เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรปาฐกถาเรื่อง “อุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลในอนาคต” เนื่องในวันธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม 2565 จัดโดยสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 1 สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์
นายเกรียงไกร ได้นำเสนอภาพรวมและแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลกในยุค BANI World (Brittle – ความเปราะบาง Anxious – ความวิตกกังวล Nonlinear – การคาดเดายาก Incomprehensible – ความกำกวมและไม่เข้าใจ) ซึ่งภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าพลังงานที่แพง และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทั้งปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน (Trade War) ที่ยังคงอยู่ และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่โลกหลายขั้ว อีกทั้งยังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Technology Disruption)
จากความท้าทายต่างๆ ข้างต้น ส่งผลให้ภาคเอกชนได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้นำเอเปคในเวทีการประชุมเอเปค เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ จากการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council-ABAC) ที่ผ่านมา ได้สร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน และการรวมกลุ่มของเศรษฐกิจที่มีขนาดตลาดใหญ่ขึ้น และได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ความมั่นคงด้านอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และพร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ นายเกรียงไกร ยังได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม (11 คลัสเตอร์) 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด (5 ภาค/คลัสเตอร์จังหวัด) และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ที่ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป
Comments