top of page

การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2566 มีมูลค่า 22,791.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (795,824 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 4.7


เมือวันที่ 26 มกราคม 2567 นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนธันวาคม และทั้งปี 2566 พร้อมด้วย นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์


การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2566 มีมูลค่า 22,791.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (795,824 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 4.7 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 2.1 การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนแต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการชะลอลงของภาวะเงินเฟ้อสูง ซึ่งส่งผลดีต่ออุปสงค์และความเชื่อมั่นในการบริโภคของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานโลกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะต่อไป ทั้งนี้ การส่งออกไทยปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.0 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 0.6

มูลค่าการค้ารวมมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนธันวาคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 22,791.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 21,818.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.1 ดุลการค้า เกินดุล 972.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 284,561.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 289,754.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.8 ดุลการค้า ปี 2566 ขาดดุล 5,192.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนธันวาคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 795,824 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 770,822 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.3 ดุลการค้า เกินดุล 25,002 ล้านบาท ภาพรวมของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 9,809,008 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 10,111,934 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.3 ดุลการค้า ปี 2566 ขาดดุล 302,926 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.2 (YoY) กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน โดยสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 8.3 กลับมาหดตัวในรอบ 5 เดือน ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 27.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน สหรัฐฯ และเซเนกัล) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 13.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และตุรกี) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 8.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี มาเลเซีย และไต้หวัน) ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 0.9 กลับมาขยายตัวในรอบ 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดเนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 6.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดเมียนมา มาเลเซีย จีน สิงคโปร์ และสหรัฐฯ) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 10.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และไต้หวัน) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 43.2 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย ไต้หวัน และจีน) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 16.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ กัมพูชา และสหราชอาณาจักร) ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 19.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐฯ และกัมพูชา) กุ้งต้มสุกแช่เย็น ขยายตัวร้อยละ 127.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน และออสเตรเลีย) 

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 27.9 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 13.3 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล แต่ขยายตัวในตลาดแคนาดา ลิเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กัมพูชา และจีน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 51.2 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดไต้หวัน สหรัฐฯ เวียดนาม ลาว และบังกลาเทศ) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 40.8 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดอินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น และกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดเมียนมา เกาหลีใต้ จีน ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย) ทั้งนี้ ปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 0.7

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.0 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 4.3 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐฯ) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 2.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และออสเตรเลีย) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 3.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เกาหลีใต้ อินเดีย บราซิล และรัสเซีย) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 25.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเมียนมา) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 6.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยียม และญี่ปุ่น) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ขยายตัวร้อยละ 22.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม และอียิปต์) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เคมีภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 6.5 หดตัวต่อเนื่อง 20 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย กัมพูชา และลาว แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย เวียดนาม สหรัฐฯ มาเลเซีย และไต้หวัน) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 12.2 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย และอิตาลี) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 27.2 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดเบลเยียม สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และจีน แต่ขยายตัวในตลาดเนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสเปน) ทั้งนี้ ปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 1.0

ตลาดส่งออกสำคัญการส่งออกไปตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว ตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ทยอยปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามการส่งออกไปบางตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวของภาคการผลิต และความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 1.1 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 0.3 จีน ร้อยละ 2.0 และอาเซียน (5) ร้อยละ 18.0 ในขณะที่ตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (27) และ CLMV หดตัวร้อยละ 3.7 ร้อยละ 5.3 และร้อยละ 9.4 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 7.5 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 7.0 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 5.4 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 14.4  และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 50.4 ขณะที่หดตัวในตลาดตะวันออกกลาง ร้อยละ 5.4 แอฟริกา ร้อยละ 0.1 และสหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 22.8 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 355.2 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 567.6

ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 2.8 

ตลาดจีน กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 หดตัวร้อยละ 0.8 

ตลาดญี่ปุ่น กลับมาหดตัวร้อยละ 3.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 0.1

ตลาดสหภาพยุโรป (27) หดตัวร้อยละ 5.3 (หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 หดตัวร้อยละ 4.2 

ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 18.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบแผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.6

ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 9.4 (หดตัวต่อเนื่อง 14 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่ม เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ทองแดงและของทำด้วยทองแดง น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำตาลทราย เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 หดตัวร้อยละ 14.3 

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 7.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 หดตัวร้อยละ 6.8 

ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 5.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.3 

ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวร้อยละ 5.4 (หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ข้าว เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.6 

ตลาดแอฟริกา หดตัวร้อยละ 0.1 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ข้าว เคมีภัณฑ์ และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 4.7 

ตลาดลาตินอเมริกา กลับมาขยายตัวร้อยละ 14.4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.0 

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 50.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 47.3

ตลาดสหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 22.8 (หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และไก่แปรรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารสัตว์เลี้ยง และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 0.9

การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไปการส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนธันวาคม อาทิ (1) การประชุมร่วมภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อบริหารจัดการผลไม้แบบครบวงจร จัดประชุม “แนวทางมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2567” ระหว่างหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ร่วมหารือการบริหารจัดการผลไม้ล่วงหน้า ผ่านมาตรการเชิงรุก 6 ด้าน 25 แผนงาน โดยมีมาตรการส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในตลาดต่างประเทศ ได้แก่ การจัดมหกรรมการค้าชายแดนเพื่อส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้ไทยในประเทศเพื่อนบ้าน การจับคู่ธุรกิจ Business Matching มูลค่ารวมกว่า 650 ล้านบาท การส่งเสริมเมนูผลไม้ผ่านร้านอาหาร Thai Select ทั่วโลก ผลักดันการส่งเสริมการส่งออกผลไม้ผ่านการใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นต้น (2) เร่งขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจเชิงรุกในจีน ด้วยการทำงานเชิงรุกของพาณิชย์จังหวัด บูรณาการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 9 แห่งในจีน ร่วมกับเอกอัครราชทูตไทย และตัวแทนสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ เพื่อผลักดันการค้าและขยายการลงทุน ตามนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของนายกรัฐมนตรี (3) การบรรลุผลการเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา ซึ่งเป็นความสำเร็จในการเจรจา FTA ฉบับที่ 15 ของไทย โดยผลการเจรจาครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และคาดว่าจะลงนามความตกลงในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ต่อไป 

แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายการทำงานไว้ที่ขยายตัวร้อยละ 1.99 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่บรรเทาลง และการสิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลดีต่อปริมาณการค้าโลกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น อักทั้งยังมีแรงหนุนจากการสำรองสินค้าเกษตรและอาหารตามความมั่งคงทางอาหารและการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก อย่างไรก็ดีมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและต้นทุนสินค้า ผลกระทบจากภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก และเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกมากกว่า 400 กิจกรรมในประเทศต่าง ๆ ทั้งการบุกตลาดเมืองรอง และการขับเคลื่อนการเจรจา FTA ภายใต้ “นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ของรัฐบาล ซึ่งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อผลักดันการส่งออกไทยให้เติบโตเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page