หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ณ อาคาร 3 ชั้น ย่านสำเพ็ง ถนนราชวงศ์ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บนับสิบ ไฟไหม้อาคารและรถเสียหาย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์หลักฐานหาสาเหตุนั้น อีกไม่กี่วันต่อมายังเกิดเหตุระทึกประกายไฟลัดวงจรหม้อแปลงไฟฟ้าใหญ่กว่าตัวเดิมที่ปากซอยวานิช 1 ซึ่งอยู่ห่างจากที่เดิม 50 เมตร แม้จะไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่เกิดคำถามจากประชาชนว่า ทำอย่างไรจะให้หม้อแปลงไฟฟ้าที่มีอยู่ทั่วเมืองนั้นอยู่กับเราได้อย่างมั่นคงปลอดภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวะมหิดล เผย 9 ข้อเสนอแนะแก้ไขแก่หน่วยงาน และ 6 ข้อแนะนำแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้หม้อแปลงไฟฟ้า
ในประเทศไทยใช้ หม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) เพื่อทำหน้าที่แปลงแรงดันไฟฟ้าแรงสูงให้เป็นแรงดันไฟฟ้าสำหรับการใช้งานในครัวเรือน 2 แบบ คือ 1) แรงดันไฟฟ้าแบบ 3 เฟส (Three - Phase Transformer) วัดแรงดันไฟฟ้าระหว่างเส้นที่มีไฟอยู่ที่ 380 โวลต์ และ 2) แรงดันไฟฟ้า 1 เฟส (Single - Phase Transformer) มีแรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์ ขนาดหม้อแปลงใหญ่เล็กแตกต่างกันไปสังเกตได้ที่ตัวเลขที่ติดไว้ด้านหน้าของหม้อแปลงเช่น ตัวเลข 500 จะหมายถึงพิกัด 500 เควีเอ (kVA) หรือ 500,000 วัตต์(ทางกระแสสลับ)
ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ทุกบ้านทุกเมืองทั่วไทยและทั่วโลกจนถึงทุกธุรกิจอุตสาหกรรมต่างก็หล่อเลี้ยงด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) นับเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำหน้าที่แปลงแรงดันหรือศักดาไฟฟ้าโดยทำหน้าที่เพิ่มหรือลด (Step up / Step down) ปรับแรงดันสูงมาเป็นแรงดันต่ำหรือเปลี่ยนแรงดันต่ำให้เป็นแรงดันสูงให้เหมาะสม เพื่อแจกจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปสู่บ้านเรือนของประชาชน โดยทั่วไปลักษณะหม้อแปลงมี 2 แบบ คือ 1. ระบายความร้อนแบบชนิดแห้ง (Dry Type) และ 2. ระบายความร้อนแบบใช้น้ำมัน (Oil Type) มีครีบระบายความร้อนรอบนอกตัวถัง ซึ่งภายในจะมีถังขนาดใหญ่บรรจุน้ำมัน โดยยังแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยคือ ชนิดน้ำมันติดไฟได้ ทำจาก Mineral Oil และ ชนิดติดไฟยาก (Less Flammable) มีขดลวดทองแดง (Winding) 2 – 3 ขดขึ้นกับจำนวนเฟสที่ใช้งาน
หม้อแปลงที่ติดตั้งนอกอาคารมักจะเป็นแบบใช้น้ำมันซึ่งมีราคาถูกกว่า เนื่องจากหม้อแปลงไฟฟ้าต้องทำงานตลอดเวลาจึงจำเป็นต้องมี “น้ำมันหม้อแปลง” คอยทำหน้าที่เป็นฉนวน ป้องกันไม่ให้ขดลวดมาชนกันจนเกิดการลัดวงจรไฟฟ้า และยังเป็นตัวช่วยระบายความร้อนภายในหม้อแปลง ปัจจุบันทั่วกรุงเทพและปริมณฑลมีหม้อแปลงไฟฟ้าระบบใช้น้ำมันหลายหมื่นลูก โดย 154 ลูกอยู่ในกรุงเทพชั้นในหม้อแปลงไฟฟ้าจะเสื่อมประสิทธิภาพไปตามอายุและการใช้งาน โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนที่ประชาชนมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากกว่าปกติ อาจเกินกำลังของหม้อแปลงไฟฟ้า (Overload) ยิ่งทำให้เกิดความร้อนสะสมและมีแรงดันภายในหม้อแปลงสูงเกินไป กลไกระบบรักษาความปลอดภัยจะปล่อยแก๊สและของเหลวออกมา ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดไฟลุกไหม้เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนที่อยู่ในอากาศภายนอก
ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล สรุป 9 ข้อเสนอแนะทางวิศวกรรมแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยจากหม้อแปลงไฟฟ้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้
