คอลัมน์พิเศษ : Monday Talk โดย พิจิตรา

ดูผลการสำรวจความนิยมพรรคการเมือง ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยเอกชนที่มีความนิยมอันดับ1(Top Universities in Thailand | 2023 University Ranking | uniRank (4icu.org) สำรวจเมื่อเร็วๆนี้พบว่าคะแนนนิยมพรรคก้าวไกลพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัย ขณะพรรคเพื่อไทยคะแนนนิยมลดต่ำลงกว่าทุกพรรค โดยพรรคก้าวไกล คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.39
พรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 62.24
คะแนนนิยมลดลงของพรรคเพื่อไทยร้อยละ 51.32 ไหลไปที่พรรคก้าวไกล ขณะที่ร้อยละ 10.92 ไหลไปหาพรรคอื่น ๆแสดงให้เห็นว่าเพื่อไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติศรัทธาครั้งใหญ่ (ดูตาราง)

เป็นสัญญาณไม่สู้ดีนักของพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นสถานการณ์ที่ความนิยมลดลงมากที่สุดในรอบหลายปี!!!
เครื่องมือที่เหลืออยู่ และเป็นโอกาสสุดท้าย ที่จะช่วยพรรคเพื่อไทยกู้คืนความนิยมกลับมา คือสร้างโอกาสจากการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลรอบใหม่ เพื่อสร้างผลงานให้เข้าตาชาวบ้านดึงความเชื่อมั่นกลับมา
1.เร่งเดินหน้านโยบาย ที่หาเสียงไว้กับประชาชน อาทิ
-ลดค่าพลังงาน ทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน
-พักหนี้เกษตรกร-เอสเอ็มอี
-ใส่เงินเติมกำลังซื้อ ด้วยดิจิตอลวอลเลต10,000 บาท
-สร้างศักยภาพต่อยอดอาชีพ 1ครอบครัว 1 ซอฟเพาเวอร์
-เติมเงินครอบครัวไทยมีรายได้ต่ำกว่า 25,000 บาท/เดือน
-เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท
-ค่าแรง 600 บาท/วัน
-สร้างค่าจากที่ดิน แจกโฉนด 50 ล้านไร่
ฯลฯ
2.จัดบุคคลที่เหมาะสม ความสามรถตรงกับงาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายข้างต้นให้บรรลุความสำเร็จ
ถือเป็น 2 ข้อหลักที่พรรคเพื่อไทย จะต้องแสวงหาโอกาส เพื่อดึงคืนความนิยมกลับมา ในระยะเวลาที่เหลือก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมาถึง
อย่างไรก็ตาม จากโผครม.เบื้องต้นที่ทางเพจกรรมกรข่าวคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ตามด้วยรายชื่อที่สื่อมวลชนได้จากการแถลงข่าวของท่าน นายก ฯ พบว่า ค่อนข้างลงตัว และปรับไปมาจนงง ของ หลายรายชื่อ ของ พรรคเพื่อไทย ในขณะที่พรรคร่วมค่อนข้างนิ่ง
รายชื่อที่ปรากฏ แสดงให้เห็นถึง
ความผิดพลาดในเชิงยุทธศาสตร์ 3 ข้อ ของเพื่อไทย
