ต่างประเทศ
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก มีมติระงับสมาชิกภาพของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (UNHRC) หลังมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในวงกว้างอย่างเป็นระบบโดยกองกำลังรัสเซีย ซึ่งรุกรานยูเครนมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
มติที่ให้ระงับสมาชิกภาพของรัสเซียนี้ มาจากการผลักดันของสหรัฐฯ ส่งผลให้มีชาติที่ลงมติเห็นชอบ 93 ประเทศ จากทั้งหมด 193 ประเทศ ในขณะที่มีชาติลงมติคัดค้าน 24 ประเทศ และงดออกเสียง 58 ประเทศ โดยไทยและชาติสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา เป็นส่วนหนึ่งที่งดออกเสียง ในขณะที่ลาวและเวียดนามลงมติไม่เห็นชอบต่อการระงับสมาชิกภาพของรัสเซีย
ก่อนการลงมติดังกล่าวจะมีขึ้น ผู้แทนรัสเซียได้แถลงว่าหากชาติใดออกเสียงเห็นชอบ รัสเซียจะถือว่า "มีท่าทีไม่เป็นมิตร" และจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างแน่นอน
เมื่อผลการลงมติออกมาว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ ซึ่งไม่นับรวมชาติที่งดออกเสียง ต่างเห็นชอบให้รัสเซียถูกระงับสมาชิกภาพในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ผู้แทนรัสเซียจึงได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากคณะมนตรีดังกล่าวทันที เพื่อเป็นการประท้วง
นายเกนนาดี คุซมิน อุปทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติประณามการลงมติครั้งนี้ว่า "ไม่ถูกต้องชอบธรรม ทั้งยังเป็นการลงมติที่มีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง" ส่วนนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียแถลงว่า รัสเซียรู้สึกเสียใจต่อมติดังกล่าว แต่จะเดินหน้าปกป้องผลประโยชน์ของชาติต่อไป ด้วยวิธีทางกฎหมายที่เป็นไปได้ทุกทาง
การยื่นหนังสือลาออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของรัสเซีย ทำให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติไม่สามารถยกเลิกข้อมตินี้ในภายหลังได้ อย่างไรก็ตาม การลงมติระงับสมาชิกภาพนั้นแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ครั้งล่าสุดคือในปี 2011 ที่ลิเบียถูกระงับสมาชิกภาพในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เนื่องจากกองกำลังที่ภักดีต่อนายมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการของลิเบีย เข้าปราบปรามการประท้วงของประชาชนอย่างรุนแรง
นางลินดา โทมัส-กรีนฟีลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ กล่าวแสดงความยินดีต่อมติล่าสุดของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ว่า "นี่เป็นการส่งสารที่ชัดเจนให้ได้ทราบทั่วกันว่า ความทุกข์ทรมานของเหยื่อและผู้รอดชีวิตจากสงครามจะไม่ถูกมองข้าม"
ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ชื่นชมมติดังกล่าวว่าเป็น "ก้าวย่างที่สำคัญของประชาคมนานาชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นอีกครั้งว่า สงครามของปูตินได้ทำให้รัสเซียกลายเป็นชาติที่น่ารังเกียจในสังคมโลก"
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประกอบไปด้วยสมาชิก 47 ประเทศ ซึ่งจะได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่ให้เข้าเป็นสมาชิกครั้งละ 3 ปี มติต่าง ๆ ของคณะมนตรีนี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่สามารถเปิดการสืบสวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก โดยได้เริ่มตรวจสอบการก่ออาชญากรรมสงครามของรัสเซียในยูเครนแล้ว
คำบรรยายภาพ,ทวิตเตอร์ @UN_News_Centre เผยแพร่ผลการลงมติรายประเทศ ไทยเป็น 1 ใน 58 ประเทศสมาชิกที่งดออกเสียง
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์มองว่าผลการลงมติซึ่งมีชาติที่คัดค้าน 24 ประเทศ และงดออกเสียงกันมากถึง 58 ประเทศ แสดงให้เห็นความร้าวฉานแตกแยกภายในขององค์การสหประชาชาติเอง
อิโมเจน โฟล์กส์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีมองว่า แม้จะไม่น่าแปลกใจที่พันธมิตรของรัสเซียอย่าง จีน ซีเรีย และเบลารุส ออกเสียงคัดค้านมติในครั้งนี้ แต่การที่อินเดีย อียิปต์ แอฟริกาใต้ และหลายชาติในเอเชียงดออกเสียง ทั้งยังมีอีก 18 ชาติที่จงใจออกไปอยู่นอกห้องประชุมขณะมีการลงมติ หรือที่เรียกกันว่า "กลยุทธ์พักดื่มกาแฟ" เป็นสัญญาณที่แสดงถึงความไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของประชาคมนานาชาติอย่างชัดเจน
สัญญาณดังกล่าวจะทำให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานของสหประชาชาติอื่น ๆ ทำหน้าที่ได้ยากขึ้น เพราะหลายประเทศเป็นกังวลต่อการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเขตแดนของตนเอง และไม่อยากให้การระงับสมาชิกภาพของรัสเซียกลายเป็นกรณีตัวอย่างของการลงโทษผู้กระทำความผิด
จีนซึ่งถูกตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์อยู่นั้น คัดค้านการลงมติข้างต้นอย่างหัวชนฝา โดยนายจาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติระบุว่า การลงมติระงับสมาชิกภาพของรัสเซียเป็นการด่วนตัดสินใจ เพื่อบังคับให้ชาติต่าง ๆ เลือกข้าง ซึ่งจะเพิ่มความแตกแยกภายในยูเอ็น รวมทั้งการเผชิญหน้าระหว่างคู่สงครามและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เปรียบเสมือนกับ "เติมเชื้อเพลิงเข้ากองไฟ"
Commentaires