top of page

ปทุมมาแรง!การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปี65 ลุ้นบางกะดีมุ่งสู่ระดับ5"เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม"

อัปเดตเมื่อ 20 มี.ค. 2565

ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดและไม่เคยมีจังหวัดใดได้รับมาก่อน หลังจากปี 2563 อยู่ระดับ 2 ถัดมาปี2564 ก้าวสู่ระดับ 4 ขณะผู้บริหารจังหวัดและภาคีเครือข่ายปทุมธานี จับมือแน่นร่วมพัฒนาอย่างจริงจัง ล่าสุดประธานฯถึงกับเดินสายประชุม 2 วัน2 เวที “บางกะดี-ลาดหลุมแก้ว”


เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่ตำบลบางกะดี ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม บริษัท สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี มีนายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอเมืองปทุมธานี นายธวัชชัย อึ้งอัมพรวิไล นายกเทศมนตรีเมืองบางกะดี นางพรอัปสร นิลจินดา ประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานี ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเขตพื้นที่สวนอุตสาหกรรมบางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี


และต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม 2565 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ได้จัดประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่อำเภอลาดหลุมแก้ว เฉพาะเขตพื้นที่ตำบลคูขวาง ตำบลคูบางหลวง ตำบลระแหง ตำบลลาดหลุมแก้ว และตำบลหน้าไม้ ครั้งที่ 1/2565 โดยนายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย นายวีระ นันทเศรษฐ์ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและแผนงาน นายมนิตย์ สิทธิดำรงค์ หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และนายเฉลิมพล โคตรมี วิศวกรชำนาญการ ตลอดจนภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เช่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี เครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดปทุมธานี ฯลฯโดยมีนายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานในที่ประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคาร เดอะไวท์ แวร์เฮ้าส์ ลาดหลุมแก้ว เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสัมฤทธิ์ผลนำไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามแนวทางแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของจังหวัดปทุมธานีให้สอดคล้องตามตัวชี้วัดต่อไป



“การประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่อำเภอลาดหลุมแก้ววันนี้ มีผู้แทนนายอำเภอ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในส่วนของพื้นที่ลาดหลุมแก้วเป็นพื้นที่เปิด มีผู้ประกอบการหลากหลายพื้นที่ ทำให้การขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอาจล่าช้ากว่าสวนอุตสาหกรรมบางกะดีเล้กน้อย"

โดยนายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 31 มีนาคม 2556 มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 15 จังหวัด และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 มีนาคม 2559 เห็นชอบให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นเครื่องมือหลักในการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขระหว่างชุมชนและอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากร อย่างคุ้มค่า หมุนเวียนการใช้ของเสียกลับมาเป็นทรัพยากร และลดการเกิดของเสีย โดยใช้เทคโนโลยีสะอาด ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือกันระหว่างโรงงาน ชุมชน และภาครัฐ


การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town : EIT) ตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องและเชื่อมโยงตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31มีนาคม 2556 และ 8 มีนาคม 2559 ประกอบกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนที่ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ เพื่อบรรลุตัวชี้วัดเป้าหมายแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เพื่อให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จำนวน 15 จังหวัด (จังหวัดระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี นครปฐม สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สงขลา ขอนแก่น นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และปทุมธานี)


สำหรับระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 5 เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม (เป็นระดับสูงสุด)

ระดับที่ 4 การพึ่งพาอาศัย

ระดับที่ 3 ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร

ระดับที่ 2 การส่งเสริม

ระดับที่ 1 การมีส่วนร่วม (เป็นระดับต่ำสุด)


จังหวัดปทุมธานีกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 2 พื้นที่ ประกอบด้วย

1) พื้นที่ที่หนึ่ง ตำบลบางกะดี อำเภอเมืองปทุมธานี

2) พื้นที่ที่สอง อำเภอลาดหลุมแก้ว 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลคูขวาง ตำบลคูบางหลวง ตำบลระแหง ตำบลลาดหลุมแก้ว และตำบลหน้าไม้


นายธวัชชัย อึ้งอัมพรวิไล นายกเทศมนตรีเมืองบางกะดี กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่ตำบลบางกระดี เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของจังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นการสร้างความเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและเสถียรภาพของท้องถิ่นและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยรอบพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดี่ยวกันในเชิงพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างโรงงานต่างๆ ในพื้นที่กับสิ่งแวดล้อมโดยรวมและระบบนิเวศท้องถิ่น ควรเพิ่มช่องทางการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมนิเวศในทุกช่องทาง เช่น สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เสียงตามสาย สถานีวิทยุ ประชาสัมพันธ์ สื่อสารผ่านผู้นำชุมชน


" หัวใจการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ คือ การมีส่วนร่วม ควรมีทุกระดับต้องมีการวางแผนเช่นการจัดการขยะ การจัดการน้ำทิ้ง คุณภาพแหล่งน้ำสาธารณะ โดยมีการบริหารจัดการน้ำทิ้งจากทุกแหล่งกำเนิด เพื่อให้ชุมชนได้รู้ ว่าการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มิได้พัฒนาเฉพาะโรงงานแต่ต้องพัฒนาชุมชนด้วย และมีประโยชน์ต่อชุมชนอย่างไร"


การจัดกิจกรรม CSR ควรเกิดความร่วมมือระหว่างโรงงานและชุมชนโดยมีจุดประสงค์ เพื่อประโยชน์ต่อชุมชน การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน


“ประโยชน์ของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต่อท้องถิ่น คือ สร้างความเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและเสถียรภาพให้กับท้องถิ่น พร้อมไปกับ ความเป็นอยู่ที่ดีของประขาชนโดยรอบ พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในเชิงพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างโรงงานต่าง ๆ ในพื้นที่กับสิ่งแวดล้อมโดยรวม และระบบนิเวศท้องถิ่น และขยายตัวการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเชื่อมต่อจากระดับตำบล เป็นอำเภอจนกระทั่งเป็นระดับจังหวัด”


อนึ่ง ความคืบหน้าการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดปทุมธานี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 161,572 ตารางกิโลเมตร. แบ่งเป็นพื้นที่ ลาดหลุมแก้ว 151,105 ตารางกิโลเมตร . และบางกะดี 10,467 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 487 แห่งใน2พื้นที่(ดูรายละเอียดจากตาราง)


เมื่อปี2563 การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดปทุมธานี อยู่ในระดับที่ 2 ( การส่งเสริม=Enhancement) แต่เมื่อปี 2564 พื้นที่สวนอุตสาหกรรมบางกะดี ได้รับการตรวจประเมินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ 4 (การพึ่งพาอาศัย= Symbiosis ) ส่วนพื้นที่ลาดหลุมแก้ว ยังรั้งอยู่ที่อันดับ 2 เช่นเดิม อาจเพราะเป็นพื้นที่เปิด มีขนาดกว้างใหญ่ ครอบคลุมถึง 5 ตำบล 47 หมู่บ้าน


จากการเอาใจใส่ของผู้บริหารทุกฝ่ายในจังหวัด ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันจริงจังมากขึ้นในปีนี้ จึงตั้งความหวังว่า บางกะดี อาจได้รับการตรวจประเมินรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ 5 ในปี 2565 แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดปทุมธานี ครั้งที่ 1/2565 เพื่อให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดปทุมธานี ประจำปีงบประมาณ 2565 จะให้คงพื้นที่ตำบลบางกะดี รักษาระดับการรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมนิเวศ ระดับ 4 ไว้ต่อไปเป็นอย่างต่ำ


ส่วนพื้นที่อำเภอลาดหลุมแก้ว (ตำบลคูขวาง ตำบลคูบางหลวง ตำบลระแหง ตำบลลาดหลุมแก้ว และตำบลหน้าไม้) จะยกระดับรับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจากระดับ 2 เป็นระดับ 3 ให้สัมฤทธิ์ผล เป็นไปตามตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมิน EIT


"การดำเนินการและผลตรวจประเมินระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นการสร้างความเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและเสถียรภาพของท้องถิ่นและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยรอบพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดี่ยวกันในเชิงพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างโรงงานต่างๆในพื้นที่กับสิ่งแวดล้อมโดยรวมและระบบนิเวศท้องถิ่นจนถึงขยายตัวเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเชื่อมต่อจากระดับตำบลเป็นอำเภอจนกระทั่งเป็นระดับจังหวัดต่อไป"


อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวลล้วนขึ้นกับการพิจาณาของคณะกรรมการตรวจประเมินฯจะเป็นคำตอบสุดท้ายว่า บางกะดี จะขยับตัวเองขึ้นสู่ระดับ 5 ได้หรือไม่ หรือคงรักษาการรับรองที่ระดับ4 ส่วนพื้นที่ลาดหลุมแก้ว ที่มีแผนจะขยับจากระดับ 2 สู่ระดับ3 หรือมากกว่าในปีนี้ จะสำเร็จหรือไม่? ต้องติดตามต่อไป.(อ่านบทวิเคราะห์จากEditor Noteประกอบ)


********************

Editor Note

ตรวจสนามรบ EIT 3 จังหวัด 4 พื้นที่

เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ4 ประเทศไทย!!!


การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แบ่งเป็น 5 ระดับด้วยกัน ประกอบด้วย

ระดับที่ 1 การมีส่วนร่วม (Engagement )

ระดับที่ 2 การส่งเสริม (Enhancement)

ระดับที่ 3 ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Resource efficiency)

ระดับที่ 4 การพึ่งพาอาศัย(Symbiosis)

ระดับที่ 5 เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม(Happiness)


ปัจจุบัน มี 3 จังหวัด 4 พื้นที่ อยู่ระดับ 4 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา จ.ปทุมธานี(สวนอุตสาหกรรมบางกะดี) จ.ระยอง(มาบตาพุดคอมเพล็ก 6 ตำบล และเขตอุตสาหกรรมไออาร์พีซี อ.เมืองระยอง ) สามารถ ตรวจสอบจากตาราง


โดยจังหวัดระยอง ถือเป็นจังหวัดที่มาแรงสุดตั้งแต่ระยะที่ 1 และรั้งระดับ 4 ติดต่อกันมา 2 ปีทั้ง 2 พื้นที่( ปี2563-2564) โดยยังไม่สามารถฝ่าทะลุไปสู่ระดับ 5 คือ การเป็นเมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม ซึ่งมีตัวชี้วัดถึง 15 ตัวชี้วัด (สภาวะทางจิตใจ หรืออารมณ์ที่แสดงถึงการมีชีวิตที่ดี ซึ่งกำหนดโดยการมีอารมณ์ในเชิงบวก เช่น มีความยินดี พอใจ เพลิดเพลิน เป็นต้น) ปี2565 ต้องมาลุ้นกันอีกที


ขณะการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดนครราชสีมา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีเป้าหมายชัดเจนมุ่งสู่การรับรองฯ ในระดับที่ 5 "เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม" และในปีนี้ทางฝ่ายเลขาคณะทำงานฯ (สอจ.นครราชสีมา) ได้เสนอจัดตั้งคณะทำงานด้านส่งเสริมสนับสนุนฯ จำนวน 8 คณะ ที่มีภารกิจ อำนาจหน้าที่ ตามเกณฑ์และตัวชี้วัดฯ เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่


ปี 2565 จึงต้องมาดูว่า 3 จังหวัดที่จ่อคิวไต่ระดับ 5 ใครจะฝ่าด่านอรหันต์ไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับสูงสุด “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม”ได้ หรือ จะมีม้ามืดจากระดับ 3 ใน 5จังหวัด ก้าวกระโดดสู่ระดับ 5 จะเป็นไปได้หรือไม?


ว่ากันว่าพื้นที่บางกะดี ปทุมธานี ซึ่งมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง ทั้งเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก 90 โรงงาน 5 หมู่บ้าน ประชากรเพียง 1 หมื่นต้น ๆ แถมผู้บริหารทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ตลอดจนภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสัมคม ลงมาเล่นอย่างใกล้ชิดและมีเป้าหมายชัด น่าจับตาว่า จะสามารถเป็นม้ามืดคว้าการเป็นเมือง Happiness แห่งแรกของประเทศหรือไม่??? หรือจะยกมาแบบขบวนใหญ่?


#ปัจจุบัน การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของไทย มีจังหวัดและพื้นที่เป้าหมาย ทั้งระยะที่ 1-3 รวมแล้ว 39 จังหวัด 53 พื้นที่ เตรียมพัฒนาให้เป็น “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” โรงงาน และชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และเกื้อกูลต่อกัน..


แต่มีกฎเหล็ก 5 มิติ 20 ด้าน 41 ตัวชี้วัด เพื่อใช้เป็นโจทย์ให้ทุกจังหวัด ทุกพื้นที่นำไปทำการบ้านให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตรวจประเมินให้คะแนนว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ เพื่อจัดระดับ EIT 1-2-3-4-5 ต่อไป!!!



Cr.กรมโรงงานอุตสาหกรรม-สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานี-สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี-สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา-ศูนย์รวมข่าวดีปทุมธานี



Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page