การประชุมบอร์ดบีโอไอวันนี้ (3พย.65) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เตรียมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ย้ำให้ความสำคัญกับการพัฒนา SMEs Startup และวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สอดคล้องศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างทั่วถึง
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (3 พ.ย.65) เวลา 10.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 6/2565 (บอร์ดบีโอไอ) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาในประเด็นสำคัญ เช่น การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เป็นต้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเป็นการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ SMEs Startup และวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างทั่วถึง โดยการดำเนินงานวันนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ และมีการประเมินติดตามผลอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด เพื่อปรับการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งให้บูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบทั้งแผนงาน แผนคน และแผนเงิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการดำเนินการต่าง ๆ และการส่งเสริมการลงทุนต้องสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนซึ่งรัฐบาลและทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการร่วมมือกันที่จะไปสู่เป้าหมายตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ที่ผ่านมา (1 พฤศจิกายน 2564) ที่ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลก โดยขณะนี้ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศชั้นนำของโลกที่ดำเนินการในเรื่องของการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง รวมถึงดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าให้มากขึ้น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมถึงภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ในประเทศ เพื่อร่วมกันเดินหน้าไปสู่เป้าหมายตามที่กำหนดและประกาศไว้ นอกจากนี้การพัฒนาต้องทำทั้งสองด้าน ทั้งในส่วนของเก่าและของใหม่ ให้พัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการดำเนินการต้องสอดคล้องการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าใน 5 มิติ ทั้งมิติสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ มิติการศึกษา มิติรายได้ และมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ ตามนโยบายรัฐบาลในการช่วยดูแลประชาชนทุกกลุ่ม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องแก้ปัญหาความยากจนให้คนไทยอยู่รอด พอเพียง และมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมด้านการขนส่งทางอากาศและบริหารจัดการจราจรทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ รองรับผู้โดยสารที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วง High Season ที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวและการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันทำงานเกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย นายอนุชาฯ กล่าวว่า สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 6/2565 นั้นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะได้แถลงรายละเอียดให้รับทราบในโอกาสต่อไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรยากาศการประชุมครั้งนี้ ล้วนประกอบด้วยตัวแทนเป็นส่วนใหญ่ อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบีโอไอ ส่งรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแทน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมก็ส่งผู้แทน ขณะตัวแทนภาคธุรกิจอย่างนายสนั่น อังอุบลกุล หอการค้าไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย หรือ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ก็ไม่ได้เข้าร่วม หรือที่ปรึกษาก็ไม่ได้เข้าร่วม อย่างนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผูว่าธปท. นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้มีชื่อเป็นกรรมการบีโอไอ แต่กลับเป็นที่ปรึกษาแทนซึ่งก็ไม่ได้เข้าร่วม.
Comments