กกต. ได้ให้การรับรองเขาเป็น สส. เมื่อปี 2554
"ถ้าผมไม่มั่นใจ 100% ขาดไปแม้แค่เปอร์เซ็นต์เดียว ผมไม่ออกมายืนอยู่กลางแจ้งให้คนวิจารณ์หรอก"
พิชิต ชื่นบาน ให้สัมภาษณ์พิเศษบีบีซีไทย
ยืนยันว่าการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล “เศรษฐา” ไม่ได้เป็นรายการ “ต่างตอบแทน” จากการปฏิบัติหน้าที่ทนายความอดีตนายกฯ จากตระกูลชินวัตร และเขาจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้คุณให้โทษอดีตนายกฯ ทักษิณ พร้อมยกสารพัดข้อกฎหมายการันตีตัวเองว่าไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี จากกรณีต้องโทษจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาลเมื่อ 15 ปีก่อน “ถ้าผมไม่มั่นใจ 100% ขาดไปแม้แค่เปอร์เซ็นต์เดียว ผมไม่ออกมายืนอยู่กลางแจ้งให้คนวิจารณ์หรอก” พิชิต ชื่นบาน กล่าวกับบีบีซีไทย หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อการเข้ารับตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล “เศรษฐา”
แม้เป็นชื่อสุดท้ายที่ปรากฏใน “โผสื่อ” เมื่อ 28 ส.ค. แต่เป็นชื่อว่าที่เสนาบดีแรกที่ได้รับการยืนยันจากปากคำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยบอกว่า “คุณพิชิตอยู่กับพรรคเพื่อไทยมานานแล้ว” พิชิต วัย 64 ปี เป็นอดีตทนายความของอดีตนายกรัฐมนตรีจากตระกูลชินวัตรทั้ง 2 คน ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลคดีทักษิณในยุคหลังรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องถึงยิ่งลักษณ์ในยุคหลังรัฐประหาร 2557
เขาตกเป็นข่าวคึกโครมจากข้อกล่าวหา “หิ้วถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาท” ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในช่วงพิจารณาคดีที่ดินรัชดาภิเษก ที่มี ทักษิณ อดีตนายกฯ คนที่ 23 กับ คุณหญิงพจมาน ภรรยา ตกเป็นจำเลย ศาลฎีกามีคำสั่ง 25 มิ.ย. 2551 ให้จำคุกพิชิตกับพวกรวม 3 คน ฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นเวลา 6 เดือน ไม่รอลงอาญา
ยก 3 เหตุผลการันตีไม่ตกคุณสมบัติ รมต. โทษจำคุกที่ได้รับเมื่อ 15 ปีก่อน ทำให้เกิดคำถามว่าพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้เป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ว่าที่ รมต.ป้ายแดง ยืนยันว่าไม่เป็นเช่นนั้น พร้อมยกสารพัดข้อกฎหมายมาแจกแจง-การันตีว่าตัวเองไม่ตกคุณสมบัติ สรุปได้ ดังนี้
หนึ่ง เคยเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ปี 2554 ในเวลานั้น มีผู้ร้องเรียนว่าพิชิตมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้เป็นผู้สมัคร สส. เพราะเคยต้องคำพิพากษาในคดีอาญา แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า กรณีที่ถูกร้องเรียนเป็นความแพ่ง และเป็นการออกคำสั่งในทางแพ่ง ไม่ใช่ต้องคำพิพากษาคดีอาญา ทั้งนี้ในการตั้งคำพิพากษาคดีอาญา หมายถึง 1) ต้องถูกฟ้องเป็นจำเลย 2) มีกระบวนการสืบพยานโจทก์และจำเลย และ 3) ศาลทำในรูปคำพิพากษา ไม่ใช่ทำในรูปคำสั่ง
