"สินค้าถูกจัดส่งจากต่างประเทศมายังเมืองกุ้ยกังและผ่านพิธีการศุลกากรภายในเวลาเพียง 8 วัน เร็วกว่าพิธีการศุลกากรแบบเดิมที่ผ่านทางฮ่องกงถึง 17 วัน ซึ่งช่วยลดเวลาและต้นทุนทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ" คุณหยาง เฉาตง (Yang Chaodong) ผู้จัดการทั่วไปบริษัท เจียลู่ เฟทเทอร์ โปรดักส์ จำกัด (Jialu Feather Products Co.) ในเมืองกุ้ยกัง กล่าว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม บริษัทได้นำเข้าขนเป็ดสีขาวที่ผ่านการทำความสะอาดแล้วราว 18.5 ตันผ่านทางท่าเรือฉินโจว (Qinzhou Port) โดยผ่านพิธีการศุลกากรอย่างราบรื่นภายใต้การกำกับดูแลร่วมกันของสำนักงานศุลกากรท่าเรือฉินโจวและสำนักงานศุลกากรเมืองกุ้ยกัง นับเป็นความสำเร็จของสำนักงานศุลกากรจีนในการปฏิรูปการกำกับดูแลพิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้าขนเป็ด ทั้งขนชั้นนอก (feather) และขนอ่อน หรือ ขนดาวน์ (down) ที่ผ่านการทำความสะอาดแล้ว ในเมืองกุ้ยกัง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
คุณเถา เจียนฉวน (Tao Jianquan) เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขตกังหนานของเมืองกุ้ยกัง กล่าวว่า อุตสาหกรรมขนดาวน์เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่โดดเด่นของเขตกังหนาน เมืองกุ้ยกัง โดยปัจจุบันมีบริษัทแปรรูปขนเป็ด 170 แห่ง ซึ่งดำเนินการแปรรูปขนเป็ดราว 90,000 ตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราว 28% ของปริมาณการแปรรูปขนเป็ดทั้งหมดในจีน และ 18% ของทั้งหมดทั่วโลก
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมืองกุ้ยกังคว้าโอกาสจากการสร้างระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (Western Land-Sea Corridor) โดยได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะเวลา 3 ปีในการพลิกโฉมและยกระดับอุตสาหกรรม เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมขนดาวน์ ส่งผลให้เกิดห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ ตั้งแต่การคัดแยกและแปรรูปขนเป็ดขั้นต้น ไปจนถึงการแปรรูปขนเป็ดที่ผ่านการทำความสะอาดแล้ว และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ขนดาวน์ โดยในปี 2566 มูลค่าผลผลิตรวมของอุตสาหกรรมขนดาวน์ในเขตกังหนานของเมืองกุ้ยกังสูงถึง 4.7 พันล้านหยวน จากการเปิดเผยข้อมูลของสำนักประชาสัมพันธ์เขตกังหนาน อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบประมาณ 40% จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีความต้องการนำเข้าปีละประมาณ 30,000 ถึง 50,000 ตัน
เพื่อสนับสนุนการยกระดับและการพัฒนาอุตสาหกรรมขนดาวน์ในกว่างซี เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานศุลกากรจีนได้ประกาศแผนปฏิรูปนำร่องการกำกับดูแลพิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้าขนเป็ดที่ผ่านการทำความสะอาดแล้ว โดยตั้งเป้าใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านการกำกับดูแลของท่าเรือฉินโจว ท่าเรือกุ้ยกัง และสำนักงานศุลกากรท้องถิ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลพิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้าขนเป็ดที่ผ่านการทำความสะอาดแล้ว และได้มีการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การประสานงานการตรวจสอบระหว่างท่าเรือขาเข้ากับท่าเรือท้องถิ่น การป้องกันและควบคุมความเสี่ยงผ่านการประสานงานระหว่างสำนักงานศุลกากรกับหน่วยงานท้องถิ่น การกำกับดูแลกระบวนการส่งผ่านสินค้าอย่างชาญฉลาดโดยใช้เทคโนโลยี และการเพิ่มบทบาทความรับผิดชอบหลักของเหล่าองค์กรนำร่อง
นับตั้งแต่เริ่มโครงการนำร่อง สำนักงานศุลกากรเมืองหนานหนิงได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นเพื่อกำกับดูแลหน่วยงานศุลกากรในสังกัดที่เข้าร่วมโครงการ ให้ทำการสำรวจภาคสนาม ปรับปรุงแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแล และยกระดับแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาแผนการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ให้คำแนะนำในการอัปเกรดศูนย์กักกันอัจฉริยะตามท่าเรือที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสริมสร้างความมีวินัยในตนเองและการกำกับดูแลองค์กรนำร่อง อีกทั้งยังมีการสร้างกลไกการสื่อสารงานนำร่องแบบตัวต่อตัวระหว่างสำนักงานศุลกากรกับองค์กรนำร่อง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนำร่องอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายในการสร้างความมั่นใจว่าโครงการปฏิรูปนำร่องจะดำเนินไปอย่างราบรื่น
ทั้งนี้ คลองปากแม่น้ำผิงถัง-ตำบลลู่อู่ (Pingtang River Estuary-Luwu Town Canal) หรือ คลองผิงลู่ (Pinglu Canal) คือเส้นทางขนส่งทางน้ำในแผ่นดินระดับ Class I ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในกว่างซี โดยสามารถรองรับเรือระวาง 5,000 ตัน เมื่อคลองเปิดใช้งานแล้ว ขนเป็ดนำเข้าสามารถส่งผ่านโดยตรงจากท่าเรือฉินโจวผ่านคลองดังกล่าวไปยังท่าเรือกุ้ยกังภายในครึ่งวัน การเปิดคลองดังกล่าวจะนำไปสู่การรวมกลุ่มอุตสาหกรรมขนดาวน์ในเมืองกุ้ยกังและขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพสูง ปัจจุบัน อุตสาหกรรมขนดาวน์ในเมืองกุ้ยกังได้รับความสนใจจากบริษัทผลิตภัณฑ์ขนดาวน์ชั้นนำหลายแห่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์จากการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม
ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์เขตกังหนาน เมืองกุ้ยกัง
Comments