1.ควรเปลี่ยนเป็นหม้อแปลงไฟฟ้าระบบ Dry Type ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่สามารถติดตั้งนอกอาคารบนนั่งร้านได้ แม้ราคาจะสูงกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบน้ำมัน แต่มีความปลอดภัยและคุ้มค่ากับการลงทุนในระยะยาว
2.ในพื้นที่ซึ่งมีความหนาแน่นของชุมชน การติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใกล้กับผนังอาคารสิ่งปลูกสร้างมากเกินไป ควรมีการติดตั้ง “แผ่นกั้นกันไฟ” ที่จะเข้าสู่อาคารจากเหตุหม้อแปลงระเบิดหรือไฟลุกไหม้ และไม่ควรใช้หม้อแปลงขนาดใหญ่เกินกว่า 250 kVA เพื่อลดความรุนแรงหากเกิดการระเบิดของหม้อแปลง
3. หม้อแปลงไฟฟ้าที่มีอายุเกิน 20 ปี ควรได้รับการบำรุงรักษาที่เร็วกว่ากำหนดและตรวจสอบเป็นพิเศษ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการดูแลปีละ 1 ครั้ง แม้อายุการใช้งานของหม้อแปลงจะกำหนดอยู่ที่ราว 25 ปี ก็ควรปลดระวางการใช้งาน “ก่อน”นั้น
4. ควรมีการเปลี่ยนน้ำมันหม้อแปลงเป็นระยะ ซี่งน้ำมันหม้อแปลงใช้เป็นฉนวนป้องกันการลัดวงจรภายในหม้อแปลงไฟฟ้าและเป็นตัวช่วยถ่ายเทระบายความร้อนระหว่างขดลวดภายในหม้อแปลงกับอากาศภายนอก น้ำมันซึ่งเมื่อเจอความร้อนสะสมเป็นเวลานานจะเกิดการเสื่อมสภาพ ทำให้ประสิทธิภาพในการเป็นฉนวนและถ่ายเทระบายความร้อนลดลงไป
5.พัฒนา “ระบบเครือข่ายควบคุมอัจฉริยะและรายงานความปลอดภัยได้ 24 ชม.” โดยทุกหม้อแปลงติดตั้ง Sensorตรวจวัดอุณหภูมิของขดลวดและคุณสมบัติภายในของหม้อแปลงแบบเรียลไทม์ (Real Time) ประยุกต์เทคโนโลยีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) เพื่อส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุมของการไฟฟ้านครหลวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้งประชาชนบริเวณใกล้เคียงผ่านโทรศัพท์มือถือและเสียงไซเรนเตือนภัยที่หม้อแปลงได้ทันเวลา
6.ไม่ควรใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าเต็มพิกัดกำลัง มาตรฐานควรอยู่ราว 80% เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 500 kVA ควรใช้งานเพียง 400 kVA เพื่อความปลอดภัย
7. ควรกั้นรั้วหรือทาสีบริเวณพื้นและติดป้ายเตือนไม่ให้หาบเร่แผงลอยหรือประชาชนอยู่ใกล้หรือจอดรถบริเวณที่มีการติดตั้งหม้อแปลง และแสดงเบอร์โทรสายด่วนเพื่อติดต่อแจ้งเหตุต่อการไฟฟ้าอย่างชัดเจนติดอยู่ที่หม้อแปลง
8. ระมัดระวังไม่ให้สายสื่อสารหรือสายไฟอื่นๆ ใกล้หม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งอาจเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดการลุกลามได้ ส่วนในการดับเพลิงจากเหตุน้ำมันหม้อแปลง ควรใช้ชนิดสารเคมีในการดับเพราะหากใช้น้ำจะทำให้เพลิงยิ่งรุนแรงขึ้น
9. ควรนำสายสื่อสารและระบบไฟฟ้าลงดินโดยเริ่มจากย่านธุรกิจ ชุมชนใจกลางเมืองที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่น
ส่วน 6 ข้อแนะนำลดความเสี่ยงสำหรับประชาชนที่อยู่ใกล้กับหม้อแปลงไฟฟ้า มีดังนี้
1. ควรปิดประตู หน้าต่าง ด้านที่อยู่ติดกับหม้อแปลงไฟฟ้า และติดตั้งวัสดุป้องกันไฟไหม้
2 อาคารร้านค้าควรติดตั้งระบบดับเพลิงที่ใช้สารเคมีที่ใช้ดับไฟจากไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานและตรวจสอบความพร้อมใช้งานเสมอ
3. หมั่นสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้าหากมีความผิดปกติ หรือควันลอยออกจากหม้อแปลงไฟฟ้า ให้แจ้งการไฟฟ้าด่วน
4. ไม่ควรทำกิจกรรมหรือจอดรถใกล้กับบริเวณที่มีหม้อแปลงไฟฟ้า
5.จัดอบรมและซักซ้อมการอพยพหนีไฟในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก ปฏิบัติถูกต้อง และลดการสูญเสีย
6. เจ้าของอาคารบ้านเรือนควรพิจารณากรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเพื่อคุ้มครองเหตุอันคาดไม่ถึง
ความคิดเห็น