top of page

มท.ร่วมOR เตรียมยกระดับการจำหน่าย OTOP-ผ้าไทยในร้านไทยเด็ดทั้งออนไซด์และออนไลน์


มหาดไทยหารือร่วมบริษัท OR เตรียมขยายผลยกระดับการจำหน่ายสินค้า OTOP และผ้าไทยในร้านไทยเด็ด ทั้งออนไซด์และออนไลน์ ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศ มุ่งหวังกระตุ้นหนุนเสริมสร้างรายได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้กับพี่น้องประชาชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายหรือพันธกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชนคนไทยใน 76 จังหวัด 878 อำเภอทั่วประเทศ ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธานที่ปรากฏในพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร” และพระบรมราชโองการ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักในการปฏิบัติราชการเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนผ่านการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้กับผู้ประกอบการและพี่น้องประชาชนในพื้นที่

“กระทรวงมหาดไทย จึงได้มีการจัดประชุมหารือความร่วมมือการสนับสนุนสินค้าชุมชนระหว่างกระทรวงมหาดไทย และ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายพิมาน พูลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) นายสุวิทย์ วิชัยดิษฐ หัวหน้าโครงการสนับสนุน สินค้าดี สินค้าเด็ด ทั่วไทย (ไทยเด็ด) OR เข้าร่วมประชุม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้สนับสนุนการยกระดับต่อยอดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากมาอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย และในวันนี้ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือที่พวกเรารู้จักการในชื่อ OR ได้ให้เกียรติร่วมหารือเพื่อสนับสนุนสินค้าชุมชนร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นโอกาสดีที่กระทรวงมหาดไทยจะได้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกามเทพแผลงศรให้ผู้ประกอบการ OTOP ได้เจอเนื้อคู่ คือ “ผู้บริโภค” บนพื้นที่อันโอ่อ่าของสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ซึ่งมี “ร้านไทยเด็ด” มากกว่า 51 ร้านทั่วประเทศ อันเป็นการ Change for Good ที่เกิดจากความตั้งใจขยายผลคำว่า “โอกาส” สู่ “ความยั่งยืน” ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่าน “โครงการไทยเด็ด” ซึ่งมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นเติมเต็มคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจที่ดีแก่ชุมชนและสังคมไทย โดยการคัดเลือกผลิตภัณฑ์เด็ดหรือสินค้าประจำท้องถิ่นทั่วประเทศจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการสนับสนุนด้านการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนอย่างยั่งยืน . “การได้ร่วมหารือกับ OR ในวันนี้ ทำให้พวกเราชาวมหาดไทยได้ทราบถึงแนวคิดและวิธีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาจำหน่ายเป็นสินค้าของ “ร้านไทยเด็ด” ที่มีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่มีคุณภาพและผ่านการคัดเลือกคัดสรรให้ตรงใจ เหมาะสม และเข้ากับผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มลูกค้าที่แวะพักในปั๊มน้ำมัน อาทิ ผัดไทภูเขาไฟ กระเทียมดำ กระจูด ข้าวแตนน้ำแตงโม กล้วยตากไฮโซ จักสานผักตบชวา ขนมปั้นขลิบทอด ผ้าทอย้อมคราม บ้านคำประมง จ.สกลนคร ถั่วลายเสือ จ.แม่ฮ่องสอน ข้าวบุญบันดาล จ.มหาสารคาม ขนมโบว์อิสตาน่า จ.ปัตตานี สแน๊คบาร์ผลไม้ ไรซ์มี จ.ระยอง เป็นต้น นอกจากนี้ ร้านไทยเด็ด ยังเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างยอดขายได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากที่ดีอย่างยั่งยืน และสิ่งที่เป็นที่น่ายินดียิ่งไปกว่านั้น คือ โอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ด้วยการขยายร้านไทยเด็ดจาก 51 ร้าน เป็น 300 ร้าน อันจะทำให้สินค้า OTOP ทั้งกลุ่มที่ได้รับมาตรฐานตั้งแต่ 1 – 5 ดาว สินค้าผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่อยู่บนเว็บไซต์ https://www.otoptoday.com/ และสินค้าประเภทอื่น ๆ มีโอกาสที่จะถูกคัดเลือกไปจัดจำหน่ายที่ร้านไทยเด็ดทั่วประเทศอีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าว . นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ทาง OR ยังมีความยินดีที่จะร่วมขับเคลื่อนในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ข้อที่ 17 ขององค์การสหประชาชาติ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยการส่งเสริมด้านต่าง ๆ ให้แก่หมู่บ้าน/ชุมชนในทุกพื้นที่ตารางนิ้วของประเทศไทยให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการสนับสนุนการน้อมนำโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ได้รับรองกระบวนการที่เกิดขึ้น (Methodology) จากการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ว่าสามารถคิดเป็น คาร์บอนเครดิตได้แล้ว กว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีบริษัทที่มารับซื้อ ในราคาประมาณ 260 บาท/ตันคาร์บอน สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของหมู่บ้านยั่งยืน ที่เกิดจากการถ่ายทอดภูมิปัญญา (Know-How) จากรุ่นสู่รุ่น สอดคล้องกับแนวคิดของ โออาร์ ซึ่งหากได้รับความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมคาดว่าจะมีโครงการดี ๆ เกิดขึ้นตามมาอย่างแน่แท้ อาทิ การเปิดพื้นที่เป็นช่องทางการช่วยกระจายสินค้าผลผลิตทางการเกษตร เช่น สับปะรด ลองกอง กระเทียม หรือ มะม่วง ราคาตกต่ำ และการสนับสนุนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อกระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดการสร้างกระแสความนิยมชมชอบผ้าไทยที่นอกจากจะได้รับการพัฒนาให้มีลวดลาย