นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567
ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล (10 เมษายน 2567)
ชัดเจนเป็นที่แน่นอนแล้ว สำหรับความคืบหน้าและเงื่อนไขของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งนายกฯ เศรษฐา ถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ที่ได้ใช้ความพยายามสูงสุดฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนสามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยมีเงื่อนไขโครงการฯ ที่สำคัญ ซึ่งที่ประชุมคกก.โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้แถลงร่วมกัน สรุปได้ดังนี้
.
กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยมีเกณฑ์ ได้แก่
• อายุ 16 ปีขึ้นไป ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน
• ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี
• มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
เงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน – ใช้ได้ที่ไหนบ้าง?
• ใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า โดยใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
• ใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
เงื่อนไขการซื้อสินค้า มีอะไรบ้าง?
• สามารถซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ยกเว้น สินค้าอบายมุข, น้ำมัน, การบริการและซื้อของออนไลน์ รวมถึงสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเพิ่มเติม
ระยะเวลาดำเนินการ - ลงทะเบียนได้เมื่อไร?
• ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567
• เริ่มใช้จ่ายได้ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
ระบบที่จะใช้งาน ?
• ใช้งานผ่านระบบที่รัฐบาลพัฒนาขึ้นในลักษณะ Super App ซึ่งจะพัฒนาให้ใช้กับธนาคารอื่น ๆ ได้
งบประมาณที่ใช้ มาจากไหน?
• เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
• การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ซึ่งจะดูแลเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ 17 ล้านคน ตาม ม.28 ของปีงบประมาณ 2568
• การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
Kommentare