พิชิตได้รวบรวมเอกสารแนวคำพิพากษาฎีกาที่ชี้ว่าการละเมิดอำนาจศาลเป็นคดีแพ่ง รวมถึงความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาที่วินิจฉัยไว้ตรงกัน ส่งให้ กกต. ทำให้ได้รับการรับรองเป็น สส. เมื่อปี 2554
นอกจากนี้ในปี 2562 กกต. ก็รับรองเขาเป็นผู้สมัคร สส. พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) แต่ไม่ทันได้ลงสนามเลือกตั้ง เพราะพรรคต้นสังกัดถูกสั่งยุบไปเสียก่อน
สอง ไม่เคยต้องคำพิพากษาในคดีอาญา ฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่หรือศาล เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาในปี 2552 ว่า “ร่วมกันใช้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน” แต่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ก็มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด
สาม การถูกสั่งจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่ใช่ความผิดทางอาญา รัฐธรรมนูญกำหนดลักษณะต้องห้ามรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (7) ซึ่งเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา แต่พิชิตถูกลงโทษโดยกฎหมายวิธีสบัญญัติที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แล้วศาลนำมาใช้ เขาระบุว่า การละเมิดอำนาจศาลไม่ใช่ความผิดทางอาญา และความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก ก็มิใช่คำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก
“ทนายถุงขนม” กลับมาแล้ว-ขอพิสูจน์ตัวเอง เหตุการณ์ “หิ้วถุงขนม 2 ล้านบาท” เกิดขึ้นเมื่อ 10 มิ.ย. 2551 โดยมีผู้ถูกกล่าวหา 3 คน ประกอบด้วย พิชิต ทนายความ, ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนายความ และเลขานุการส่วนตัวของพิชิต และ ธนา ตันศิริ ผู้ประสานงานคดี
ในระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาพบข้อมูลสรุปได้ว่า ธนาคือผู้นำ “ถุงขนม” ไปส่งมอบให้ มล.ฐิติพงศ์ ชมพูนท นิติกร 5 แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ขณะนั่งทำงานอยู่ที่ห้องทำงานในแผนก โดยธนากล่าวว่า “ระยะนี้ต้องมาติดต่อบ่อย เห็นใจเจ้าหน้าที่ต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยก็เลยมีของมาฝากให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน” ว่าแล้วก็เดินไปหยิบถุงกระดาษสีขาวซึ่งมีมีสกอตเทปปิดปากถุงตามยาวเกือบตลอดปากถุง มาส่งให้
แม้ มล.ฐิติพงศ์เข้าใจว่าเป็นขนม แต่ก็ไปสอบถามผู้บังคับบัญชาว่ารับได้หรือไม่ ก่อนทราบในภายหลังเมื่อกรีดสกอตเทปที่ปิดปากถุงออก พบซองสีน้ำตาลปิดอยู่ เมื่อดึงออกเห็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 2 ตั้ง ๆ ละ 10 มัด ๆ ละ 100 ฉบับ เป็นเงินประมาณ 2 ล้านบาท จึงเรียกให้ธนามารับคืนไปและถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานทั้งหมด
