มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานศตวรรษที่ 21
วันที่28 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกิจกรรมนำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบายภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (หลักสูตร ป.ย.ป.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า รองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐในส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องจูปิเตอร์ 4-6 ชั้น 1 อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นายกรัฐมนตรีรับฟังการนำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการในเชิงบูรณาการตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และหมุดหมายจาก (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ตามลำดับ ดังนี้ 1) การพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดย พลเอก สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นำเสนอต้นแบบนโยบาย “การสร้างกลไก พื้นที่ เวที หรือ Platform การเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองเพื่อการพัฒนาประเทศ” 2) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและลดความเสี่ยงจากอุทกภัย โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยการน้ำแห่งชาติ นำเสนอต้นแบบนโยบาย “การสร้างตัวแบบนโยบาย และขยายผลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” และ 3) การพัฒนาสมรรถนะทุนมนุษย์เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต โดยนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นำเสนอต้นแบบนโยบาย “การสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะสำคัญของกำลังคนในอนาคต” โดยจะมีการนำต้นแบบนโยบายดังกล่าวไปปรับปรุง พัฒนา และใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติที่เน้นการทำงานเชิงบูรณาการในการปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมผ่านการปฏิบัติจริง และเป็นการพัฒนาทักษะสมรรถนะของข้าราชการให้เป็นข้าราชการแห่งศตวรรษที่ 21 ต่อไป จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม กล่าวให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เน้นย้ำการเปิดพื้นที่หรือเวทีหรือแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมและยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ไม่มีการตัดสิน เปิดโอกาสให้ทุกคนเรียนรู้และหาวิธีการแก้ไขด้วยตัวเอง มีเวทีเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ " การนำเสนอผลการพัฒนาต้นแบบนโยบายภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นโอกาสดีในการหารือเพื่อวางแนวทางการพัฒนาและกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการร่วมมือกันระหว่างกระทรวง ลดการทำงานแนวดิ่ง หรือการทำงานแบบไซโล เพิ่มการทำงานแนวราบ และขับเคลื่อนร่วมกันทั้งองคาพยพ ซึ่งหัวใจของการทำงานในปัจจุบัน ต้องมีการปรับตัวและปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้พร้อมเผชิญกับความผันผวนไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการเกิดโรคอุบัติใหม่" ...ความท้าทายสำหรับประเทศไทยคือการทำให้ประเทศเติบโตได้บนความสมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยรัฐบาลได้นำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม BCG Model เป็นหลักในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางธรรมชาติ และร่ำรวยวัฒนธรรมที่เป็น SOFT POWER หากต่อยอดขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย จะทำให้เศรษฐกิจ BCG เติบโต และสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก.... นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นและจริงใจอย่างยิ่งในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศชาติในทุกมิติ ให้มีความเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาอารยประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน ให้ได้รับโอกาสการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งนอกจากนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่มีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ พร้อมตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญสูงสุดกับการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 และเป็นพลเมืองคุณภาพที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและคำนึงถึงสังคมผู้สูงอายุควบคู่ไปด้วย นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเร่งลงทุนเพื่ออนาคต ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โทรคมนาคม ดิจิทัล 5G ซึ่งจะรองรับการเชื่อมโยงกันของคน แรงงาน ข้อมูล ความรู้ และเงิน ส่งเสริมการค้าการลงทุนให้กระจายตัวไปสู่ทุกพื้นที่ของประเทศ เปลี่ยนยุค “รวยกระจุก จนกระจาย” ให้กลายเป็นประชาชนมีความสุข มีรายได้ดี ตลอดจนการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมยุคใหม่ให้เป็น Smart Farmer และผลักดัน 12 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน เป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะต้องร่วมมือกัน