ชุมชนท้องถิ่น
#ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่? ยกตัวอย่าง ห้างสรรพสินค้า เคยจ่ายภาษีปีละ10 ล้านเศษ แต่ภาษีใหม่จ่ายเพียง1ล้านบาท หรือธุรกิจห้องให้เช่าจ่ายปีละ4.3ล้าน ภาษีใหม่จ่ายเพียง7หมื่นบาท
#ขณะพื้นที่เขตรอบนอก กทม.ผู้มีรายได้น้อย จากไม่เคยจ่ายภาษีที่ดินกลับต้องถูกเรียกเก็บ ถามว่าแบบนี้ เป็นธรรมหรือ?
"ฝากเป็นโจทย์ ให้รัฐบาลใหม่พิจารณาว่ากม.ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่!!!#ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ระหว่างสัญจรไปยังเขตพญาไท 27พค.66
#ฝากถึงสภาใหม่ทบทวนผลกระทบนโยบายการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่จะฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากคือ เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดิมการเก็บภาษีโรงเรือนจะคิดจากรายได้ 12.5% เพื่อมาเป็นรายได้ของเขต แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบภาษีใหม่โดยคิดตามมูลค่าที่ดิน ยกตัวอย่างเขตพญาไท ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 300 ล้านบาท เมื่อเปลี่ยนรูปแบบภาษีทำให้รายได้ลดลงเหลือประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะคาดว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ที่มีรายได้มากจะต้องเสียภาษีมากแต่พบว่าไม่ได้เป็นไปตามนั้น
" ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่พญาไท เดิมเสียภาษี 10 ล้านบาท แต่เมื่อเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 1 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าภาษีลดลงถึง 10 เท่า หรืออาคารสำนักงานใหญ่แห่งหนึ่ง เดิมเสียภาษีกว่า 11 ล้านบาท เพราะคำนวณจากค่าเช่าภายในสำนักงาน แต่เมื่อคิดภาษีรูปแบบใหม่ เหลือเพียง 3 ล้านบาท เพราะคิดตามมูลค่าที่ดิน และยิ่งเป็นอาคารเก่ามีค่าเสื่อมเยอะทำให้มูลค่าลดลงอีก ในขณะที่ห้องเช่าซึ่งเป็นอาคาร เดิมเก็บได้ 4 ล้านกว่าบาท ภาษีใหม่เก็บได้เพียง 7 หมื่นกว่าบาท เพราะเจ้าของได้ย้ายชื่อมาอยู่ในห้องเช่าทำให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยและจะเสียภาษีในอีกอัตราหนึ่ง
...ซึ่งเรื่องนี้ต้องฝากไปถึงรัฐบาลและรัฐสภาใหม่ เพื่อให้สรุปและทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นและสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง รวมทั้งพิจารณาเงินในส่วนที่ยังค้างกทม.อยู่ เนื่องจากนโยบายการลดภาษีหากคืนเงินมาได้ ท้องถิ่นจะมีเงินสามารถนำไปบริหารตามหลักกระจายอำนาจได้มากขึ้น.."
อนึ่ง วันที่ 27 พ.ค.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม “ผู้ว่า กทม. สัญจร เขตพญาไท” เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามนโยบาย ผลการดำเนินงานตาม Application Traffy Fondue และปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า วันนี้เรากลับมาสัญจรอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้สัญจรมาในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งเขตพญาไทเป็นเขตลำดับที่ 28 และกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจรเป็นหนึ่งใน 216 นโยบาย เพราะว่าเราต้องการลงพื้นที่เพื่อเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของแต่ละเขต ในส่วนของเขตพญาไทพื้นที่ไม่ได้ใหญ่มาก มีประชากรอยู่ประมาณ 60,000 คน สภาพพื้นที่ล้อมรอบด้วยคลองสามเสน คลองบางซื่อ ถนนสายหลักในพื้นที่ ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีและถนนพระราม 6 ฯลฯ
ปัญหาหลักๆในพื้นที่เรื่องจุดน้ำท่วมมี 2 จุด คือ วิภาวดี ซึ่งได้รับการแก้ไขแล้วบริเวณหน้ากรมทหารเป็นเขตความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้เข้าไปดูแลโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีบริเวณถนนสุทธิสารบางจุด จากการประเมินสถานการณ์โดยสำนักการระบายน้ำพบว่าดีขึ้น การขุดลอกคูคลองระบายน้ำสามารถดำเนินการไปได้กว่า 3,000 กิโลเมตร ซึ่งในปีนี้คงไม่มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ แต่ปัญหาที่ยังคงมีอยู่คือไฟฟ้าส่องสว่าง จากทั้งหมด 2,021 ดวง ขณะนี้เหลือที่ยังต้องแก้ไขอีกเพียง 60 ดวง ซึ่งจะเร่งประสานการไฟฟ้านครหลวงแก้ไขภายในเดือนนี้
สำหรับโรงเรียนสังกัดกทม.ในพื้นที่มีเพียง 1 แห่ง คือโรงเรียนวัดไผ่ตัน เปิดการเรียนการสอนถึงชั้นม.6 จากการติดตามการดำเนินการตามนโยบายเรื่องของการติดตั้งห้องคอมพิวเตอร์แล็บทุกโรงเรียนทั้งหมด 437 แห่ง โรงเรียนวัดไผ่ตันก็เตรียมห้องไว้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้ปรับปรุงคุณภาพอาหาร โดยจัดให้มีสลัดบาร์ สัปดาห์ละ 3 วัน และดำเนินการโครงการคืนครูให้กับนักเรียนโดยจ้างธุรการ ทั้งนี้ศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวก็ได้มีการพัฒนาการให้บริการเช่นเดียวกัน
“หนึ่งในปัญหาที่เขตส่วนใหญ่มีอยู่คือ อัตราว่าง โดยเขตพญาไทยังขาดบุคลากรอยู่อีก 27 อัตรา ซึ่งกทม.จะได้ปรับในส่วนของการสอบคัดเลือกให้ดีขึ้น มีการคัดเลือกคนอย่างยุติธรรม” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
Comments