พิชิตกล่าวว่า ขณะนั้นคดีที่ดินรัชดาฯ อยู่ในระหว่างการพิจารณาขั้นตอนตรวจเอกสาร ยังไม่ได้เริ่มสืบพยาน ยังไม่รู้เลยว่าผู้พิพาษาท่านใดจะเป็นองค์คณะ และจะมีความเห็นอย่างไร
“ผมทำงานมา 30 ปี ย่อมรู้ดีว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อทั้งศาลและเจ้าหน้าที่ศาล ผมคงไม่สติเสียที่จะเป็นคนถือเงิน 2 ล้านบาทขึ้นไปบนศาล ผมไม่สติเสียหรอก เหตุการณ์ในวันดังกล่าว ยังไม่พิจารณาคดี เพราะมีตัวความคือวีไอพี 2 ท่านไปศาล ผมก็นั่งเฝ้าในห้อง ท่านก็ถามว่ารูปคดีเป็นอย่างไร เรา 3 คนไม่รู้เรื่องเลย” เขาย้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน
อดีตทนายทักษิณกล่าวต่อไปว่า เมื่อมีเหตุการณ์เงิน 2 ล้านบาท ก็ไปสอบถามในฐานะทนายความว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นยังไง ด้วยความเป็นห่วง “แต่ศาลกลับเอาที่ผมสอบถาม ไปบอกว่าผมรู้อยู่แล้ว แต่ไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ใครเป็นคนถือ (เงิน) ก็ลงโทษคนนั้นไปสิ... ที่รับไม่ได้คือเอาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มัดผมเข้าไปด้วย เป็นตัวการร่วมด้วย”
ไม่ว่าความรู้สึกของพิชิต ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะเป็นเช่นไร แต่คำสั่งศาลฎีกาชัดเจนว่า ให้ลงโทษในสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกทั้ง 3 คน
เหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้ “ทนายถุงขนม 2 ล้านบาท” กลายเป็นฉายาติดตัว-บาดใจพิชิตมาถึงวันนี้ ซึ่งเขาเห็นว่า “ไม่เป็นธรรมแก่ชีวิต” เป็นการพูดสนุกปาก สร้างวาทกรรม โดยไม่คำนึงว่าผู้ที่ถูกวิจารณ์ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร และไม่ได้ดูเนื้อหาที่ถูกคำสั่ง เขาดำเนินการเองหรือไม่ ลงมือกระทำการเองหรือไม่ กระบวนการคดีเป็นอย่างไร จึงอยากขอความเป็นธรรม
“ผมไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับเงิน 2 ล้านนั่น แต่เมื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผมจะไปวิจารณ์... ผมก็เคารพกฎหมายบ้านเมือง เคารพองค์กรที่ตัดสินผม แต่วันนี้พิชิต come back (กลับมาแล้ว) อยากพิสูจน์ตัวเองว่าผมมีกึ๋นเพียงพอที่จะบริหารราชการแผ่นดิน ทำไมไม่ดีใจละที่ดูถูกผมกันว่าเป็น ‘ทนายถุงขนม’ ผมจะกลับมาพิสูจน์ตัวเองถ้าใครอยากจะจับจ้อง” ว่าที่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ
นักการเมืองวัย 64 ปีกล่าวต่อไปว่า ภารกิจในครั้งนี้จะหนักไปในทางกฎหมาย จึงต้องซื่อสัตย์ ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ไม่ abuse (ใช้ในทางที่ผิด) บิดผันหลักการ จริยธรรมเริ่ม “นับหนึ่ง” เมื่อรับตำแหน่ง รมต. นอกจากมิติกฎหมายตามที่ “อดีตหมอความ” สาธยายมา ผู้คนในสังคมออกมาตั้งคำถามต่อปมปัญหาจริยธรรมของเขา และทำให้เกิดข้อกังขาต่อคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรีของเขา รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) กำหนดให้รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
