำหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) อนุสัญญาองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO Convention) และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความเคารพต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้กำลังระหว่างรัฐ ประเทศไทยมีข้อห่วงกังวลร่วมกันกับเลขาธิการ IMO ต่อผลกระทบจากสถานการณ์ในยูเครนต่อการขนส่งทางทะเล เน้นย้ำความตั้งใจของไทยในการดำเนินการร่วมกับ IMO และประเทศสมาชิกเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการสร้างเสริมการขนส่งที่ปลอดภัย ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ ตามวัตถุประสงค์ของ IMO และความตระหนักถึงความสำคัญของคนประจำเรือในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานโลก ประเทศไทยจึงสนับสนุนการจัดตั้งช่องทางทางทะเลที่ปลอดภัยในทะเลดำและทะเลอาซอฟ ในฐานะประเทศผู้ร่วมอุปถัมภ์ (co – sponsor) และไทยยังเห็นว่าการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อเรือพาณิชย์และอพยพคนประจำเรือจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ IMO ในการส่งเสริมความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล โดยประเทศไทยพร้อมที่จะมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการหารือร่วมกับ IMO และประเทศสมาชิกเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการดำเนินการที่เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว
Comments