top of page

ปตท. คว้า 7 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ตอกย้ำความสำเร็จต่อเนื่องปีที่ 18


วันที่ 31 มกราคม 2567 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2566 ให้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดยนายกฤษณะ บุญยะชัย ประธานกรรมการตรวจสอบ พร้อมด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ นำคณะผู้บริหารรับรางวัล รวม 7 รางวัล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล


              นายอรรถพล กล่าวว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของ ปตท. ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติเปรียบเสมือนเครื่องหมายยืนยันความสำเร็จและความตั้งใจในการดำเนินงานที่สอดรับกับกลยุทธ์และพันธกิจการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ ควบคู่กับดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล ภายใต้การบริหารจัดการอย่างโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล” สำหรับรางวัลที่ ปตท. ได้รับในครั้งนี้ ประกอบด้วย

1. รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น (เกียรติยศ) มอบให้คณะกรรมการ ปตท. ที่มุ่งมั่นและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร

2. รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (เกียรติยศ) จากการบริหารจัดการเป็นเลิศ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบสนองและเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะวิกฤตต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

3. รางวัลพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการ และพัฒนาองค์กร ในมิติต่างๆ รวมทั้งใช้วางแผนและปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและการปฏิบัติงาน

4. รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน ผ่านการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนใน 3 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแลที่ดี รวมทั้งในปีที่ผ่านมา ปตท. ได้เริ่มต้นโครงการปลูกป่าอีก 1 ล้านไร่ โดยปลูกไปแล้วกว่า 86,173 ไร่ พร้อมมุ่งบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี ค.ศ. 2050

5. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรม: เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนไมโครสเกล (PTT MicroHX) เป็นตัวกลางถ่ายเทความร้อนระหว่างของไหล 2 ชนิดที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน ซึ่งเครื่อง PTT MicroHX เป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขนาดเล็กลง 4 เท่า และราคาถูกลงถึง 30%

6. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์: กระบวนการผลิตโซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO3) จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นกระบวนการใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง นำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ฯลฯ

7. รางวัลการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น (ชมเชย) “โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชน ตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่” ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2544 ต่อยอดสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับการจัดการทรัพยากรและเศรษฐกิจชุมชน ช่วยเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นต้นแบบ “ศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ระบบอัจฉริยะ” อีกด้วย

"ขอขอบคุณ ทุกภาคส่วนที่ทำให้ ปตท. ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศในวันนี้ ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ จะยังคงมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรที่ดีต่อสังคม ขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป”  นายอรรถพลฯ กล่าวในตอนท้าย

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page