อย่างไรก็ตามนักวิชาการด้านกฎหมายบางส่วน รวมถึงพิชิตตีความว่า ประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564 ที่เขียนล้อกับรัฐธรรมนูญ จะเริ่ม “นับหนึ่ง” นับจากดำรงตำแหน่ง ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตถือเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็น และคนละช่วงเวลา
แม้ตัวบทกฎหมายอาจเขียนไว้เช่นนั้น แต่ความคาดหวังของประชาชนย่อมต้องการเห็นรัฐมนตรีที่เป็น “มิสเตอร์คลีน” ไม่มีประวัติด่างพร้อย หาใช่การมาเริ่มครองตนตามมาตรฐานจริยธรรมในวันเข้ารับหน้าที่? พิชิตบอกว่า ขอให้พิสูจน์กันด้วยผลงานและการปฏิบัติตัวของเขา ซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบได้อยู่แล้วทั้งโดยองค์กรอิสระ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา
“การจะดำเนินการกับผมเรื่องจริยธรรม เขาต้องบรรยายว่าเมื่อเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้กระทำอะไรที่ผิดจริยธรรม ถ้าไปเขียนบรรยายในอดีต ยืนยันว่าศาลยกคำร้องแน่” ว่าที่รัฐมนตรีคนใหม่กล่าว
ส่วนกรณีถูกสภาทนายความลบชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี หลังต้องรับโทษฐานละเมิดอำนาจศาล จะถือเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าพิชิตมีปัญหาเรื่องจริยธรรมหรือไม่นั้น ชายผู้ประกอบอาชีพทนายความมากว่า 30 ปียอมรับว่า “ช่วงนั้นถือว่าเป็นมรสุมใหญ่ สภาทนายเขาย่อมทำตามหน้าที่ ไม่ได้มีข้อติดใจอะไร”
ตามข้อบังคับสภาทนายความ ให้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นทนายความใหม่ได้อีกหลังพ้นโทษ 5 ปี แต่พิชิตบอกว่า “เคยคิด แต่ไม่เคยยื่น” เพราะเข้ามาทำงานการเมืองแล้ว จึงไม่ได้คิดว่าต้องไปทำงานแบบทนายอีก “ตอนนั้น ผมก็อายุ 50-60 แล้ว ถ้าไปศาล ก็เจอผู้พิพากษาที่อายุน้อยกว่า คราวลูกหลานแล้ว เราก็อย่าทำดีกว่า เอาแค่เป็นที่ปรึกษาก็ดำรงตนอยู่ได้แล้ว” อดีตทนายรุ่นใหญ่กล่าว พร้อมปฏิเสธข่าวที่ว่า เขาพยายามยื่นขอจดทะเบียนเป็นทนายความใหม่ 3 ครั้ง แต่ถูกกรรมการสภาทนายความตีตก
“คนไม่หิวแสง” สู่ว่าที่ “รมต. สายล่อฟ้า” กับคำครหาที่ว่าเก้าอี้รัฐมนตรีที่กำลังจะได้เข้าไปครอบครอง เป็นรายการ “ต่างตอบแทน” ของครอบครัวชินวัตร เขาแย้งว่า “เป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรงเลย ผมช่วยงานพรรคมานานแล้ว ทำงานหนักในฐานะที่ปรึกษา ให้ความเห็นทางกฎหมาย แต่ไม่ชอบออกหน้า เพราะผมไม่ได้หิวแสง”
พิชิตยังท้าให้ไปสอบถามความจริงจาก “คนเก่าคนแก่” ของพรรคอย่าง ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค รวมถึงนักการเมือง “ดาวรุ่งซุปตาร์” ที่เป็นดาวอภิปรายในสภา อาทิ จิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด, เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สส.เลย ที่เขานับเป็น “ลูกศิษย์ลูกหา”
