top of page

‘กิ่งก้านใบ’สร้างสรรค์ผลงาน Bio Barrier ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ 2022 ชวนคนไทยอยู่ร่วมกับโควิด...


‘กิ่งก้านใบ’สร้างสรรค์ผลงาน Bio Barrier ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ 2022

ชวนคนไทยอยู่ร่วมกับโควิด...ดูแลกาย-ใจ-สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อธรรมชาติ

ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลงเอยแบบไหนและเมื่อไร เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week 2022 ปีนี้มาในธีม Co With Creation : คิด สร้าง ทางรอด โดยรวม 200 ผลงานสร้างสรรค์จากนักออกแบบชั้นเยี่ยมมาจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 5 - 13 กุมภาพันธ์ 2565 ในย่านศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้-เจริญกรุง-ตลาดน้อยเป็นย่านหลัก และอีก 4 ย่านในกรุงเทพฯ โดดเด่นด้วยผลงาน ไบโอ แบริเออร์ (Bio Barrier) โดยทีม กิ่งก้านใบ สะท้อนฉากทัศน์แห่งสภาวะจิตใจของคนไทย จากความหวาดกลัวและสิ้นหวังในวิกฤติโควิด ไปสู่การตระหนักรู้และค้นหาวิถีทางที่จะรอดพ้น และการอยู่ร่วมกับโควิดอย่างมีความสุข ทั้งกาย-ใจและสิ่งแวดล้อมด้วยอ้อมกอดทรงพลังของธรรมชาติ



ธวัชชัย ศักดิกุล หรือ บอย สถาปนิก ทีมกิ่ง ก้าน ใบ ซึ่งเคยคว้ารางวัลออกแบบสวนระดับโลก จากงาน RHS Chelsea Flower Show 2021 ในประเทศอังกฤษ และเจ้าของรางวัล 10 สวน สวยสไตล์โมเดิร์นจากบ้านและสวน ประจำปี 2564 เผยถึงแรงบันดาลใจว่า “กิ่งก้านใบ เข้ามามีส่วนร่วมแสดงผลงานสร้างสรรค์ Bio Barrier ในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week 2022 ซึ่งจัดโดย สนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ TCDC ในฐานะที่เราเป็นคนไทย ตลอดระยะ 3 ปี เราต่างเผชิญกับวิกฤติการล็อกดาวน์และหลายมาตรการสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้สร้างความอ่อนล้าทางเศรษฐกิจและกระทบต่อชีวิตผู้คนทุกวัยทุกระดับ ดังนั้นนอกจากมาตรการกระตุ้นด้านสาธารณสุขแล้ว การรวบรวมการใช้ความคิดสร้างสรรค์จะมีส่วนช่วยให้คนไทยและชาวโลกเดินหน้าและดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดในวิถีใหม่ได้อย่างมีความสุขและอุ่นใจ งานนี้นับเป็นเทศกาลงานออกแบบสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่ได้สะท้อนหลากแง่มุมหลายความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของกรุงเทพมหานคร ผ่านงานสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับของงานทดลองไปจนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและเพื่อสังคม ในโอกาสนี้ ขอเชิญคนไทยและนักท่องเที่ยวชมผลงาน Bio Barrier และอีกกว่า 200 ผลงาน โดยเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. การส่งเสริมนักสร้างสรรค์ให้ได้มีโอกาสคิดและทดลองเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ 2. การสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์และชุมชนในการสร้างรายได้ และ 3. การสร้างสีสันและชีวิตชีวาให้กับเมืองและผู้คนในย่าน เป็นการเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์และผู้มีความรู้ในสาขาต่างๆ ได้มาร่วมกันคิด ร่วมกันทดลองไอเดียในการอยู่ร่วมกับ โควิด-19 ให้ได้ พร้อมค้นหาโอกาสในการต่อยอดไปสู่การสร้างวิถีชีวิตใหม่ในงานนี่”



