สู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
วันที่ 25 ตุลาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 - 2570 เพื่อยกระดับขีดความสามารถรัฐวิสาหกิจไทยมุ่งสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเป็นกำหนดทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง (ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 52 แห่ง) ให้เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทั้ง 13 หมุดหมาย ซึ่งรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะมีส่วนในการดำเนินการตามหมุดหมายที่แตกต่างกันตามบทบาทและภารกิจขององค์กร ได้แก่ (1) โครงสร้างพื้นฐาน (2) บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน (3) กิจการที่ไม่มีเอกชนดำเนินการได้อย่างเพียงพอ (4) กิจการที่รัฐต้องควบคุม และ (5) ภารกิจเชิงส่งเสริม ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจ (รายสาขา) เป็นการพิจารณาจากบทบาทและกรอบภารกิจของรัฐวิสากิจ จำนวน 9 สาขา ประกอบด้วย (1) สาขาขนส่ง การบริหารจัดการโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นการขนส่งทางราง (2) สาขาพลังงาน สนับสนุนการจัดหาพลังงานแหล่งใหม่และการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (3) สาขาสาธารณูปการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและน้ำเสีย (4) สาขาสถาบันการเงิน สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนอย่างทั่วถึงควบคู่ไปกับความรู้ทางการเงิน (5) สาขาสื่อสาร สนับสนุนการพัฒนาและยกระดับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ (6) สาขาเกษตร เสริมสร้างศักยภาพทางด้านการผลิตและตลาดสินค้า (7) สาขาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ชุมชนและประชาชน (8) สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม บริหารจัดการจัดการองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย (9) สาขาสังคมและเทคโนโลยีส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ร่างแผนพัฒนา ฯ จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐวิสาหกิจทั้ง 52 แห่ง และประชาชน โดยวิสาหกิจจะมีการบูรณาการระหว่างกันมากขึ้น ทั้งในการวางแผนและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทำให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน โดยสามารถเห็นได้ถึงภาพรวมการลงทุนและช่วยให้การบริหารจัดการโครงการลงทุนต่างๆเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับสินค้าบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
Comments