จับอาการความไม่มั่นใจ ต่ออนาคตโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่าจะเดินหน้าต่อ หรือพอแค่นี้? ได้ชัดๆจากปากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อคราวแถลงข่าวชี้แจงข้อสงสัยต่อกรณี โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
เขามองว่า เอกสารของ ป.ป.ช. แสดงความเห็นค่อนข้างตรงและแรงพอสมควรในการคัดค้านการดำเนินนโยบาย รัฐบาลก็รับฟังและนำมาพิจารณาประกอบ ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเอกสารดังกล่าวเป็นทางการแล้วหรือไม่อย่างไร ซึ่งมี สุภา ปิยะจิต อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet เป็นผู้ทำข้อเสนอแนะดังกล่าวมา โดยเป็นผู้ที่ติดตามนโยบายของรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาตลอดอยู่แล้ว เวลานี้รัฐบาลก็รอความชัดเจนในเรื่องเอกสารของ ป.ป.ช.
รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกความเห็น ตั้งแต่ข้อเสนอแนะในทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ไม่ได้เป็นการไฟเขียวหรือไฟแดง ไม่ได้ห้าม และไม่ได้สั่งการให้เดินหน้า เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่ความเห็นของ ป.ป.ช. ค่อนข้างชัดเจนว่ามีการวางธงให้โครงการนี้เดินหน้าไม่ได้ แม้ว่านโยบายเงินดิจิทัลจะได้รับการรับรองจากประชาชนก่อนการเลือกตั้ง และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วก็ตาม ซึ่งบางกลุ่มองค์กร เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ป.ป.ช. มีความเห็นแตกต่าง ที่อาจยังมองไม่เห็นว่าประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤตตามที่รัฐบาลบอก
“วิกฤตนี้ ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตการเห็นอกเห็นใจพี่น้องประชาชนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ Democracy without empathy คือทุนนิยมที่ไม่มีหัวใจจะไปเข้าใจผู้ที่เดือดร้อน มันแสดงให้เห็นมาตลอดว่าล้มเหลว รัฐบาลชุดปัจจุบันเราเดินทางไปทั่วประเทศ เราเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เราไม่ได้ทำงานในห้องแอร์ วันนี้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่”
รัฐบาลยืนยันเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต แม้ไม่ทัน พ.ค.นี้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ดูจากกรอบเวลาแล้ว โครงการไม่น่าทันเดือน พ.ค. รัฐบาลยืนยันเราต้องเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลต่อไป ถึงแม้จะไม่สามารถยืนยันกรอบเวลาในเดือน พ.ค. ได้ หลังจาก ป.ป.ช.ส่งเอกสารความเห็นมา ต่อไปจะเชิญคณะกรรมการนโยบายฯ มาประชุมอีกครั้ง จึงจะเริ่มกระบวนการฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในการทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่ยังไม่เห็นถึงเจตนาดีที่รัฐบาลพยายามจะทำ เราต้องสื่อสารจนทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน จนเราเดินหน้านโยบายนี้ได้ในที่สุด
กลไกแหล่งที่มาของเงินทุนจะเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ หรือวิธีอื่น ระหว่างนี้รอความชัดเจนของเอกสาร และการปรับความเข้าใจให้ตรงกันของหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้ามีการมองว่าไม่ใช่วิกฤต ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯ ต้องทำความเข้าใจ เอาข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และเป็นจริงนำเสนอต่อหน่วยงานเหล่านั้น
ทั้งนี้ ยังไม่มีแผนสำรองในกรณีที่โครงการไปต่อไม่ได้ และยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาดำเนินการ ส่วนเรื่องการถอยนั้น ยอมรับว่า ได้มีการปรับลดวงเงินมาแล้วครั้งหนึ่งหลังจากมีความเห็นของหลายหน่วยงานมา อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอการประชุมของคณะกรรมการนโยบายฯ อีกครั้ง จนกระทั่งมีความเห็นจากบางหน่วยงานแล้วจึงกำหนดแนวทางในการเดินหน้าต่อ
ความคิดเห็น