“ถ้าจะคิดเรื่องตอบแทน ตอนน้องสาว (ยิ่งลักษณ์) เป็นรัฐบาล ทำไมผมไม่ได้เป็นไรเลย และนายกฯ ปูนี่เมตตาผมที่สุดแล้ว ทำไมไม่คิดกลับกันบ้างอะ”
“ไม่มีหรอกครับ ‘ตั๋วนาย’ ไม่เกี่ยวกับท่าน (ทักษิณ) เลย” พิชิตเน้นย้ำ เศรษฐา ทวีสิน บอกว่า “เขาเป็นคน ไม่ใช่สายล่อฟ้า” หลังผู้สื่อข่าวถามถึงการแต่งตั้งพิชิตเป็นรัฐมนตรี
ว่าที่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเล่าว่า รู้ตัว-ได้รับแจ้งตั้งแต่ทราบผลเลือกตั้งใหม่ ๆ โดยมี “ผู้ใหญ่” ที่เขาไม่ขอเอ่ยนามสอบถามว่า “คุณพร้อมไหมที่จะทำงาน” ซึ่งเขาคิดว่าหากมีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนมา ใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ก็มั่นใจว่าจะทำหน้าที่รัฐมนตรีได้ จึงตอบรับ “ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่ผมมาปาดอาจารย์ชู (ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค พท. ซึ่งมีชื่อติดโผรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายก่อนหน้านี้)”
ในระหว่างให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย พิชิตออกตัวไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้งว่าไม่ใช่คน “หิวแสง” แต่อดีตของเขา ทำให้คนการเมืองรายนี้ถูกเปรียบเปรยเป็น “รัฐมนตรีสายล่อฟ้า” ถึงขนาดมีผู้สื่อข่าวนำคำนี้ไปสอบถามผู้นำรัฐบาล
นี่เป็นอีกครั้งที่พิชิตย้ำว่า ขอพิสูจน์ตัวเองหลังเข้ารับตำแหน่ง และมองว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่พรรคจะมาอุ้มใครหรืออุ้มตัวเขาเพื่อให้ได้เข้าไปเป็นรัฐมนตรี เพราะเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ มีบุคลากรมากมาย และมีองค์ประกอบในการพิจารณาว่าจะเสนอชื่อใครทำหน้าที่ใด
“ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่มีใจเป็นธรรมว่าผมเหนื่อยมามากแล้ว อยากเห็นผมในอีกบทบาทหนึ่งมากกว่า เหมือนหลาย ๆ คนที่ทุ่มเทให้กับพรรค” พิชิตให้ทัศนะ
“ผมขอลาออก ถ้าไม่ให้ไปเยี่ยมท่านทักษิณ”
ไม่ว่าบังเอิญหรือจงใจ การเข้าร่วมวง ครม. ของทนายความอดีต 2 นายกฯ ชินวัตร เกิดขึ้นในจังหวะที่ทักษิณเดินทางกลับบ้านเกิดในรอบ 15 ปี และต้องรับโทษจำคุกรวม 8 ปีตามคำพิพากษา 3 คดี ทำให้เกิดข้อวิเคราะห์ว่ามี “ภารกิจพิเศษ” ที่พิชิตต้องเข้าไปร่วมผลักดันในวง ครม. หรือไม่อย่างไร
“มโนกันไปเอง” เขาบอก
ก่อนโยนคำถามกลับมาว่า “รมต.ประจำสำนักนายกฯ กำกับหน่วยงานไหนบ้าง ที่บอกกันว่าจะช่วยท่านทักษิณเรื่องอภัยโทษ ตำแหน่ง รมต.ประจำฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยนะ ผมไม่มีส่วนให้คุณให้โทษกับนายกฯ ทักษิณเลย”
อย่างไรก็ตาม “ทนายคู่บ้านชินวัตร” ได้เดินทางไปรอรับ “นายเก่า” ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อ 22 ส.ค.66 เพื่อดูแลเรื่องเอกสารทางกฎหมาย และขั้นตอนกระบวนการเข้าเมือง แต่ไม่เคยไปปรากฏตัวที่ รพ.ตำรวจ นับจากทักษิณย้ายไปรักษาตัวเมื่อ 23 ส.ค.
“การปรึกษาหารือส่วนตัว กับการรับหน้าที่รัฐมนตรี เป็นคนละเรื่องนะ อย่าลืมว่าผมเคยทำหน้าที่ให้ท่านมาก่อน ถ้าท่านจะสอบถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่ท่านไว้วางใจ และผมคิดว่าผมก็แม่นกฏหมายระเบียบนะ”
พิชิต (ด้านหลัง) รอต้อนรับและดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายที่สนามบินดอนเมือง วันทักษิณเดินทางกลับประเทศเมื่อ 22 ส.ค.66
แล้วภายหลังรับตำแหน่ง รมต. อย่างเป็นทางการ จะยังไปพบปะ-ให้คำปรึกษากฎหมายแก่ทักษิณอีกหรือไม่ คำตอบพิชิตคือ ถ้าจะห้ามไม่ให้ไปพบอดีตนายกฯ ทักษิณเลย ถือว่าไม่เป็นธรรมกับตัวเขา
“การไปเยี่ยมบุคคลที่ผมให้ความเคารพ ความรู้สึกผมคือเหมือนญาติ เหมือนคนในครอบครัว ทำไมต้องถูกตัดสิทธิไม่ให้พบท่านอะ มันเป็นธรรมไหม ก็ปุถุชนทั่วไป รักใคร รู้ว่าท่านป่วย อยู่ในยามยาก เมื่อกฎระเบียบเปิดทางให้ผมไปเยี่ยมได้ แล้วบอกพิชิตอย่ามาเยี่ยม มันเป็นธรรมกับผมไหมล่ะ” “ต่อให้ตั้งผมเป็นซูเปอร์รัฐมนตรี เป็นนายกฯ หรือเป็นอะไร ผมขอลาออกหรือไม่รับตำแหน่งเลย ถ้าไม่ให้ผมไปเยี่ยม ไปกราบ ไปให้กำลังใจท่านทักษิณ” เขาประกาศ
มุมมองต่อ “ลูกความวีไอพี” ผู้มีพระคุณ
อดีตทนายความวัย 64 ปีออกตัวว่า เป็น “เด็กบ้านนอก” ที่เกิด-เติบโตจาก จ.ปราจีนบุรี ก่อนเข้าเมืองกรุง ได้บุพการีอบรมสั่งสอนให้กตัญญูรู้จักบุญคุณคนที่มีจิตใจเป็นกุศลแก่เรา
ในทัศนะของพิชิต ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ถือเป็น “ผู้มีพระคุณ” และ “อยู่ในฐานะที่กราบไหว้บูชาได้” พร้อมบรรยายถึงคุณลักษณะของ “ลูกความวีไอพี” เอาไว้ ดังนี้
ยิ่งลักษณ์: นายกฯ ปูมีจิตใจเป็นธรรมมาก และวิบากกรรมของผมกับท่านคล้าย ๆ กัน โดนข้อหาละเว้นเหมือนกัน ผมนี่สลดเลยตอนท่านโดน
ทักษิณ: เป็นบุคคลที่มีบุญคุณกับผมมากที่สุด เป็นบุคคลที่มีจิตใจอารีอารอบเป็นธรรม เป็นคนดีคนหนึ่งที่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง ไม่เคยคิดร้ายใด ๆ ต่อสถาบันหลักของประเทศ รวมทั้งคิดดีกับประชาชน
พิชิตบอกว่า 2 อดีตนายกฯ ให้โอกาสเขาได้ทำงานในพรรคหลังพ้นวิบากกรรม มาวันนี้เขาจึงออกตัวขอความเป็นธรรมให้แก่ทักษิณ วัย 74 ปี ที่อยากกลับบ้านมาดูแลลูกหลาน Exclusive: พิชิต ชื่นบาน “ทนายถุงขนม” ขอพิสูจน์ตัวเอง เล่าเรื่องบุญคุณ-สัมพันธ์กับทักษิณ© BBC ทนายคู่บ้าน “ชินวัตร”
-2550 ทนายความของทักษิณ-คุณหญิงพจมาน คดีทุจริตซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก 33 ไร่เศษ ในราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสถาบันการเงิน
2554 สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. และที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คอยกลั่นกรองกฎหมายและระเบียบบริหารราชการแผ่นดินทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม
2558 ที่ปรึกษาทีมทนายความของยิ่งลักษณ์ คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการจำนำข้าว
2562 ประธานที่ปรึกษากฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ทษช.
2562 ที่ปรึกษากฎหมาย/การอภิปรายของ สส. หลายคน อาทิ จิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด, เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สส.เลย, สมคิด เชื้อคง สส.อุบลราชธานี
2566 ว่าที่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(วันแรกที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่23 เหยียบแผ่นดินไทย22 สิงหาคม2566 ณ สนามบินดอนเมือง พิชิต ไปรอต้อนรับอย่างใกล้ชิด)
ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม
เรื่องราวโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ - ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
และ CLOSE-UP THAILAND
Comments