22 กุมภาพันธ์ 2567 - บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลประกอบการปี 2566 รายได้รวมจากธุรกิจหลักเติบโตดีขึ้นทั้งจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการออนไลน์ พร้อมยอดผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น มูลค่า Synergy ปี 2566 ได้เกินเป้าหมายจากการเร่งการดำเนินการตามแผนงานสำคัญต่างๆ โดย EBITDA เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกันเป็นผลมาจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม (Synergy) และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลประกอบการ ทรู คอร์ปอเรชั่น ปี 2566 นับว่าประสบความสำเร็จเกินคาด ด้วยจุดแข็งที่ผสมผสานกัน ส่งผลให้รายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น เรายังคงมุ่งมั่นที่จะส่งมอบคุณค่าและดำเนินการตามแผนบูรณาการและเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ทำให้สามารถบรรลุเกินเป้าหมายในการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมในปีนี้ โดยความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในปีที่ผ่านมาในการนำองค์กรใหม่สู่การสร้างวัฒนธรรมและแนวทางการทำงานที่เป็นหนึ่งเดียว พร้อมทั้งผสมผสานจุดแข็งในการดำเนินงานในธุรกิจ ทำให้เราเชื่อว่าทรู คอร์ปอเรชั่น พร้อมแล้วสำหรับการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรในปี 2567 อีกทั้งยังได้รับปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของการใช้งานข้อมูล และไลฟ์สไตล์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น
ในไตรมาสที่ 4 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ประสบความสำเร็จจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมสุทธิ (Net Synergies) คิดเป็นมูลค่า 1 พันล้านบาท จากการดำเนินการตามแผนงานสำคัญอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลดีต่อ EBITDA และงบลงทุน (CAPEX) อีกทั้งการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยได้เกินกว่าเป้าหมาย จึงส่งผลดีทั้งการประหยัดพลังงานและค่าเช่าพื้นที่ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบลงทุน (CAPEX) การรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมเป็นไปอย่างต่อเนื่องด้วยการนำเสนอการให้บริการที่รวมเทคโนโลยีด้านการสื่อสารทั้งในแบบเคลื่อนที่และประจำที่ (FMC) ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน ด้วยยอดผู้ใช้งานลูกค้าในกลุ่มนี้ที่เติบโต 16% นับตั้งแต่การควบรวมกิจการ โดยมี ARPU เพิ่มขึ้น 30% ในช่วงเวลาเดียวกัน ทรู คอร์ปอเรชั่น จะยังคงมุ่งมั่นที่ดำเนินการตามกลยุทธ์ที่สำคัญ โดยใช้จุดแข็งในการดำเนินการทางการตลาดแบบผสมผสานของเรา ดำเนินการตามแผนการบูรณาการ และบรรลุผลสำเร็จในการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมเพื่อส่งมอบคุณค่าสูงสุดให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา”
ด้วยความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า พร้อมทั้งนำเสนอมูลค่าเพิ่มเพื่อยกระดับไลฟ์สไตล์ดิจิทัลของลูกค้า แบรนด์ดีแทคและทรูยังคงเป็นผู้นำในกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยมียอดผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 0.5 ล้านเลขหมายจากไตรมาสก่อน คิดเป็น 1% ทำให้มียอดรวมเป็น 51.9 ล้านเลขหมาย ณ สิ้นปี 2566 ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 5G ครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ โดยครอบคลุมประชากร 90% พร้อมด้วยฐานผู้ใช้บริการ 5G ที่มากสุดถึง 10.5 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสที่ผ่านมา
นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่นรายงานผลประกอบการที่มีรายได้เติบโตต่อเนื่อง และ EBITDA เติบโตขึ้นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน ในขณะที่สามารถรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม (Synergy) ในปี 2566 ได้สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ รายได้รวมสำหรับไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้น 4.4% QoQ โดยได้แรงหนุนจากรายได้จากการให้บริการและจากการขายที่เพิ่มขึ้น รายได้จากการให้บริการไม่รวม IC (ตามการจัดประเภทรายการใหม่) สำหรับไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้น 2.0% QoQ มาจากรายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 2.3% และรายได้ธุรกิจออนไลน์เพิ่มขึ้น 2.5% จากไตรมาสที่ผ่านมา
รายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการเพิ่มขึ้นของการกลับมาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว พร้อมกับการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับฐานลูกค้าเดิม ส่วนการปรับขึ้นของรายได้ธุรกิจออนไลน์ได้รับแรงหนุนจากการเน้นการเพิ่มคุณภาพของการได้มาซึ่งผู้ใช้บริการ ด้วยการปรับข้อเสนอที่น่าสนใจและการตอบสนองที่ดีอย่างต่อเนื่องต่อการขายพ่วงของผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดภายหลังการควบรวมกิจการ ธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก (Pay TV) มีรายได้จากการให้บริการแบบบอกรับสมาชิก คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 28.7% QoQ จากการเปิดตัว iPhone ใหม่ในไตรมาสที่ 3/2566
สำหรับปี 2566 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A) ลดลง 11.2% จาก จากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมและการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในไตรมาสที่ 4/2566 เพิ่มขึ้น 3.9% จากไตรมาสที่ผ่านมา จากต้นทุนขายที่สูงขึ้น 24.5% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายได้จากการขายที่สูงขึ้น ทั้งนี้มีการควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนอื่นของการดำเนินงานเป็นอย่างดีจากการเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้างและการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม
กำไร EBITDA ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 4/2566 EBITDA เพิ่มขึ้น 5.0% นับเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกันที่มีการเติบโต และเพิ่มขึ้น 3 พันล้านบาทนับตั้งแต่การควบรวมกิจการ อนึ่ง การปรับเพิ่มของ EBITDA ในไตรมาสที่ 4/2566 จำนวน 1 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้มาจากเติบโตของรายได้ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดย 50% ของการเติบโตมาจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม ทั้งนี้ อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 55.4 % สำหรับใตรมาสที่ 4/2566
ในไตรมาสที่ 4/2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น บันทึกผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย และค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ จำนวน 10,899 ล้านบาท ส่งผลให้มีการขาดทุนสุทธิหลังหักภาษีสำหรับไตรมาส 4/2566 จำนวน 11,279 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ขาดทุนสุทธิหลังหักภาษีจะอยู่ที่ 379 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 1,219 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน เนื่องจาก EBITDA ที่เพิ่มขึ้นและกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) สำหรับไตรมาสที่ 4/2566 อยู่ที่ 12,631 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของงบลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากการควบรวม จำนวน 5.8 พันล้านบาทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย ซึ่งถูกชดเชยด้วยผลประโยชน์จากการควบรวม”
สำหรับการคาดการณ์ในปี 2567 บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น คาดว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จะมีการเติบโต 3-4% EBITDA จะมีการเติบโต 9-11% และค่าใช้จ่ายลงทุนรวมงบลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากการควบรวม หรือ CAPEX ประมาณการณ์ไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น คาดว่าจะสามารถทำกำไรภายหลังการปรับปรุง (Normalized) ได้ในปี 2567
ตัวเลขสำคัญทางการเงินในไตรมาส 4 ปี 2566
รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC (ตามการจัดประเภทรายการใหม่) จำนวน 40,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.0% (QoQ)
EBITDA อยู่ที่ 22,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.0% (QoQ)
อัตรากำไร EBITDA (เมื่อเทียบกับรายได้รวม) อยู่ที่ 55.4%
ขาดทุนสุทธิภายหลังการปรับปรุง (Normalized) จำนวน 379 ล้านบาท ปรับดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา 1,219 ล้านบาท
Comments