โดยมือเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยสานต่อโมเดลเศรษฐกิจ BCG
BCG
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2566 ดร.กิตติ ลิ่มสกุล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมหารือและรับฟังแนวทางการดำเนินการตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG กับ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน
BCG เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลเพื่อไทย และเป็นเป็นเมกะเทรนด์สำคัญของโลก เพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ ( Net zero emission ) รักษาสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรณ์อย่างคุ้มค่า โดย BCG มีความหมายดังนี้ B คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy), C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ( Circular Economy), G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
โดยการหารือจะเน้นไปที่ เศรษฐกิจหมุนเวียน ( Circular Economy ) ดร.สุรพลกล่าวว่า หลักการง่ายๆของเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นก็คือการลดขยะจากการผลิตให้เป็นศูนย์ เพราะเมื่อมีขยะเกิดขึ้น ขยะนั้นก็จะกลายเป็นมลพิษสิ่งแวดล้อม และการมีขยะเกิดขึ้นในผลิตมากๆนั่นก็หมายความว่ากระบวนการการผลิตนั้นยังไม่ดีพอ ซึ่งขยะนั้นเกิดได้จากทุกระดับการผลิต ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และภาคการเกษตร
ยกตัวอย่างเช่นในการปลูกข้าว ขยะที่เกิดมากที่สุดก็คือฟางข้าว แต่จริงๆแล้วฟางข้าวนั้นเป็นสิ่งที่มีมูลค่าในตัวเอง แต่โดยมากฟางข้าวมักไม่ได้ถูกใช้อย่างคุ้มค่าเต็มศักยภาพ เราจึงต้องการเพิ่มมูลค่าของฟางข้าว ตามปกติแล้วฟางข้าวมักจะถูกนำไปใช้ในการเพาะเห็ด(ใช้เป็นปุ๋ยก้อนเห็ด ) เกษตรกรมักไม่ทราบว่าหลังเพาะเห็ดเสร็จแล้ว ยังสามารถนำปุ๋ยก้อนเห็ดนั้นไปใช้เป็นปุ๋ยของพืชชนิดอื่นๆได้อีก ไม่เพียงแค่นั้นฟางข้าวยังสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุทดแทนไม้ในการทำไม้อัดจากฟางข้าวได้อีกด้วย
นอกจากนี้ในการนำฟางข้าวไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล จะได้ของเสียจากกระบวนการเผาไหม้เป็นขี้เถ้า ซึ่งขี้เถ้านี้ก็มีมูลค่าโดยปกติจะมีราคากิโลกรัมละ 1 บาท แต่เราสามารถเพิ่มมูลค่าขี้เถ้าโดยใช้เทคโนโลยี geopolymer เพื่อทำให้ขี้เถ้ากลายเป็นวัสดุในงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ นอกจากนี้ยังนำไปใช้เป็นวัสดุปลูกดิน ที่สามารถเพิ่มมูลค่าจากกิโลกรัมละ 1 บาทเป็นกิโลกรัมละ 20 บาทได้ แนวทางเหล่านี้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยดึงจุดเด่นของแต่ละชุมชนมาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ อย่างเช่นในชุมชนที่ชำนาญด้านการย้อมผ้า เราก็ได้ส่งเสริมการย้อมผ้าโดยใช้สีจากจากธรรมชาติ เช่นสีดินโคลน ขี้ควาย สีจากวัชพืชต่างๆ มาใช้ย้อมผ้า ซึ่งในตอนนี้ทาง มทร.ล้านาลำปางกำลังถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าให้กับชาวบ้าน ส่วนในเทคโนโลยีขั้นสูงนั้นอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความต้องการของตลาด
ด้านการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือก ข้าวสาลีเป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่น่าสนใจ มีเกษตรกรได้ทดลองปลูก ในเบื้องต้นให้ผลลัพธ์ที่ดี เนื่องจากความต้องการข้าวสาลีภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นทำให้ราคาขยับสูงขึ้นตาม เกษตรกรพึงพอใจกับราคาของผลผลิต และยังมีการเพิ่มมูลค่าขยะจากการปลูกโดยการนำลำต้นข้าวสาลีมาผลิตหลอดรักษ์โลกให้วิสาหกิจชุมชนได้นำไปจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ ซึ่งตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้สูงมาก แต่ยังผลิตได้ในปริมาณน้อยเนื่องจากการปลูกข้าวสาลีนั้นยังมีไม่มากพอ ในจุดนี้รัฐบาลเพื่อไทยพร้อมส่งเสริมการปลูกข้าวสาลีเป็นพืชทางเลือก เพราะในปัจจุบันแค่เฉพาะฟางข้าวสาลีก็มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 15 บาท
ซึ่งแนวทางการปลูกข้าวสาลีนี้สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลเพื่อไทยที่ต้องการจะลดพื้นที่การปลูกข้าวเจ้าเพราะมีราคาต่ำ จึงอยากให้มีการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนมากขึ้น และใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มรายให้เกษตรกร โดย ดร.สุรพล ได้แนะนำให้ลดการปลูกข้าวนาปรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศเหมาะสมให้ปลูกธัญพืชเมืองหนาวเช่น ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต เพราะเป็นพืชที่มีความต้องการสูง ราคาดี สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น
นอกจากนั้นยังกล่าวถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Bio economy เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชน อย่างเช่น ข้าวดอยบือขาหนี่ จาก ต.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นข้าวที่ถูกพัฒนาสายพันธ์ให้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงช่วยลดความเสียหายของสารพันธุกรรม( DNA ) ทำให้ช่วยชะลอวัยชะลอความแก่ ซึ่งข้าวพันธุ์นี้ได้ผ่านการรับรองพันธุ์ข้าว เกษตรกรสามารถนำไปปลูกได้ โดยแนะนำให้ขายเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market) เน้นชูคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ ทำให้ไม่ต้องกังวลกับแข่งขันในด้านราคา
ในการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคอีสาน ดร.สุรพลสแนะนำให้ใช้ soft power เข้ามาช่วย เพราะในภาคอีสานมีศิลปะวัฒนธรรมประเพณีที่น่าสนใจมากมาย ที่จะส่งเสริมให้โครงการเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่มีความโดดเด่นมากขึ้น
ดร.สุรพลได้ให้ข้อแนะนำรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อการรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะทำให้เกิดภัยแล้งในปีนี้ อยากให้มีการบูณาการกันของภาครัฐหลายๆกระทรวง ในการวางแผนป้องกันและรับมือกับปัญหา และเพิ่มภูมิต้านทาน เสริมองค์ความรู้ให้เกษตรกร รวมทั้งแนะนำให้มีการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาปรับใช้ควบคู่ไปด้วย เช่นนำการทดน้ำที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในภาคเหนือ มาช่วยเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง ซึ่ง มทล.ลำปาง พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อไทยในการให้ความรู้แก่เกษตรกร และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อชุมชน เพื่อเป็นส่วนช่วยให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนให้สำเร็จโดยเร็ว
Comments