การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
โครงการฝึกอบรมผู้นำ “ไคลเมท เอ็กซ์” (“Climate x” Leadership Training Program) กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษามหาวิทยาลัยจากทั่วโลก โดยนักศึกษาที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ http://climatexleadership.gauc.net/ ก่อนที่จะปิดรับสมัครในวันที่ 30 มิถุนายน 2566
โครงการฝึกอบรมนี้ได้รับการสนับสนุนเชิงกลยุทธ์จากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC), องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) และพันธมิตรจากทั่วโลก และร่วมเป็นเจ้าภาพโดยพันธมิตรมหาวิทยาลัยโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ (Global Alliance of Universities on Climate หรือ GAUC) และพันธมิตรมหาวิทยาลัยเอเชีย (Asian Universities Alliance หรือ AUA) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะในการเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศในอนาคต โดยเน้นการทำงานร่วมกัน การรวบรวมทรัพยากรทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับ และการนำเสนอหลักสูตรที่เป็นนวัตกรรมใหม่
การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนา
การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นกลางทางคาร์บอนไม่ใช่แค่การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเท่านั้น แต่เป็น “การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนา ซึ่งจะก่อให้เกิดโมเดลใหม่ที่ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อโลก และนำไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเจริญรุ่งเรือง” ลอร์ด นิโคลัส สเติร์น (Lord Nicholas Stern) ประธานสถาบันวิจัยแกรนแทม วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน (Grantham Research Institute at LSE) และประธานคณะกรรมการวิชาการของพันธมิตรมหาวิทยาลัยโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ กล่าว
การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในตลาดงาน และนำมาซึ่งความต้องการและโอกาสใหม่ ๆ ดร.หวัง ปินปิน (WANG Binbin) เลขาธิการบริหารของพันธมิตรมหาวิทยาลัยโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า “เยาวชนในวันนี้คือผู้นำและเสาหลักในอนาคต และไม่ว่าต่อไปพวกเขาจะประกอบอาชีพอะไร พวกเขาจะต้องใส่ใจเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นหลัก”
โครงการฝึกอบรมนี้ใช้ชื่อว่า “ไคลเมท เอ็กซ์” โดยเน้นย้ำถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และเป็นการต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการฝึกอบรมนำร่อง “ไคลเมท เอ็กซ์” (“Climate x” Training Pilot) เมื่อปี 2565 ที่รับเฉพาะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสมาชิกของพันธมิตรมหาวิทยาลัยโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ส่วนโครงการฝึกอบรมปี 2566 เปิดรับนักศึกษาจากทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้เยาวชนได้รับโอกาสจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์มากขึ้น และมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
การให้ความรู้อันทรงคุณค่าจากมหาวิทยาลัย 28 แห่ง และองค์กรอื่น ๆ
เนื่องในโอกาสที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 ประจำปี 2566 (2023 UN Climate Change Conference หรือ COP28) ทางพันธมิตรมหาวิทยาลัยโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศจึงได้สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรมหาวิทยาลัยเอเชีย ที่ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยสมาชิก 15 แห่งทั่วเอเชีย เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมครั้งนี้
ด้วยการขยายเครือข่ายมหาวิทยาลัยสมาชิกของพันธมิตรมหาวิทยาลัยโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือครั้งนี้ได้ชูความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีปนี้กำลังเผชิญอยู่มาเป็นจุดสนใจหลัก ในขณะที่ยังคงมุมมองระดับโลกเอาไว้อย่างครอบคลุม โดยตลอดหลักสูตรการฝึกอบรม ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสมาชิกของพันธมิตรทั้งสองกลุ่มจะร่วมกันจัดบรรยายและการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมุ่งเน้นไปที่จุดร่วมระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับวาระประจำปีของพันธมิตรมหาวิทยาลัยโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ อาทิ จุดร่วมระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับพลังงานสะอาด สุขภาพ ภัยพิบัติ และแฟชั่นที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ด้วยเครือข่ายพันธมิตรที่กว้างขวางทั่วโลก โครงการนี้ยังจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลากหลายหัวข้อ การอภิปรายแบบคณะ และการบรรยายนอกหลักสูตรโดยวิทยากรรับเชิญจากองค์กรในเครือสหประชาชาติ ภาคอุตสาหกรรม องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และอีกมากมาย
จากนักศึกษาฝึกหัดสู่ผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศแห่งอนาคต
เพื่อเปลี่ยนนักศึกษาจากผู้เรียนรู้ด้านสภาพภูมิอากาศไปสู่ผู้นำการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ โครงการฝึกอบรมนี้ได้ใช้แนวทาง “ฝึกผู้ฝึกสอน” (Train the Trainer) ผ่านโมดูล “1+3” (“1+3” Module) โดย 1 หมายถึงหลักสูตรออนไลน์ระยะเวลาหนึ่งเดือนในเดือนกรกฎาคม และ 3 หมายถึงอีเวนต์ 3 งานที่นักศึกษาจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน เพื่อนำทักษะความเป็นผู้นำและความรู้ด้านสภาพภูมิอากาศมาปฏิบัติจริง โดยงานที่สามคืองานสัปดาห์สภาพภูมิอากาศเยาวชนโลก ประจำปี 2566 (2023 Global Youth Climate Week) ซึ่งเป็นกลไกที่พันธมิตรมหาวิทยาลัยโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า 100 กลุ่มทั่วโลก ริเริ่มร่วมกันในปี 2565
เมื่อผ่านเกณฑ์ของโมดูล 1+3 นักศึกษาจะได้รับการรับรองจากพันธมิตรมหาวิทยาลัยโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศและพันธมิตรมหาวิทยาลัยเอเชียให้เป็นผู้ฝึกสอน “ไคลเมท เอ็กซ์” (“Climate x” Trainer) และผู้ฝึกสอน “ไคลเมท เอ็กซ์” ที่แสดงความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นทุ่มเทตลอดงานซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายน จะได้รับตำแหน่งผู้บุกเบิก “ไคลเมท เอ็กซ์” (“Climate x” Pioneer) อีกด้วย โดยจะมีโอกาสได้รับเลือกให้เข้าร่วมคณะผู้แทนเยาวชนของพันธมิตรมหาวิทยาลัยโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ เพื่อเข้าร่วมการประชุม COP28 และนำเสนอความคืบหน้าสำคัญในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของเยาวชน ต่อผู้มีอำนาจกำกับดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในการประชุม COP28 ที่ดูไบ
สามารถดูกำหนดการโดยละเอียดของโครงการฝึกอบรมผู้นำ “ไคลเมท เอ็กซ์” ได้ที่ https://gauc.net/
Comments