ทุกวันคือวันแห่งการทำลายสถิติ แต่นี่ไม่ใช่สถิติที่น่ายินดี เพราะโลกของเรากำลังทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดอีกครั้ง เช่นเดียวกับทุกๆ วันที่ผ่านมาในปีนี้ สถานการณ์ "โลกเดือด" ไม่ใช่เพียงวลีที่ใช้เรียกร้องความสนใจอีกต่อไป แต่เป็นวิกฤตการณ์ที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเราทุกคนอย่างน่าตกใจ
"จากนี้เป็นต้นไป จะไม่มีวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยลดลงอีกแล้ว เรากำลังก้าวเข้าสู่พื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยมีตำราเล่มใดเคยกล่าวไว้มาก่อน" นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ และอดีตรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อดีตรัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวไว้การบรรยายในหัวข้อ "น้ำจะท่วมกรุงเทพ...กี่โมง?" ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการตามรอยพระราชา จัดโดย มูลนิธิธรรมดี ร่วมกับองค์กรภาคี ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สมาคมนักเรียนเก่า เอเอฟเอส ประเทศไทย และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เมื่อเร็วๆ นี้
นายวีระศักดิ์ ให้ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่ยืนยันว่า ปี 2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกข้อมูล โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.45 องศาเซลเซียส และแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปในปี 2024 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบอุณหภูมิแบบวันต่อวันกับปี 2023 จะพบว่า ปี 2024 อุณหภูมิในแต่ละวันสูงขึ้นทุกวันเมื่อเทียบกับอุณหภูมิในปี 2023 นี่คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า โลกของเรากำลังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง
ผลกระทบของภาวะโลกร้อนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ตัวเลขบนเทอร์โมมิเตอร์ แต่ยังส่งผลต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างรุนแรง นายวีระศักดิ์ ยังได้ยกตัวอย่างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบนิเวศต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ปัญหาปะการังฟอกขาว ที่เกิดขึ้นในปี 2553 และเป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเตรียมรับมือ และช่วยกันรักษาระบบนิเวศน์ทางทะเล
ความท้าทายที่ใหญ่หลวงนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ประเทศไทย แต่เป็นวิกฤตระดับโลก การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือที่เร็วขึ้นส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม และบางประเทศได้เริ่มมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้แล้วเช่นเดียวกัน สำหรับประเทศไทย นายวีระศักดิ์ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงในระยะยาว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางบางส่วนที่อาจจมหายไปใต้น้ำภายในเพียงไม่กี่ชั่วอายุคน พร้อมกับเตือนว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้ปรากฏการณ์ลานีญาส่งผลกระทบต่อประเทศไทยรุนแรงขึ้น
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นความจริงที่ลูกหลานของเราอาจต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้
ในงานเดียวกันนี้ ยังมีการบรรยายในหัวข้อ "โลกเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน: กลยุทธ์ปรับตัวสู่สุขภาพดีในยุคโลกเดือด" โดย ศาสตราจารย์ ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเมื่ออุณหภูมิโลกเปลี่ยน โดยเน้นย้ำว่าปัญหาโลกร้อนล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า หรือการปล่อยมลพิษที่มีสารเคมี และสารก่อมะเร็ง
ดร.พิเชษฐ์ เสริมแนวคิด "ใช้ธรรมชาติ รักษา ธรรมชาติ" เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก เน้นย้ำว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่เพียงช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของเราโดยตรงอีกด้วย
วันนี้ วิกฤตโลกเดือดไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นความจริงที่เราทุกคนต้องเผชิญและหาทางรับมือร่วมกัน การตระหนักรู้ ปรับตัว และลงมือทำอย่างจริงจังคือหนทางเดียวที่จะช่วยให้เราและลูกหลานมีอนาคตที่ยั่งยืนบนโลกใบนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องหันมาใส่ใจ และร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่ออนาคตของเรา และโลกใบนี้
โครงการตามรอยพระราชา ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 โดยเป็นการเผยแพร่ศาสตร์ของพระราชา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมด้วยคุณธรรม 5 ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ 17 เป้าหมาย ภายในปี 2030
Comments