สีสัน ที่สดใสแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวพระดำริ Sustainable Fashion ทำให้ผ้าไทยสามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส และปลอดภัยกับผู้สวมใส่ . นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า การขับเคลื่อนภารกิจภายใต้โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกมีความยากและซับซ้อนในแต่ละขั้นตอนและกระบวนการ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความตั้งพระทัยมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายทำให้ประชาชนคนไทยได้เรียนรู้การพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มีศักยภาพที่เพิ่มพูนขึ้น คือ การใช้สีธรรมชาติ การพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ในการทำผ้า ผ่านการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการประกวดลายผ้าพระราชทาน ทั้ง “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และล่าสุดคือ “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้ผ้าไทยที่เป็นโมเดลผ้า ทั้งดอนกอยโมเดล จ.สกลนคร และนาหว้าโมเดล จ.นครพนม ซึ่งในขณะนี้ กลุ่มผ้าบาติกในจังหวัดภาคใต้กำลังรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างเป็นโมเดลศูนย์การเรียนรู้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการส่งเสริมการจัดจำหน่ายผ้าไทยในงานจัดแสดงสินค้าประจำปี ทั้งงาน OTOP Midyear OTOP ภูมิภาค OTOP ศิลปาชีพ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นให้เกิด Sustainable Fashion ที่ช่วยยกระดับสินค้าผ้าไทยสู่มาตรฐานสากล โดยเป้าหมายของการดำเนินโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในขั้นต่อไป คือ การขยายผลในลักษณะทั้งใน และต่างประเทศ เพราะในห้วง 4 ปีที่ผ่านมามีการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการผ้าไทยกว่า 10,000 คน โดยตนเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในการคัดเลือกผ้าไทยที่มีคุณภาพเพื่อจัดจำหน่ายที่ “ร้านไทยเด็ด” ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ จะนำไปสู่การส่งเสริมการตลาดและช่องทางการจำหน่ายสินค้าทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มผู้หลงใหลในเสน่ห์ผ้าไทยภายในประเทศได้มากขึ้นด้วย . นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนและเสริมสร้างพลังความร่วมมือร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การส่งเสริมให้องคาพยพในชุมชนได้เรียนรู้การจัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้การหนุนเสริมกำกับของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยดำเนินการ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดียิ่งขึ้นกับสิ่งแวดล้อมของชุมชน หาก สถานีบริการน้ำมัน PTT Station มีการส่งเสริมให้มี “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ในทุกสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งถังขยะเปียกลดโลกร้อนนี้เป็นถังขยะเปียกระบบปิดที่จะทำให้เกิดจุลินทรีย์ย่อยสลายกลายเป็นสารบำรุงดินหรือปุ๋ยหมักใช้บำรุงต้นไม้ภายในสถานีบริการน้ำมันให้มีความสวยงาม อันเป็นการต่อยอดจากเดิมที่ทุกสถานีน้ำมันจะมีถังขยะสีต่าง ๆ สำหรับคัดแยกขยะอยู่แล้ว . ด้าน นายพิมาน พูลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน OR กล่าวว่า OR มีความสนใจและยินดีที่จะสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ทั้งโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก โครงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า พื้นที่รอยต่อ 5 ภาคตะวันออกจังหวัด (จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และสระแก้ว) โครงการ OTOP today โครงการ OTOP นวัตวิถี และโครงการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ของกระทรวงมหาดไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อสังคมและประชาชนคนไทย สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และพันธกิจของบริษัทฯ ซึ่งจะได้นำข้อมูลที่น่าสนใจเหล่านี้เข้าสู่การหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ เพื่อนำไปสู่การขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป . นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวในช่วงท้ายว่า กระทรวงมหาดไทยมีความยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือกับ “โครงการไทยเด็ด” เพื่อส่งต่อโอกาสสู่กลุ่มผู้ประกอบการจากชุมชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมการพัฒนาชุมชนทั้ง 76 จังหวัด และมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กลุ่มผู้ประกอบการทุกคนจะสามารถนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปวางจัดจำหน่ายในช่องทางที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งมีกลุ่มผู้ประกอบการอีกจำนวนไม่น้อยที่อาจต้องการให้ทางโออาร์ช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการตลาดและการพัฒนาสินค้าสู่การสร้างยอดขายและสร้างรายได้ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้ ทางโออาร์สามารถขยายผลความร่วมมือกับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดการพัฒนาช่องทางการขายระดับประเทศ โดยใช้เป็นศูนย์รวมจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเครือข่าย ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนจะได้เร่งยกร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับ OR เพื่อเร่งผลักดันสร้างโอกาสดี ๆ ให้กลุ่มผู้ประกอบการและประชาชนคนไทยต่อไป

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page