กอนช. เร่งวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อจัดทำแผนที่คาดการณ์ฝนปี 67 เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำตลอดปี ชี้ต้นปีฝนตกน้อยและมาช้ากว่าทุกปี/ครึ่งปีหลังฝนตกหนัก ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลให้เสียหายน้อยที่สุด สถานการณ์น้ำโขงเริ่มแห้ง สทนช. ประสาน MRCS บริหารจัดการระหว่างประเทศสมาชิก ย้ำทุกหน่วยทำงานเชิงรุกป้องกันภัยแล้งทุกพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ภาคใต้กลับสู่ภวะปกติเตรียมปิดศูนย์ภาคใต้ฯ พร้อมถอดบทเรียนสิ้นเดือนนี้
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยผลการกระชุมว่า วันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องสำคัญ ได้แก่ การจัดทำแผนที่คาดการณ์ปริมาณฝนตลอดปี 2567 (One Map) เพื่อใช้เป็นข้อมูลจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ ซึ่งจากการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยาร่วมกับ สสน. พบว่า ช่วง 6 เดือนแรก จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ และปีนี้ฝนจะมาล่าช้ากว่าทุกปี ขณะที่ช่วง 6 เดือนหลัง จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ และอาจมีพายุเกิดขึ้นบ่อยกว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การจัดทำแผนที่คาดการปริมาณฝนเพื่อบริหารจัดการน้ำตลอดปี 2567 จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบและสมดุลเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
สำหรับสถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 – 17 ม.ค. 67) ขณะนี้ปริมาณฝนภาพรวมน้อยกว่าค่าปกติ 67% แต่ยังควบคุมได้เนื่องจากยังเป็นค่าฝนในช่วงฤดูแล้งซึ่งฝนจะน้อยอยู่แล้ว ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขณะที่อยู่ที่ 59,687 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 72% ปริมาณน้ำใช้การ 35,475 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% ซึ่งเพียงพอต่อสำหรับความต้องการในช่วงฤดูแล้ง แต่ก็ยังประมาทไม่ได้เนื่องจากเรายังอยู่ในช่วงของสถานการณ์เอลนีโญ สทนช. จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด ซึ่งในขณะนี้พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศปริมาณน้ำรวม 16,010 ล้าน ลบ.ม. มีผลการจัดสรรน้ำอยู่ที่ 6,366 ล้าน ลบ.ม. (40%) ซึ่งเกินกว่าที่แผนจัดสรรน้ำกำหนดไว้ที่ 5,672 ล้าน ลบ.ม. (35%) สาเหตุจากปีนี้ข้าวมีราคาสูง เกษตรกรจึงมีการเพาะปลูกเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้ 5.80 ล้านไร่ ปัจจุบันมีผลการเพาะปลูกแล้ว 6.73 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งถึงแม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ยังควบคุมได้ แต่ก็ได้หารือกรมชลประทานเตรียมปรับแผนการจัดสรรน้ำเสนอ กนช. พิจารณาต่อไป สำหรับการเฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่และกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยทั่วประเทศ 99 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 25 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40 แห่ง ภาคตะวันตก 10 แห่ง ภาคตะวันออก 13 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง และมีอ่างขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเกินความจุ (100%) อยู่ 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำป่าพะยอม จ.พัทลุง
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์แม่น้ำโขงในช่วงนี้พบว่าระดับน้ำทุกสถานี มีค่าระดับน้ำต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยระยะยาว (ค.ศ.1961-2022) ทุกสถานี โดยระดับน้ำเริ่มลดลงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เนื่องจากมีปริมาณฝนที่ตกในภูมิภาคน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งผลการคาดการณ์ระดับน้ำของสถานีของประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลงอีก ในเรื่องนี้ สทนช. ได้มีหนังสือประสานสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Head of JC ) เพื่อให้ MRCS ในฐานะฝ่ายเลขาฯ ของประเทศสมาชิกดำเนินการหาแนวทางรับมือและรับมือกับเหตุการณ์ระดับน้ำที่จะเข้าสู่สภาวะวิกฤต พร้อมประสานงานกับประเทศสมาชิกในการเตรียมตัวรับมือสภาวะภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาสมดุลระดับน้ำแต่ละประเทศ รักษาระบบนิเวศน์ และเพื่อให้กระทบต่อประชาชนริมโขงให้น้อยที่สุด
“สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แม้ว่าจะยังพบว่ามีปริมาณฝนกระจายอยู่ในบางพื้นที่แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ และตามที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ช่วงปลายเดือน ม.ค. นี้ สทนช. ก็จะลงไปจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อถอดบทเรียนผลการดำเนินการจัดตั้งศูนย์และการบริหารจัดการสถานการณ์ เพื่อทราบปัญหาอุปสรรค และจุดอ่อนจุดแข็ง ในระหว่างการทำงาน และร่วมกันกำหนดแนวทางพัฒนาเพื่อใช้ในโอกาสต่อไป ก่อนจะปิดศูนย์ดังกล่าวลง” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย
Opmerkingen