ต่างประเทศ
บริษัท Rapidus ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นด้านอิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม และยานยนต์จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย 1) Kioxia 2) Sony Group 3) Softbank 4) Denso 5) Toyota Motor 6) NEC 7) NTT และ MUFG Bank ได้ลงนามความร่วมมือกับ IMEC (Interuniversity Microelectronics Centre) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิตัลในประเทศเบลเยียม ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) เพื่อผลักดันการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิปต่างๆ โดยได้ส่งวิศวกรญี่ปุ่นไปทำการวิจัยที่เบลเยียม เพื่อวางแผนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงให้ได้ในประเทศญี่ปุ่นภายในปี 2027
บริษัท Rapidus ตั้งเป้าหมายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงจำนวนมากด้วยตัวเอง เนื่องจากเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตต่างๆ เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ระบบควบคุมอัจฉริยะ การขับขี่อัตโนมัติ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยนอกจากความร่วมมือกับ IMEC แล้ว บริษัท Rapidus ยังมีแผนที่จะเร่งดำเนินการการวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาต่อไป นาย Atsuyoshi Koike ประธานของ Rapidus กล่าวว่า "ยุคของการดำเนินธุรกิจด้วยตัวคนเดียวได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือกันโดยใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศทั่วโลก ซึ่งการสร้างทีมงานวิจัยและพัฒนาขนาดใหญ่โดยผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติจะเป็นวิธีเดียวที่สามารถพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น Rapidus จึงอยากจะทำงานด้านการผลิตโดยใช้จุดแข็งของบริษัทชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น"
ในอดีตญี่ปุ่นเคยเป็นผู้นำระดับโลกด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิป แต่เนื่องจากความล่าช้าในการร่วมมือกับต่างชาติเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตัลทำให้ปัจจุบันต้องตกเป็นฝ่ายตามหลังคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน รวมทั้งไต้หวัน นอกจากนี้ จากปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นที่พึ่งพาการนำเข้าชิปจากต่างประเทศต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในประเทศให้ได้
Cr.สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ( Office of Industrial Affairs, Royal Thai Embassy Tokyo)
Σχόλια