top of page

นายกฯ ร่วมประชุมในหัวข้อ"Partners for Co-creation and Economy and Society of the Future"

ย้ำ 3 ประเด็นสำคัญ การเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล และ ความร่วมมือด้าน e-commerce


(17 ธันวาคม 2566) เวลา 12.50 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชม. ณ โรงแรม Okura Tokyo นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมฯ ช่วงที่ 2 การหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ในหัวข้อ Partners for Co-creation and  Economy and Society of the Future ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) ก่อให้เกิดศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน และเกิดความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างคู่แข่งได้ ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และคาดว่าอาเซียนเองจะมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ในปี 2573 ซึ่งอาเซียนและญี่ปุ่นมีศักยภาพอย่างมากที่จะร่วมสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น ดังนี้ 

 

ประการแรก การเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (seamless connectivity) เป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพ และส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ประเทศไทยสนับสนุน ASEAN-Japan Comprehensive Connectivity Initiative เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางกายภาพ ดิจิทัล และความรู้ การลงทุนเกือบ 3 ล้านล้านเยนของญี่ปุ่นในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพในอาเซียนถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของญี่ปุ่น และไทยสนับสนุนให้มีการลงทุนมากยิ่งขึ้นในอนาคต 

 

โดยสิ่งสำคัญอันดับแรกคือ การสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการขนส่งและโลจิสติกส์ที่คุ้มทุนมากขึ้น ซึ่งโครงการ Landbridge ของไทย ถือเป็นวิสัยทัศน์ในการพัฒนาความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค และไทยยินดีต้อนรับนักลงทุนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ 

 

ประการที่สอง การเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (advance green economy and accelerate energy transition) ทั้งสองฝ่ายสามารถได้ประโยชน์จากการแบ่งปันความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากกัน การเปลี่ยนผ่านนี้อาจก่อให้เกิดต้นทุน แต่ก็เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ได้อีกด้วย ไทยจึงขอเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในการพัฒนาระบบนิเวศ EV ในอาเซียน โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านยานยนต์มายาวนานในอุตสาหกรรมนี้  

 

ไทยสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและด้านเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงไฮโดรเจน และแอมโมเนียมากขึ้น และไทยยังส่งเสริมการเงินสีเขียวเพื่อความยั่งยืนอย่างแข็งขัน ผ่านมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) และการออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond)  

 

ประการที่สาม การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (digital transformation) ถือเป็นตัวเปลี่ยนสถานการณ์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง และเพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและบูรณาการ ปัจจุบันอาเซียนกำลังศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ที่ถือเป็นกรอบข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก และด้วย DEFA คาดว่าอาเซียนจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค 2 เท่าเป็น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 

 

ไทยยินดีร่วมมือญี่ปุ่นด้าน e-commerce รวมถึงเรื่องการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดน (cross-border data flows) การปกป้องข้อมูล และการกำกับดูแล AI เพื่อช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ไทยเชื่อมั่นว่า เหล่านี้จะเป็นกลไกการเติบโตใหม่ เพื่อสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติของเราในอนาคต 


นายกฯ เน้นย้ำ “ความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ” “Heart-to-heart” partnership

ในความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนระดับประชาชนที่ใกล้ชิด

อนึ่ง เมื่อเวลา 11.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชม.) ณ โรงแรม Okura Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษฯ ช่วงที่ 2 การหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ภายใต้หัวข้อ “Heart to Heart Partners across Generations” โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้  

 

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ (Heart-to-Heart Partnership) ผ่านการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน ทั้งในด้านการศึกษาและวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ญี่ปุ่นถือเป็นพันธมิตรที่ไทยให้ความไว้วางใจอย่างมาก โดยเฉพาะการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างประชาชน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเห็นว่า การสร้างความร่วมมือระหว่างรุ่นสู่รุ่นที่แท้จริงในอนาคต จะต้องคำนึงถึงค่านิยมและทัศนคติที่แตกต่างกันของคนหนุ่มสาว รวมถึงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนด้วย  

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมมิตรภาพและสร้างความประทับใจในญี่ปุ่นให้กับทั้งเยาวชนไทยและอาเซียน รวมถึงแอนิเมชันญี่ปุ่น ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ชมได้จากรุ่นสู่รุ่น สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมความเข้าใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และปลูกฝังค่านิยมเชิงบวก โดยนายกรัฐมนตรีเติบโตมาพร้อมกับตัวการ์ตูนหน้ากากเสือ (Tiger Mask) และกาโม่มนุษย์กายสิทธิ์ (Specter-man) ซึ่งถือเป็นซูเปอร์ฮีโร่กลุ่มแรก ๆ ของโลก ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่หลายคนในการมุ่งมั่นทำงานเพื่อโลกที่ดีขึ้นและสงบสุข 

 

รัฐบาลไทยตระหนักถึงศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ Soft Power ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไทยมีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่กำลังเติบโต ทั้งการออกแบบ แฟชั่น อาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะการแสดง เกม และการสร้างเนื้อหาดิจิทัล ทั้งนี้ ไทยพร้อมมีความร่วมมือกับญี่ปุ่นและอาเซียนในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม  

 

ความร่วมมือด้านการศึกษาและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน เช่น โครงการ Japan East-Asia Network of Exchange for Students and Youths (JENESYS) และโครงการที่ริเริ่มใหม่ Partnership to Co-create a Future with the Next Generation (WA Project 2.0) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ความร่วมมือดังกล่าวควรได้รับการส่งเสริมให้เข้มแข็ง เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต และยินดีที่ญี่ปุ่นบริจาคเงิน 4 หมื่นล้านเยน เพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นนี้ 

 

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการก้าวไปข้างหน้า พร้อมกับการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจต่อไป เพื่อเพิ่มความเข้าใจอันดีต่อกันที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป 

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page