top of page

"ถ้าได้ฉีดวัคซีนเร็วกว่านี้ เจ้เค็ง-แม่ค้าปลาทูตลาดเทเวศน์คงไม่ตายเพราะCovid-19"




"ถ้าได้ฉีดวัคซีนเร็วกว่านี้ เจ้เค็ง-แม่ค้าปลาทู

ตลาดเทเวศน์คงไม่ตายเพราะCovid-19"

คำบอกเล่าผู้สูญเสีย


ตัดตอนจากสกู๊ปเรื่อง บทสนนาสุดท้ายของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในวันที่โรคร้ายคร่าเกือบ 2 หมื่นชีวิตในไทย ซึ่งกุลธิดา สามะพุทธิ และ สมิตานัน หยงสตาร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย จัดทำบุคคลที่ประสบการการสูญเสียครั้งนี้ น.ส.นภัส สวัสดิ์บัว อายุ 24 ปี สูญเสียคุณแม่วัย 67 ปี ในช่วงที่เธอกำลังประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและเธอปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้แม่ได้อยู่ดูความสำเร็จนั้น


จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ลดลงมาอยู่ในระดับ "ต่ำร้อย" เป็นบางวันในช่วงต้นเดือน ต.ค. ถูกใครหลายคนนิยามว่าเป็น "ข่าวดี" แต่สำหรับผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเพราะโควิดไปแล้ว คงไม่มีข่าวไหนที่เรียกได้ว่าเป็นข่าวดี ขณะที่พวกเขาและเธอยังคงพยายามทำใจยอมรับการพลัดพรากที่มาถึงโดยไม่ทันตั้งตัว ไม่มีโอกาสได้กอดหรือจับมือลา แม้แต่ศพก็ไม่มีโอกาสได้เห็น17,418 คือจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 จนถึงวานนี้ (7 ต.ค.) แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเคยพูดว่าเขาเสียใจต่อทุกชีวิตที่สูญเสียไป และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ก็แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตทุกครั้งที่แถลงตัวเลขคนตายรายวัน แต่ในช่วงที่ทุกฝ่ายมุ่งเน้นเรื่องการเปิดประเทศ หาทางอยู่ร่วมกับโควิดและมุ่งพิชิตเป้าหมายการฉีดวัคซีน จำนวนคนตายก็อาจกลายเป็นเพียงแค่ตัวเลขหนึ่งที่ถูกรายงานและผ่านเลย


บีบีซีไทยบันทึกเรื่องราวของ 6 ครอบครัวที่สูญเสียสมาชิกจากโควิดในช่วงการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 แม้ว่า 6 ครอบครัวนี้จะนับเป็นเพียงส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับเกือบ 2 หมื่นชีวิตที่จากไป แต่พวกเขาก็เป็นตัวแทนของผู้สูญเสียที่ยืนยันข้อความที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนหนึ่งพร้อมใจกันโพสต์เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากโควิดไว้ว่า "จำนวนคนตายไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือชีวิตและเป็นคนในครอบครัวของใครสักคน"

ธิติกาญจน์ พรประสพศักดิ์ อายุ 67 ปี เสียชีวิต 26 ก.ค.2564


บทสนทนาสุดท้ายกับลูกสาว "อยากกลับไปตายที่บ้าน"

นางธิติกาญจน์เป็นแม่ค้าขายปลาทูนึ่งที่ตลาดเทเวศร์มานานกว่า 50 ปี คนในตลาดและลูกค้าเรียกร้านเธอว่า "ปลาทูเจ๊เค็ง"


น.ส. นภัส สวัสดิ์บัว หรือ "ฟ้า" วัย 24 ปี ลูกสาวของนางธิติกาญจน์เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่าแม่ของเธอตรวจพบว่าติดโควิดเมื่อเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดคลัสเตอร์การระบาดที่ตลาดเทเวศร์


"แม่ติดโควิดก่อนจะที่จะถึงกำหนดนัดฉีดวัคซีนแค่ไม่กี่วัน" ฟ้าบอก และนี่เป็นสิ่งที่ยังคาใจเธออยู่จนถึงวันนี้ว่าถ้าแม่ได้ฉีดวัคซีนเร็วกว่านี้ก็อาจจะไม่ป่วยหนักจนถึงชีวิตก็ได้


หลังจากรู้ว่าติดเชื้อ ครอบครัวยอมเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ธิติกาญจน์ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน


เข้าโรงพยาบาลวันแรก ธิติกาญจน์ยังสดชื่นดี เธอถ่ายรูปห้องผู้ป่วยมาอวดลูกสาว แถมยังมีแรงสั่งซื้อของออนไลน์ให้ไปส่งที่บ้านเทเวศร์ ฟ้าและพี่ชายสบายใจว่าแม่คงไม่เป็นอะไรมาก แต่ผ่านไปราวหนึ่งสัปดาห์ ธิติกาญจน์อาการทรุดเพราะเชื้อลงปอด หมอให้ออกซิเจนทางจมูกก่อนจะเพิ่มระดับมาเป็นการให้ออกซิเจนแบบไฮโฟลว์ แต่อาการไม่ดีขึ้นจนต้องเข้าไอซียู

หมอโทรศัพท์หาฟ้าเพื่อแจ้งว่าจะให้ยารักษาตัวใหม่ที่ราคาค่อนข้างแพงและญาติต้องจ่ายเอง ฟ้าตอบตกลงอย่างไม่ลังเล เธอโล่งใจเมื่อแม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาตัวนี้ และได้ออกจากห้องไอซียูในอีกไม่กี่วันต่อมา

