เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประเทศ
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566ที่ผ่านมา นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดการพลังงานในองค์กร ด้วยระบบดิจิทัล (Digital Platform) ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายสมปอง ดำรงอ่องตระกูล รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารการรถไฟฯ คณะผู้บริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ หอประชุมราชรถสโมสร อาคารราชรถสโมสรห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงคมนาคม
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดการพลังงานในองค์กรด้วยระบบดิจิทัล (Digital Platform) ระหว่าง การรถไฟฯ กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการผลักดันการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการบริหารจัดการพลังงานในองค์กรด้วยระบบดิจิทัล นำเทคโนโลยีสมัยใหม่และดิจิทัลแพลทฟอร์ม มาปรับใช้ในการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาวะการใช้งานของการรถไฟ ฯ อันจะก่อให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และช่วยลดภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ ในระยะเริ่มต้น การรถไฟฯ จะใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และพื้นที่ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเป็นสถานีต้นแบบเพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) พร้อมกับมีการสำรวจ ออกแบบ กำหนดมาตรการประหยัดพลังงาน คุณสมบัติอุปกรณ์ การจัดหาอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้อย่างเหมาะสม เช่น ระบบติดตามผลการผลิตไฟฟ้า หรือ Monitoring System การอ่านค่าหน่วยการผลิตไฟฟ้าจากระบบ Solar Rooftop แบบ Realtime ซึ่งช่วยให้สามารถกำหนดเป้าหมายการใช้ปริมาณไฟฟ้าได้ ทำให้องค์กรลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ
“ประโยชน์ที่ได้รับจากความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยลดงบประมาณการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า และสามารถนำข้อมูลที่ได้มา วิจัยพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถขยายผลไปใช้ยังสถานีรถไฟอื่นๆ ทั่วประเทศได้ในอนาคต”
นายเอกรัชกล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของการรถไฟฯ ในการนำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้พัฒนาการบริหารจัดการพลังงานในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ หลังจากก่อนหน้านี้ได้นำรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ระบบ EV on Train มาทดลองเปิดใช้ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5 และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
Comments