1.พท ปล่อยกระทรวงที่น่าจะสร้างผลงาน ไปฝากไว้กับพรรคร่วมฯ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตร กระทรวงศึกษา พลังงาน อุตสาหกรรม และ อุดมศึกษา เป็นต้น
2.วางตัวบุคคล ไม่ตรงงาน ไม่ตรงปก ตามความสามารถที่เหมาะกับภาระกิจ หรือ ผิดฝาผิดตัว
3.ไม่ดึงข้อดีในพรรคที่มี เพื่อสร้างคุณค่า เรียกคะแนนนิยมกลับมา
ผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์ ข้อ1 ปล่อยกระทรวงยุทธศาสตร์สำคัญ อาทิ กระทรวงมหาดไทย ที่เสมือนกระทรวงย่อยๆในภูมิภาคถึง 77 กระทรวงย่อย เมื่อมอบอำนาจผู้ว่าเป็นผู้ว่าซีอีโอ ซึ่งเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต เพราะธรรมชาติข้าราชการในภูมิภาค ถ้าผู้ว่าขยับองคาพยพต่างๆ ขยับตามหมด นายกรัฐมนตรีจะเก่งแค่ไหน แต่ ถ้าเรื่องเฉพาะพื้นที่ ไม่มีใครรู้ดีเท่าผู้ว่าฯ ยกเว้นแต่ผู้ว่าฯ คนนั้นไม่ใส่ใจ เหมือนสารวัตรใหญ่ในอดีต มีหรือจะไม่รู้ว่าซอกซอยไหนเปิดบ่อนบ้าง ที่สำคัญเพื่อไทยพึงตระหนักว่าเวลานี้กำลังเผชิญกับวิกฤติศรัทธาอย่างหนัก จากการแยกตัวจากพันธมิตรกับ ก้าวไกล
ขณะที่การเลือกตั้งใหญ่รอบหน้าก็ใช่จะยาวนาน ยิ่งเลือกตั้งนายกอบจ.ใน70กว่าจังหวัดในอีก 1 ปีเศษ และนายกเทศมนตรีในเวลาไล่เลี่ย
กระทรวงมหาดไทยยังรวมภารกิจการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนพื้นบ้าน ทั้งโอท็อปต่างๆ ที่กรมพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนมาต่อเนื่อง หลังมีนโยบายมาตั้งแต่ปี2545 ที่สร้างยอดขาย 1.57หมื่นล้านบาท ได้สร้างรายได้เพิ่มเป็น 1.53 แสนล้านบาทในปี2560 และ2.4แสนล้านในปี2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี เสมือนโครงการติดลมบนแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่เป็นงานที่สร้างรายได้ในระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างดี ซึ่งหากยกระดับการพัฒนาโอท็อปขึ้นไปสู่ระดับอีกขั้นหนึ่ง โดยพรรคการเมืองและบุคลากรที่เข้าใจปรัชญานี้มาตั้งแต่ต้น ตัวเลขรายได้โอท็อปจะไม่ได้อยู่แค่ 2.4 แสนล้านบาท แต่อาจทะลุ 5 แสนล้านในอีกไม่นาน และเมื่อเชื่อมโยงเป็นโอท็อป โกอินเตอร์ ที่มีกระทรวงพาณิชย์เป็นด่านหน้าจะยิ่งเพิ่มพลังบวก
ดังนั้น หากผนวกการส่งเสริมร่วมกับเรื่องซอฟเพาเวอร์ โดยกระทรวงวัฒนธรรม การสร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โดยกระทรวงท่องเที่ยว ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น???
