top of page

"กุ้ยโจว" คว้ารางวัลสะพานระดับโลกอีกครั้ง ตอกย้ำสมญานาม"พิพิธภัณฑ์สะพาน" โลก!

ต่างประเทศ

"รางวัลโครงสร้างพื้นฐานยอดเยี่ยม ได้แก่ โครงการสะพานผิงถัง (Pingtang Bridge) มณฑลกุ้ยโจว" พิธีกรประกาศในพิธีมอบรางวัลสิ่งก่อสร้างดีเด่น ประจำปี 2565 (Outstanding Structure Award 2022) ซึ่งจัดโดยสมาคมสะพานและวิศวกรรมโครงสร้างนานาชาติ (IABSE) ในวินาทีนั้น คุณหยาง เจียน (Yang Jian) หัวหน้าวิศวกรของบริษัท กุ้ยโจว ทรานสปอร์ตเทชัน แพลนนิง เซอร์เวย์ แอนด์ ดีไซน์ อคาเดมี จำกัด (Guizhou Transportation Planning Survey & Design Academy Co., Ltd) ไม่อาจเก็บความตื่นเต้นเอาไว้ได้ และแสดงความดีใจอย่างมากบนเวทีประกาศรางวัล


ความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สะพานผิงถังในมณฑลกุ้ยโจวได้รับรางวัลอันทรงเกียรติระดับนานาชาติ เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้รับรางวัลสะพานระดับโลกมาแล้วหลายรางวัล หนึ่งในนั้นคือรางวัลเหรียญกุสตาฟ ลินเดนธัล (Gustav Lindenthal Medal) ซึ่งเปรียบเสมือน "รางวัลโนเบล" ในแวดวงวิศวกรรมศาสตร์ และเนื่องจากสะพานต่าง ๆ ในมณฑลกุ้ยโจวมักได้รับรางวัลจากเวทีระดับนานาชาติ กรรมการถึงกับอุทานระหว่างการประเมินว่า "สะพานกุ้ยโจวมาอีกแล้ว เตรียมคว้ารางวัลได้เลย"

ใครจะคิดว่ามณฑลกุ้ยโจวที่คว้ารางวัลสะพานมาแล้วมากมายนั้น เคยล้าหลังกว่าประเทศอื่น ๆ ในการสร้างสะพาน ความยากลำบากในการคมนาคมขนส่งเป็นคอขวดที่จำกัดการพัฒนาของกุ้ยโจวมาช้านาน กุ้ยโจวเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน แต่กลับไม่ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการจราจรที่ไม่เพียงพอ ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นต้องประสบกับความยากลำบาก หลายทศวรรษที่ผ่านมา กุ้ยโจวเริ่มเรียนรู้การสร้างสะพานและพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากโครงการสะพานที่ล้ำสมัยของต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและเยอรมนี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภูมิประเทศแบบคาร์สต์ (Karst) ที่มีความพิเศษ และพื้นที่มากกว่า 90% ถูกปกคลุมด้วยภูเขาและเนินเขา จึงไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้มากนักจากโครงการอื่น ๆ

"ตั้งแต่จำความได้ พ่อของผมแทบไม่เคยอยู่บ้าน แม่บอกว่าพ่อไปช่วยสร้างสะพานและถนนตามที่ต่าง ๆ ที่การคมนาคมย่ำแย่ ผมเกิดความรู้สึกรักสะพานแบบอธิบายไม่ถูกตั้งแต่ยังเล็ก และรู้เรื่องการสร้างสะพานมากกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน ความหลงใหลในสะพานหยั่งรากลึกในใจของผม และผมเลือกเรียนวิศวกรรมสะพานเป็นวิชาเอกเพื่อสานฝันของตัวเอง" คุณหลิว ห่าว (Liu Hao) วิศวกรของโครงการสะพานหัวเจียง (Huajiang Bridge) จากบริษัท กุ้ยโจว บริดจ์ คอนสตรักชัน กรุ๊ป (Guizhou Bridge Construction Group) กล่าว

ปัจจุบัน มณฑลกุ้ยโจวสร้างสะพานเกือบ 30,000 แห่ง ซึ่งรวมถึงสะพานที่กำลังก่อสร้าง และสะพานทางด่วนอีกกว่า 2,000 แห่งที่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ กุ้ยโจวมีทั้งสะพานแขวน สะพานขึง สะพานโค้ง และสะพานคาน ซึ่งครอบคลุมสะพานเกือบทุกประเภทในโลก อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสุดยอดสะพานขนาดใหญ่ 5 แห่งจากทั้งหมด 10 แห่งทั่วโลกที่ข้ามภูเขาและหุบเขา กุ้ยโจวจึงได้รับการขนานนามว่า "พิพิธภัณฑ์สะพาน"

ขณะเดียวกัน แนวคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รวมอยู่ในการออกแบบและเทคนิคการก่อสร้างสะพาน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้กุ้ยโจวได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ยกตัวอย่างโครงการสะพานหัวอวี้ตง (Huayudong Bridge) ซึ่งทีมงานของคุณหยาง เจียน ได้เสนอวิธีการรื้อสะพานเก่าที่ไม่เพียงหลีกเลี่ยงมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมและความเสียหายทางระบบนิเวศที่เกิดจากการระเบิดสะพานเท่านั้น แต่ยังมีการรีไซเคิลสะพานเก่าอีกด้วย และสะพานที่สร้างใหม่ได้กลายเป็นสะพาน "ทรงหูหิ้วตะกร้า" แห่งแรกของกุ้ยโจว

นอกจากนี้ กุ้ยโจวยังได้นำเทคโนโลยีและการออกแบบสะพานไปใช้กับมณฑลอื่น ๆ และต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กุ้ยโจวได้เสร็จสิ้นโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเหลืองในมณฑลเหอหนาน และคาดว่าจะก่อสร้างโครงการใหญ่ในประเทศมองโกเลียและจอร์เจีย

คุณหยาง เจียน กล่าวว่า "ทุกครั้งที่ผมเห็นสะพานของเรา ผมรู้สึกดีใจเหมือนได้เห็นลูกของตัวเอง" ปัจจุบัน สะพานกุ้ยโจวได้กลายเป็นต้นแบบของการสร้างสะพาน ซึ่งเป็นการตอกย้ำบทบาทของกุ้ยโจวในฐานะศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่ขาดไม่ได้ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ นอกจากนั้นยัง ช่วยให้กุ้ยโจวก้าวสู่สากลตามข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) รวมทั้งส่งเสริมแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในยุคใหม่ และแนวคิดที่ว่า "การสร้างถนนหนทางเป็นก้าวแรกสู่ความเจริญรุ่งเรือง"

コメント


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page