
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ขณะนั้น.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “BCG : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ภายในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปี 2562 (TEA Annual Forum 2019)
จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจของปี 2563 และวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทย ท่ามกลางกระแสโลกที่ผันผวน ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ธุรกิจได้วางแผนรับมือในปีหน้า ภายใต้หัวข้อ“ธุรกิจไทย...รับมืออย่างไรกับเมกะเทรนด์ที่ถามโถม” (Thai Businesses Amidst Mega Trends: Risk and Opportunities)
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า โลกในปัจจุบันแตกต่างจากเดิมเป็นอย่างมากเป็นยุคที่คนต้องประสบกับโอกาส ภัยคุกคาม และการพัฒนาขีดความสามารถ โดยกระทรวงการอุดมการณ์ศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีหน้าที่สร้างคนให้สามารถอยู่ได้ในยุคปัจจุบันและอนาคตที่กำลังจะมาถึงหรือศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. บัณฑิตที่มีคุณภาพสำหรับงานในอนาคต 2. แรงงานหรือวัยทำงาน และ 3.คนสูงวัย ซึ่งภารกิจของ อว. จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับคนทุกกลุ่มของประเทศถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การที่คนจะปรับตัวให้สามารถอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันที (Disruption) คนในประเทศจะต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆ โดยอาศัยพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องมีโมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ นอกจากจะเน้นความทันสมัยแล้วจะต้องมีความยั่งยืนด้วย ทั้งนี้ “BCG : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” B คือ Bio economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ C คือ Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G คือ Green economy เศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้หลักคิดที่สำคัญ ได้แก่ สร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน