ต่างประเทศ
สตีฟ ซินแคลร์ รองประธานอาวุโสของบริษัทโมโจวิชัน (Mojo Vision) ในสหรัฐฯ แถลงถึงความคืบหน้าในการพัฒนาคอนแทคเลนส์อัจฉริยะ (smart contact lens) หรือจอคอมพิวเตอร์ที่บางและเล็กเป็นพิเศษจนสามารถสวมใส่ไว้ติดกับลูกตาได้ว่า ขณะนี้ต้นแบบรุ่นแรกได้ถูกพัฒนาจนสำเร็จแล้ว และพร้อมที่จะนำออกทดสอบใช้งานจริงในชีวิตประจำวันเร็ว ๆ นี้
นอกจากคอนแทคเลนส์อัจฉริยะดังกล่าวจะแก้ไขความผิดปกติทางสายตาของผู้ใช้แล้ว ยังสามารถแสดงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ปรากฏต่อสายตาขณะที่มองสิ่งรอบตัวด้วย
"ลองจินตนาการดูว่า นักดนตรีสามารถมองเห็นเนื้อเพลงหรือโน้ตดนตรีขณะแสดงคอนเสิร์ต ผู้กล่าวสุนทรพจน์มองเห็นบทพูดของตนเองได้ โดยไม่ต้องก้มหน้าหรือหันเหสายตาไปทางอื่น นักกรีฑามองเห็นข้อมูลชีวภาพของตนเอง รวมทั้งระยะทางที่ยังเหลือข้างหน้าก่อนถึงเส้นชัย" นายซินแคลร์กล่าว
โครงสร้างของคอนแทคเลนส์อัจฉริยะนี้ ประกอบด้วยเลนส์บางเฉียบที่มีขนาดใหญ่ (scleral lens) ครอบคลุมพื้นที่ลูกตาทั้งหมดรวมทั้งส่วนของตาขาว นอกจากนี้ในตัวคอนแทคเลนส์ยังมีจอไมโครแอลอีดี (microLED) เซนเซอร์อัจฉริยะ และแบตเตอรีที่มีสถานะเป็นของแข็งรวมอยู่ด้วย
รองประธานอาวุโสของบริษัทโมโจวิชันบอกว่า "คอนแทคเลนส์อัจฉริยะของเราทำงานได้ดีในห้องปฏิบัติการ ดังนั้นในขั้นตอนต่อไป เราจะทดสอบว่าในชีวิตจริงสามารถใช้งานต่อครั้งได้นานแค่ไหน และต้องใช้งานอย่างไรให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเราตั้งเป้าหมายไว้ให้ใช้งานคอนแทคเลนส์อัจฉริยะได้ตลอดวัน โดยไม่ต้องถอดออกมาชาร์จแบตเตอรี"
"เราคาดว่าผู้สวมคอนแทคเลนส์อัจฉริยะ จะไม่ได้ใช้งานมันอย่างต่อเนื่องตลอดวัน แต่จะเปิดและปิดการใช้งานเป็นระยะหลายครั้ง เหมือนกับการใช้งานโทรศัพท์สมาร์ตโฟนหรือนาฬิกาอัจฉริยะในปัจจุบัน ทำให้แบตเตอรีของคอนแทคเลนส์มีพลังงานเพียงพอที่จะใช้ได้ตลอดทั้งวัน" นายซินแคลร์กล่าวเสริม
ทางบริษัทโมโจวิชันยังยืนยันว่า จะมีการปรึกษาและทดสอบคอนแทคเลนส์นี้ร่วมกับจักษุแพทย์ เพื่อวางแนวทางการดูแลรักษาและสวมใส่อย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้งานคอนแทคเลนส์อัจฉริยะนานเกินไป จนอาจติดเชื้อหรือระคายเคืองจนเกิดความเสียหายกับดวงตาได้
ทางบริษัทยังบอกว่า จะออกแบบระบบที่เตือนผู้ใช้ให้ทำความสะอาดและหยุดพักการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเตือนให้เปลี่ยนคอนแทคเลนส์ใหม่ หลังจากมีอายุการใช้งานครบ 1 ปี
ส่วนปัญหาเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลชีวภาพส่วนบุคคล รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ลักษณะนี้ในทางที่ผิด เช่นแอบถ่ายภาพหรือเก็บข้อมูลของผู้อื่นอย่างลับ ๆ ซึ่งแว่นตาอัจฉริยะกูเกิลกลาส (Google Glass) เคยพบเจอมาแล้วนั้น แม้ทางโมโจวิชันจะยืนยันว่ามีการวางระบบเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอย่างดี แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายยังคงแสดงความกังวลว่า
"จะทำอย่างไรหากอุปกรณ์แบบนี้ถูกคนนอกดึงเอาข้อมูลชีวภาพ ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงความคิดหรือความรู้สึกของผู้ใช้ ให้รั่วไหลออกไปสู่สาธารณะได้" แดเนียล ลิวเฟอร์ นักวิเคราะห์นโยบายอาวุโสของกลุ่ม Access Now ผู้รณรงค์เพื่อสิทธิพลเมืองในโลกดิจิทัลกล่าว
"หากมีคนล่วงรู้ว่าขณะที่คุณจ้องมองสิ่งหนึ่ง หัวใจของคุณเต้นถี่แรงขึ้นหรือไม่ หรือมีเหงื่อออกมากแค่ไหนตอนที่ถูกถามเรื่องบางอย่าง นั่นเท่ากับว่าคอนแทคเลนส์อัจฉริยะกลายเป็นช่องโหว่ ที่อาจเปิดให้คนร้ายเข้ามาฉกฉวยเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ได้"
Comments