นิรัติศัย หุ่นหล่อ หรือ ก้อง หนุ่มดีไซเนอร์คนรุ่นใหม่ฝีมือจัดจ้าน ทีมกิ่งก้านใบ ผู้ออกแบบ เผยว่า “ผลงาน Bio Barrier มีแนวคิดคอนเซปท์ทีต้องการสื่อถึงสภาวะจิตใจของคนไทยที่เผชิญกับโควิด-19 และภัยพิบัติ เราต่างหวาดกลัว สิ้นหวัง และสับสน ค้นหาทุกวิถีทางที่จะรอดพ้น ด้วยการใช้ทุกอย่างที่เรามี หลายหลักการและแนวคิดเท่าที่จะเอื้อมหามาได้ หากมองย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นจะพบว่าธรรมชาติได้สรรค์สร้างทุกสิ่งอย่างสมดุล และธรรมชาติก็ย่อมเยียวยาทุกสรรพสิ่งได้เช่นเดียวกัน จนนำไปสู่ทางออก โดยเราได้ดีไซน์ Bio Barrier มีลักษณะเป็นวงกลม 3 วง ที่เชื่อมต่อกัน ซ้อนหักมุมเป็นพื้นต่างระดับกันจากวงที่ 1 ขึ้นไปวงที่ 2 และขึ้นไปวงที่ 3 โดยแต่ละวงจะค่อยๆคลี่คลาย แบ่งแต่ละช่วงด้วยทางเดินแต่ละวงกลม ทุกวงกลมจะตกแต่งผนังด้วยผ้า ในวงกลมที่ 1 จะพบกับทางเข้าที่แคบ เมื่อเดินเข้าไปจะรู้สึกถึงความสับสน อึดอัด หวาดผวา ตกอยู่ในวังวน ยากที่จะหาทางออก ด้วยการตกแต่งโทนสีหม่น พร้อมกับต้นไม้ที่เหี่ยวแห้ง ไร้สีสัน สื่อถึงความหมดหวัง ทางเดินที่ขรุขระ การฟุ้งกระจายของลวดลายบนพื้นทางเดิน ความสับสนและว้าวุ่นท่ามกลางความมืดมิด คับแคบ สื่อถึงสถานการณ์ที่ผู้คนต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดและเศรษฐกิจ ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อใด เมื่อเดินลึกเข้าไปจะเจอกับ วงกลมที่ 2 จุดที่เริ่มมีหนทางจากการเรียนรู้ ร่วมมือ พัฒนาและแก้ไขปัญหา ผนังที่ตกแต่งด้วยผ้าสีเทาอ่อน ต้นไม้เริ่มมีสีสันงาม เริ่มพบเจอแสงสว่างของทางรอด



เบญจมาศ ถือมาลา หรือ เมย์ สาวดีไซเนอร์ เจน-Y รุ่นใหม่ไฟแรงผู้ร่วมออกแบบ กล่าวเสริมว่า “เมื่อเดินต่อไปด้านในสุด จะพบกับวงกลมที่ 3 ก้าวพ้นจากความหม่นหมองเข้าสู่อ้อมกอดของธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย...สื่อถึงการมีธรรมชาติเป็นเกราะป้องกันทั้งทางสุขภาพกาย จิตใจและสิ่งแวดล้อม ผนังตกแต่งด้วยผ้าโทนสีขาวสะอาด ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัยจากภัยพิบัติ เปรียบเหมือนแสงแห่งความหวังที่ฉายส่องมายังความมืดมิดอันดิ่งลึก และทางออกเพียงทางเดียวคือการยืนหยัดเพื่อความอยู่รอด พื้นทางเดินอันราบเรียบ ต้นไม้สะพรั่งนานาพันธุ์ บอกถึงการเปลี่ยนผ่านจากความหยาบแห้ง สู่ความมีชีวิตชีวา งอกงามและผลิบาน โอบอุ้มด้วยพลังของธรรมชาติ ดึงดูดให้ก้าวย่างสู่วงล้อมของชีวิตและการอยู่รอดอย่างยั่งยืน ความเคลื่อนไหวของสายน้ำในบ่อ ผนังผ้าที่พลิ้วไหว ให้ความรู้สึกถึงพลัง มีเนินหญ้าที่สามารถนั่งพักผ่อนได้ และบรรเลงด้วยเพลงที่เข้าถึงภวังค์ ความสงบ หนักแน่น โปร่งสบายด้วยสายลมเย็นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดั่งปลายทางของภัยพิบัติอันมืดมิดยังมีแสงสว่างจากการปลอบประโลมของธรรมชาติ ตราบเท่าที่มนุษย์มุ่งมั่นรักษา ฟื้นฟูและต่อยอดจากธรรมชาติอย่างชาญฉลาด




สัมผัสประสบการณ์การข้ามผ่านความสิ้นหวังสู่การอยู่รอด ในงาน Bangkok Design Week 2022 เข้าชมฟรีตั้งแต่วันนี้ ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2565 (เวลา 11.00 -21.00 น.) แวะชมผลงาน Bio Barrier จัดแสดงบริเวณหน้าศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ ใกล้ท่าเรือสี่พระยา ผู้มางานสามารถเดินชมหลายพื้นที่ต่อเนื่อง แชะภาพ ชิม เที่ยวย่านตลาดน้อย เจริญกรุง ซึ่งเต็มไปด้วยของอร่อย คาเฟ่สุดชิค และสเน่ห์ของวิถีชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ริมฝั่งเจ้าพระยาที่ได้กลายเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ในวันนี้อีกด้วย


พื้นที่จัดแสดงใน 5 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประกอบด้วย ย่านริเวอร์ซิตี้-เจริญกรุง-ตลาดน้อย, สามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์, ทองหล่อ-เอกมัย, พระนคร และพื้นที่อื่น ๆ แผนที่จัดแสดงตามลิ้งค์นี้ https://linktr.ee/BKKDW



Komentáře


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page