ดังนั้น ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการทองเที่ยว และกระทรวงพาณิชย์ เป็นกระทรวงเชิงยุทธศาสตร์ที่พรรคเพื่อไทย ควรกำกับดูแลเอง
เพราะเวลานี้ การหวังพึ่งนำเข้า-ส่งออกในสถานการณ์โลกที่แปรผัน การสร้างรายได้จากภายในประเทศให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อจีดีพี เป็นสิ่งที่ควรทำคู่ขนาน เสมือนประเทศมีตะกร้าหลายใบ ถ้าทำได้ เพียงเป็นงานฝากพรรคร่วม ก็ไม่ต่างจากเพลงตั๊กแตน-ชลดา “ไม่ใช่แฟนทำแทนบ่ได้”
ส่วนข้ออ้างที่ว่า ธรรมชาติของรัฐบาลผสมหลายพรรค จึงไม่มีทางที่เพื่อไทย จะกำกับดูแลกระทรวงต่างๆ ได้ทั้งหมด ซึ่งต้องเฉลี่ยให้พรรคร่วม การอ้างแบบนี้ก็ไม่ผิด แต่ต้องคำนึงอะไรคือยุทธศาสตร์ หลัก อะไร คือยุทธศาสตร์รอง ที่สามารถเกลี่ยกันได้ หรือหากจะถือโอกาสปรับครม.ในอีก 6 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้า หลังดูผลการทำงานผ่านไป ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลชุดนี้ต้นทุนต่ำมาก เป็นผลจากการรวมทุกขั้วแทนการแยกขั้ว ซึ่งเป็นที่มาที่เกิดวิกฤติศรัทธา ดังนั้นจึงไม่มีเวลาอวดท่าลิเกโชว์แม่ยก ทำได้เพียงก้าวขึ้นเวทีแล้วต้องชกทันที เวลาจึงมีความหมายทุกหยด
ผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์ ข้อ 2 วางบุคคลไม่ตรงงาน โดยหากพิจารณาจากโผที่เพจคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการข่าวรายงาน ปรากฏชื่อ มีคำถามว่า
1.ทำไมนายกรัฐมนตรี ต้องนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตั้งข้าราชการเกษียณมานั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง(อดีตปลัดกระทรวงการคลัง)นี้เท่ากับรมว.คลังเงาหรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีที่ต้องดูแลกว่า 20 กระทรวง คงไม่มีเวลาลงรายละเอียดมากนัก ถ้าต้องเจอคำตอบ “ไม่ได้-ไม่มี-เป็นไปไม่ได้”บ่อยๆ เข้า ระวังงานไม่เดิน เพราะหลักคิดคนที่มาจากข้าราชการประจำจะปลอดภัยไว้ก่อน ตามหลัก “ไม่ทำอะไร ไม่ผิด” ดูจาก8-9ปีที่ผ่านมา ที่จริงควรให้ คนของพรรคขึ้นเป็น รมว เต็มตัว เพื่อ กำกับทิศทางทำงานให้ รัฐบาล โดยเพาะด้านนโยบายการคลัง หนีสาธารณะ และ การกับสถาบันการเงินเพาะกิจ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการชี้นำโดยฝ่ายการเมือง ที่ต้องรับผิดชองต่อประชาชน
ทั้งที่ ควรดึงคนมีความรู้ความสามารถในพรรคจะเป็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่มีประสบการณ์ หรือ ดร.กิตติ ลิ่มสกุล นักเศรษฐศาสตร์ชั้นครูที่มีองค์ความรู้เศรษฐกิจมหภาคอย่างดี หรือ ดร.เผ่าภูมิ ที่ทำนโยบายสำคัญของพรรคอย่างดิจิตอลวอลเลตมาตลอด และอดีตลูกหม้อกระทรวงนี้มาก่อน
2.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีชื่อนางพวงเพ็ชร ชุณละเอียด ประธานภาคกทม. มีคำถามว่า มีความเชี่ยวชาญด้านใด และเข้าไปในโควตา กทม. ทั้งที่มีสส.เพียง 1 คน ขณะภาคอีสาน มีสส.เป็นอันดับ1 กว่า 70-80 ที่นั่ง หารสูตรไหน จึงได้เพียง 4-5ที่นั่ง ทั้งที่ภาคอีสานคือพื้นที่ยุทธศาสตร์ ที่พึงให้น้ำหนักในการเรียกคะแนนกลับเป็นพื้นที่แรก และไล่เรียงให้ครบทั้ง 4 ภาคตามลำดับ การไม่สนใจคนในบ้านก่อน แต่ไปสนใจคนข้างบ้านที่สวยกว่า สดกว่า ระวังคนในบ้านเกิดอาการน้อยใจเสียก่อน ดังนั้น การจัดสมดุลจึงเป็นเรื่องจำเป็นเวลานี้สำหรับพรรคเพื่อไทย
ผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์ข้อ3.ไม่ดึงข้อดีในพรรคที่มีสร้างคุณค่า และผลงานอย่างเต็มที่ เพื่อดึงคะแนนนิยมกลับมา ต้องยอมรับว่า เพื่อไทยเวลานี้ กำลังเผชิญกับวิกฤติศรัทธาครั้งใหญ่ สิ่งที่ทำได้ทันทีคือ เปิดเวที ดึงคนมีฝีมือในพรรค และมี ASSETS พิเศษ
เช่น อุ๊งอิ๊งค์-นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ปรึกษาพรรคด้านนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม ควรดึงเธอมาดันงานด้านซอฟเพาเวอร์ ของกระทรวงวัฒนธรรม แต่รายชื่อสุดท้ายก็ไม่รายนาม ดังกล่าวแล้ว ทำให้ รัฐบาลขาดพลังทางด้าน วัฒนธรรม (soft-power)
ซ้ำร้าย “สุทิน คลังแสง” ที่ควรจะได้ดู การศึกษาเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ อาจต้องไปดู กระทรวงกลาโหม มันคือ หนังคนละม้วนกับ สิ่งที่ สุทิน มีศักยภาพ
หรือ ภูมิธรรม เวชชยชัย ที่มักพูดเรื่องหลักการบริหารราชการในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพ คนทั่วไปหวังจากท่านให้ดูเรื่องความมั่นคงภายในและการบริหารราชการ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการวางแผนการกระจายความเจริญ สู่ภูมิภาค และท้องถิ่น แต่วันนี้ไปดู กระทรวงพาณิชย์ การเจรจาพหุภาคี การป้องกันการทุ่มตลาด จากสินค้าต่างประเทศ และทรัพย์สินปัญญา ฯลฯ มันน่าจะเป็นหนังคนละม้วน
ดร.กิตติ ลิ่มสกุล รองหัวหน้าพรรค อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีคลัง สมัย สุชาติ เชาว์วิสิฐ เป็น ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง และการ พยากรณ์ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก น่าขะช่วยรัฐบาลได้ ในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจมหภาค (ผลิตภาพการผลิต เกษตร/อุตสาหกรรม/บริการ การบริโภค การลงทุน การส่งออกสุทธิ การจ้างาน และเงินเฟ้อ ฯลฯ ) โดยใช้เครื่องมือทางการเงิน-การคลัง
FC เพื่อไทย และผู้ประกอบการอยากจะเห็นพรรคส่งใครสักคน เป็น รองนายกรัฐมนตรี เช่นสมัยนายกทักษิณ กำกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ดูแลการดำเนินนโยบาย และ เป็นผู้ช่วยประเมิน ผลกระทบ (outcome and impact) ของการ ดำเนินการนโยบาย ทั้งด้านอุปสงค์-อุปทาน โดยเฉพาะ ดิจิทัลวอลเลต ฯลฯ เสนอ นายกรัฐมนตรี ต่อไป แต่เราไม่พบร่องรอยดังกล่าว แม้ จะมีการควบตำแหน่ง โดย รัฐมนตรี ต่างประเทศ และ รองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ
"แต่จะมีเวลาทำงานหรือไม่ในเมื่อต้องเดินสาย ต่างประเทศ อันนี้ น่าห่วงอย่างยิ่ง เพราะ รองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ ต้อง สามารถประสานหน่วยราชการ เช่น สภาพัฒนา ฯ สำนักงานส่งเสริมการลงทุนฯ สำนักงบประมาณ ฯลฯ จะแบ่งเวลาอย่างไรหรือ ? ..."
