สิ่งแวดล้อม
วันที่ 30 พ.ค. 65 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามผลการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Net-Zero Carbon Emission ของประเทศไทยให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 ตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้แล้วต่อการประชุม COP26
ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างพลังงานลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงขยายแนวคิดการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานทดแทนในทุกภาคส่วน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) โดยกำหนดแผนที่จะผลิตรถยนต์ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ของการผลิตในปี 2573 ทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถบัส และรถบรรทุก ซึ่งมีแผนระยะสั้นและระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม ตลอดจนออกมาตรการสนับสนุนสร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อีกด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน เป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยรัฐบาลมีแผนในการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2579 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์พืชที่เหมาะกับการดูดซับก๊าซเรือนกระจกสูงต่อพื้นที่หลายชนิด นอกจากนี้ รัฐบาลได้พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย โดยกำหนดแนวทางและกลไก การบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคเอกชน ชุมชน และท้องถิ่นก็จะมีรายได้จากการปลูกป่าต้นไม้ ที่เข้าร่วมโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตต่อไป
“สถานการณ์พลังงานขณะนี้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ขอให้ทุกคนร่วมมือกันประหยัดพลังงานควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนต่อปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเฝ้าติดตามการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการสร้างสังคมคาร์บอร์ต่ำและยั่งยืนทุกมิติ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำ
Comments