โดยส่วนราชการเป็นฟันเฟืองใหญ่และมีความสำคัญในการดำเนินการ ตั้งแต่การวางนโยบายจนถึงขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ การให้บริการประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม ซึ่งเป็นโอกาสดีที่โครงการฯ เปิดโอกาสให้ระดับผู้บริหารได้ทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ บูรณาการทำงานจนสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งการพัฒนาต้นแบบนโยบายฯ เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต มีความเชื่อมโยงกับแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บท และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการขับเคลื่อนกลไกภาครัฐในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แบบบูรณาการกันต่อไป นายกรัฐมนตรีกำชับขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการปฏิบัติ ได้แก่ สทนช. เร่งพัฒนาการแจ้งเตือนภัยด้านน้ำให้เสร็จโดยเร็ว และให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลพัฒนา Application ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลสินค้า การท่องเที่ยว เกษตร และการเตือนภัย นอกจากนี้ ขอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการบูรณาการระดับพื้นที่ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยควรนำตัวแบบนโยบายจากอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ไปขยายผลการทำงานให้ครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ 76 จังหวัด 878 อำเภอ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้ง และอุกทกภัยในอนาคต ซึ่งปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก หากสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและส่งผลดีกับประชาชน พร้อมเน้นย้ำให้ทุกคน ทุกฝ่ายช่วยกันทำงานเชื่อมโยงและสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานด้วย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการกำหนดนโยบาย ที่ควรร่วมรับฟังปัญหาจากกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ประสบปัญหาโดยตรงอย่างแท้จริง ดังนั้นการทดสอบต้นแบบนโยบายฯ จึงควรนำไปทดสอบกับพื้นที่หรือสถานการณ์จริง เมื่อได้ต้นแบบที่เหมาะสมแล้วให้มีการถอดบทเรียนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทที่เหมาะสมต่อไป เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ตรงจุด และขอให้การทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันในหลักสูตรฯ “เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่สิ้นสุด” ยังคงร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทุกภารกิจสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยนำหลักการและแนวทางที่ได้รับไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปฏิบัติงานภาครัฐ ที่เน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนนำกระบวนนวัตกรรมเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ไปต่อยอดและขยายผลในการกำหนดนโยบายเรื่องอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป รวมทั้งให้มีการนำความรู้และรูปแบบการทำงานใหม่ ๆ ไปขยายผลให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างความเข้มแข็งให้ประเทศชาติและประชาชน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป และขอให้มีการรายงานความก้าวหน้าพร้อมสรุปผลการดำเนินการ รวมถึงรายงานผลการนำต้นแบบนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แก่สำนักงาน ป.ย.ป. เป็นระยะด้วย ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีชื่นชมและกล่าวขอบคุณปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการทุกระดับ ผู้เข้าร่วมหลักสูตรฯ รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ให้ความสำคัญและบูรณาการการบริหารราชการแผ่นดินและการทำงานระหว่างกระทรวงโดยการหารือและกำหนดทิศทางร่วมกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่กระบวนการคิด กระบวนการทำให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริงเป็นรูปธรรม รวมถึงการใช้นวัตกรรมรูปแบบใหม่ในการกำหนดนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้นจากกระบวนการ Policy Lab จนสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ก่อนการรับฟังผลการพัฒนาต้นแบบนโยบายฯ นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการการสร้างกลไกพื้นที่เวทีหรือแพลตฟอร์มการเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองเพื่อการพัฒนาประเทศโดยการเปิดพื้นที่กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ชมต้นแบบนวัตกรรมเทคโนโลยีบริหารจัดการข้อมูลน้ำแบบองค์รวมพร้อมระบบการสื่อสารแบบสองทางเพื่อประชาชน การสร้างตัวแบบและการขยายผลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ การพัฒนาทักษะสำคัญของกำลังคนในอนาคตเพื่อค้นหาทักษะสมรรถนะที่สำคัญสำหรับคนไทยโดยเฉพาะวัยแรงงานและพัฒนากลไกในการสร้างความร่วมมือสำหรับทุกภาคส่วนตามกระบวนการ Design Thinking และชมกระบวนการศึกษาการพัฒนาทักษะสำคัญด้าน EV ของกำลังคนในอนาคต
Comments