หรือ ดร.เผ่าภูมิ พูดเรื่อง ดิจิตอลวอลเลต คนก็อยากฟัง และซักถาม มากกว่าหลายคนพูด ได้คำตอบในเชิงวิทยาศาสตร์ชัดเจน ว่า จะบริหารจัดการ ดิจิทัลวอลเลต อย่างไร?? แต่ก็ไม่เห็นว่า ดร.หนุ่มคนนี้มีตำแหน่งแห่งใด หรือ จะให้เป็นเพียง คนทำงาน หลังบ้าน มีคนเก่งต้องให้แสดงไม่ใช่นำไปเก็บหลังม่าน!!!มันผิดหลักลิเกไทย
หรือ อุ๊งอิ๊งค์ จะไม่ได้มีชื่อในตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ทุกครั้งที่เธอ พูดเรื่อง 1 ครอบครัว 1 ซอฟเพาเวอร์ หรือOFOS แม้แต่ป้าเช็ง วัย 70-80 ยังอยากฟังตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความสนใจ วัยนี้ ยังเข้าถึง และวัยน้อยๆ อย่างเธอทำไมจะเข้าไม่ถึง นี้ต่างหากคือแม่เหล็ก แต่ทำไมเพื่อไทยไม่นำมาใช้งาน!!!ศักยภาพอย่างเธอพรรคก็ดูได้ กระทรวงก็ไม่บกพร่อง ซึ่งจะช่วยสร้างผลงานด้านนี้ให้รัฐบาล ที่พูดไม่ได้หมายถึงบุคคลตามรายชื่อไม่มีศักยภาพ แต่พลังและสันตอบรับมันผิดกัน
เพราะสิ่งที่เธอมี และคนอื่นไม่มี คือ แววตาที่ทรงพลัง สีหน้าที่เปล่งประกายความสดไส และคำพูดที่ตรงไปตรงมา โกรธก็แสดง สนุกเธอก็หัวเราะ ไม่คิดจะเสแสร้าแกล้งทำ นี้ต่างหากคือพลังจากธรรมชาติ!!!
คะแนนนิยมที่ครั้งหนึ่งเธอเคยรั้งอันดับ 1 นายกรัฐมนตรีในฝันของคนไทย ไม่ใช่บังเอิญ แต่เกิดจากที่ชาวบ้านเขาตัดสินใจเอง ไม่มีใครไปบังคับ
ทั้งหมดทั้งมวล มันผิดเพี้ยนไปหมด เพื่อไทย ไม่สามารถดึง ศักยภาพบุคลากร ภายในพรรคออกมารับใช้ประเทศ ในยามพรรคเผชิญกับวิกฤติศรัทธา!!!
อย่ารอให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาทวงหลายๆ นโยบาย เพราะอะไรจึงไม่ทำ ในเมื่อเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งเพื่อไทยไม่มีสิทธิตอบเหมือนบางพรรคที่เคยเป็นแกนนำรัฐบาลมาก่อนแต่ไม่ทำอย่างที่พูด เนื่องจากผลงานในอดีตเป็นดัชนีค้ำคอความเชื่อมั่นว่า “พรรคนี้พูดแล้วทำจนบังเกิดผล” หรือว่าครั้งนี้ จะเป็นมวยล้มคนดู
ยามนี้ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อย่ายอมถูกครอบงำ ขอให้มีความอดทนและ พยายาม ออกแบบ นโยบาย การบริหารราชการในภูมิภาค ความมั่นคง และการบริหารการคลัง-หนี้สาธารณะของประเทศอย่างเข้าใจ
กล้าที่จะร้อง เอ๊ะ!! มากกว่าคำว่า ครับๆ !!
รายชื่อบุคคลบางรายที่เสนอจากพรรคร่วม แม้แต่สมัยรัฐบาลที่มีทหารเป็นกัปตันเรือ ยังรับไม่ได้จนต้องส่งน้องสาวมาเป็นแทน
ผู้นำคนใหม่ อย่าเกรงใจคนกดปุ่มหุ่นยนต์ยี้ห้อไทยแต่ราคาแสนแพงที่ลงคะแนนให้จนเกินไป แต่บุคคลที่ควรเกรงใจมากที่สุด คือ ประชาชนต่างหาก! #ความกลัวทำให้เสื่อม
ลึกๆ ที่แฟนๆไม่พูด และนิ่ง เพราะอยากให้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่อย่าเอาโอกาสที่ประชาชนเขามอบ นำไปให้คนอื่นมาตัดสินใจแทน ถึงวันนั้น มันอาจกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่สุดจะทน!
ด้วยจิตคารวะ
พิจิตรา
ผู้เขียนหนังสือ คิดอย่างทักษิณ ชินวัตร
Comments