"พอออกมาอยู่ห้องปกติ แม่ดีใจมาก โทรศัพท์คุยกับฟ้าแล้วบอกว่าให้สั่งแฮมเบอร์เกอร์ร้านโปรดให้เขากินหน่อย"

แต่สถานการณ์ก็พลิกกลับในชั่วข้ามคืน ธิติกาญจน์อาการทรุดลงอีกอย่างรวดเร็วและต้องกลับเข้าห้องไอซียูอีกครั้ง

"ระหว่างที่อยู่ในไอซียู วันหนึ่งเขาไลน์มาเล่าว่าหมอบอกว่าโอกาสหายยาก แล้วแม่ก็บอกว่าอยากกลับไปตายที่บ้าน ฟ้าก็ปลอบเขาว่าแม่ไม่ตายหรอก เชื้อมันหมดแล้ว ปอดแม่แค่เสียหายเฉย ๆ แค่รอปอดมันฟื้นกลับมา"

หลังจากบทสนทนาทางไลน์ในวันนั้น ลูก ๆ ก็ไม่ได้รับโทรศัพท์จากแม่อีก และข้อความที่ส่งไปทางไลน์ แม่ก็ไม่อ่าน แล้ววันหนึ่งหมอก็โทรศัพท์มาบอกว่าจำเป็นต้องช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ

"ก่อนจะใส่ท่อช่วยหายใจแม่ก็โทรมาหา...ตอนนั้นเรารู้แล้วว่าถ้าใส่ท่อช่วยหายใจแล้วก็แทบไม่มีโอกาสได้คุยกันอีก ฟ้าก็เลยบอกไปว่าหนูรักแม่มาก ๆ ถ้าทำอะไรให้ได้ดีกว่านี้ก็อยากจะทำให้ ถ้าชาติหน้ามีจริง เราเกิดมาเป็นแม่ลูกกันอีกนะแม่นะ ตอนนั้นเขาก็ตอบแค่อือ ๆ อย่างเดียว แล้วฟ้าก็ถามว่าแม่มีอะไรอยากจะพูดมั้ย เขาบอกไม่มี หลังจากนั้นพ่อ พี่ชายและน้า ๆ ก็ผลัดกันพูดกับเขา เราวิดีโอคอลร่ำลากันได้แค่ 3-4 นาที หมอก็บอกว่าต้องช่วยชีวิตคนไข้แล้ว"

นภัสในวันเก็บอัฐิคุณแม่

ราว 5 วันหลังจากใส่เครื่องช่วยหายใจ ธิติกาญจน์มีสัญญาณชีพอ่อนลงเรื่อย ๆ โดยทางครอบครัวแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าไม่ประสงค์ให้ยื้อชีวิตผู้ป่วยด้วยการปั๊มห้วใจ ให้ยาพยุงชีพรหรือฟอกไต เพราะไม่อยากเพิ่มความทรมานในวาระสุดท้ายของชีวิต ช่วงสายของวันที่ 26 ก.ค. หมอโทรศัพท์มาบอกว่า "ใกล้ถึงเวลาแล้ว" และเปิดวิดีโอคอลให้ฟ้าส่งเสียงพูดกับแม่

"ฟ้าบอกแม่ว่าเดี๋ยวเราขึ้นไปไหว้พระบนห้องพระกันนะ แล้วก็บอกให้แม่คิดถึงสิ่งดี ๆ ที่แม่เคยทำ บอกแม่ว่าไม่ต้องห่วงฟ้ากับที่บ้าน พวกเราดูแลกันได้ ถ้าเหนื่อยแล้วก็ให้ไปได้เลย"

หลังจากนั้นไม่นาน หมอโทรกลับมาแจ้งว่าแม่จากไปอย่างสงบแล้ว รวมเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมด 47 วัน

"การบอกลากันผ่านวีดีโอคอลมันแย่ที่สุดแล้วอะ ไม่สามารถ move on ออกจากความรู้สึกนั้นได้เลย มันเหมือนเราไปส่งเค้าได้แค่นี้อะ เราทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้เลย ทำไม่ได้เลย" ฟ้า ซึ่งปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัวและเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.3 ล้านคน หลังการเสียชีวิตของแม่ราว 1 สัปดาห์

"จากวันที่รู้ว่าแม่ติดเชื้อ เราไม่คิดเลยว่ามันจะเดินทางมาถึงจุดนี้...(โควิด) เป็นโรคที่แทบไม่มีเวลาให้ผู้ป่วยและคนในครอบครัวได้เตรียมตัวก่อนอาการจะทรุดหนัก และสิ่งที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องการมากที่สุด ก็คือการได้นั่งอยู่กับเขาตรงนั้น ได้จับมือเขาไว้ ได้กอดเขาอีกสักที แต่อันนี้ศพก็ไม่ได้เห็น และเขาก็ต้องตายอย่างโดดเดี่ยวในโรงพยาบาล แล้วเราก็ต้องเผาศพวันนั้นเลย" ฟ้าบรรยายความรู้สึกให้บีบีซีไทยฟัง

"ทุกวันนี้ตื่นมาแล้วต้องบอกตัวเองให้ยอมรับความจริงว่าแม่ไม่อยู่แล้ว ไม่มีแม่ให้โทรหา ไม่มีโทรศัพท์จากแม่ ไม่มีแม่อยู่ดูเวลาที่เราทำงานสำเร็จ ไม่รู้ว่าเราจะหาเงินไปมาก ๆ ทำไมเพราะสุดท้ายแล้วคนที่เรารักมาก ๆ คนที่เราตั้งใจเก็บเงินไว้เพื่อที่จะดูแลเขาไม่อยู่ให้เราดูแลแล้ว"

Cr.BBC

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page