top of page

ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์! "กรมโรงงานฯ ร่วมมือ กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น

เดินหน้าจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย"

.

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือภายใต้ความร่วมมือทวิภาคี ระหว่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น โดยมี Mr. Toru Terai เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ Mr. Satoshi Yoshida กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วย คณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย Mr.Toru Shimoda บริษัท Japan Waste Research Foundation, Mr.Takuya Kotketsu บริษัท Eight-Japan Engineering Consultants Inc., และ Mr. Taisuke Odera บริษัท Eight-Japan Engineering Consultants Inc. ร่วมด้วย นางประภาพร ลือกิตติศัพท์ ผู้อำนวยการกลุ่มจัดการกากอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ กรอ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 505 ชั้น 5 อาคารกรมโรงงานอุตสาหกรรม

.

การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยี เกี่ยวกับการศึกษาในอนาคตด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และการหมุนเวียนทรัพยากรในประเทศไทย ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ กรอ. และเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย เพื่อให้การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีประสิทธิภาพต่อไป


อนึ่ง ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์กับผลกระทบต่อโลกว่า


"ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าทั่วโลกมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 53.6 – 54 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้มีประมาณ 18 % เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ส่วนในประเทศไทย ก็มีปัญหาคล้ายๆ กับในระดับโลก คือเรามีของเสียอันตรายชุมชน ประกอบด้วย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปร์ยต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยประมาณ 4 แสนตันต่อปี และมีการกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องเพียงแค่ร้อยละ 20 ส่วนหนึ่งเกิดการใช้ชีวิตของเราทีมีแนวโน้มการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระยะเวลาที่สั้นลง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พบว่ามีการเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ....


การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกต้องส่งผลกระทบ 2 ด้าน คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีโลหะชนิดต่างๆ เป็นองค์ประกอบมีโอกาสที่จะปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากตัวโลหะต่างๆ ที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่า สามารถนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตต่อไปได้ หากได้รับการจัดการหรือผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธี.."



สังคมไทยรู้จักการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มากน้อยแค่ไหน

เมื่อประเมินจากแบบสอบถามที่ทำการศึกษาในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่ประชาชนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่าที่ควร มีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมกับขยะทั่วไป หรือบางครั้งก็ไม่นำไปทิ้ง แต่เก็บไว้ในบ้าน ในปีที่ผ่านมาได้มีการสำรวจประชาชน 2,000 คน พบว่าขยะชิ้นเล็ก เช่น โทรศัพท์มือถือเมื่อเลิกใช้แล้วเป็นขยะ ส่วนหนึ่งก็จะถูกทิ้งไป แต่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 35 – 40 ที่เก็บโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วไว้ในบ้าน ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อหมดอายุก็จะขายไป ยังมีประมาณร้อยละ 15- 20 ที่เก็บไว้ที่บ้าน เมื่อเวลาผ่านไปก็จะทิ้งปะปนไปกับขยะทั่วไป นำไปสู่เส้นทางของการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง

ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาฯ กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ยังเป็นร่าง พ.ร.บ. อยู่ เพราะมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดการขยะค่อนข้างมาก เช่น ผู้รับซื้อของเก่า อบต. กทม.ฯลฯ รวมถึงมีสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ. ที่ควรพิจารณา เช่น กระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการกำจัดอย่างไร ชิ้นส่วนต่างๆ ดำเนินการไปทิ้งที่ใด มีการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ฯลฯ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดอยู่ เพื่อให้ พ.ร.บ. ที่ออกมาสามารถควบคุมระบบบริหารจัดการตรวจสอบได้



.


Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page