นาทีนี้เหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างจับตามองอย่างไม่กะพริบ คงหนีไม่พ้นประเด็นภูมิรัฐศาสตร์คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และชาติสมาชิกทั้งหลายแห่งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ล่าสุด ณ วันที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ (28 ก.พ.) เหตุการณ์ยิ่งบานปลายเมื่อรัสเซียพยายามรุกคืบเข้าถึงกรุงเคียฟ นครหลวงของยูเครน ขณะที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยชาติสมาชิกนาโต้อย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นที่กำลังจะถูกโดดเดี่ยวจากระบบการเงินโลก (หกชาติตะวันตกออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ว่าจะตัดธนาคารรัสเซียบางรายออกจากระบบ SWIFT1) โดยรัสเซียได้ตอบโต้โดยสั่งการให้กองกำลังที่รับผิดชอบด้านอาวุธนิวเคลียร์ "เตรียมพร้อมเป็นพิเศษ" ซึ่งเป็นระดับการแจ้งเตือนสูงสุดของกองกำลังขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Missile Forces) ของรัสเซีย หลายท่านอาจสงสัยว่าแท้จริงแล้วอะไรคือชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งนี้ และจะเกิดผลกระทบอะไรกับเราบ้าง หากสงครามยืดเยื้อ วันนี้จึงขอชวนท่านผู้อ่านเจาะลึกประเด็นนี้กันครับ
ชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งในปัจจุบันสามารถสรุปได้เป็น 4 ประการสำคัญ ได้แก่ 1) ต้นกำเนิดยูเครนในประวัติศาสตร์สมัยใหม่: ยูเครนเคยเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียตมาก่อน จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.1991 ได้แยกตัวออกมาหลังการล่มสลายของสหภาพฯ โดยยังมีชาวรัสเซียจำนวนมากอาศัยอยู่ในยูเครนโดยเฉพาะฝั่งตะวันออก ทั้งนี้ ยูเครนกลายเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย (ที่ไม่สมบูรณ์นัก) และมีนโยบายต่างประเทศที่กวัดแกว่งไปมาเป็นช่วง ๆ ระหว่างการสนับสนุนยุโรป สลับกับสนับสนุนรัสเซีย โดยหลังจากได้รับเอกราชในช่วง 10 ปีแรก ยูเครนดำเนินนโยบายมุ่งสู่ชาติตะวันตก หันไปให้ความสำคัญกับสหรัฐ ฯ และชาติยุโรป พยายามหลีกหนีอิทธิพลของรัสเซีย ขณะที่รัสเซียเองก็ไม่ยอมรับเอกราชอย่างสมบูรณ์ของยูเครน เนื่องจากรัสเซียมองยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนเองมาโดยตลอด และเรียกยูเครนว่า “Little Russia” จนเมื่อปี 2010 ยูเครนก็หันไปให้ความสำคัญรัสเซียอย่างเห็นได้ชัดภายใต้การนำของประธานาธิบดีวิกตอร์ ยากูโนวิช 2) อดีตประธานาธิบดียูเครนผู้ฝักใฝ่รัสเซีย: ในช่วงปลายปี 2013 ประชาชนชาวยูเครนนับแสนคนออกมาประท้วงขับไล่ประธานาธิบดียากูโนวิชคนดังกล่าว จากการคว่ำแผนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป ซึ่งผู้ประท้วงมองว่าเท่ากับเป็นการปฏิเสธโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูเครน ทั้งนี้ มีการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงจนทำให้สถานการณ์บานปลายเป็นเหตุการณ์นองเลือด จนในที่สุดประธานาธิบดียากูโนวิชได้ถูกถอดถอนและหลบหนีออกนอกประเทศ แต่ได้ทิ้งรอยแผลขนานใหญ่ไว้ คือ ความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนชาวยูเครน 3) การยึดไครเมียโดยรัสเซีย: อีกชนวนเหตุหนึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันในปี 2014 รัสเซียเข้ายึดครองและผนวกรวมดินแดนไครเมีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้และเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน หลังจากผลการลงประชามติของชาวไครเมียได้ข้อสรุปเป็นเสียงข้างมากถึง 96% ว่าจะประกาศเอกราชเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และเป็นเหตุให้ดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครนคือ ดอแนตสก์และลูฮานสก์ พากันทำประชามติเพื่อประกาศอิสรภาพจากยูเครนบ้าง แต่กลับกลายเป็นสงครามแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องจนมาถึงล่าสุดที่รัสเซียประกาศรับรองความเป็นรัฐอิสระของทั้งสองดินแดน และนำทหารเข้าไปรักษาสันติภาพในสองดินแดนดังกล่าว 4) ความพยายามเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครน: ในทางภูมิศาสตร์ ยูเครนตั้งอยู่ระหว่างรัสเซียและชาติยุโรปต่าง ๆ ไม่ต่างจากความเป็นรัฐกันชน ที่ผ่านมา การที่ยูเครนพยายามจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต้ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งมีสาระสำคัญในสนธิสัญญาว่า “หากประเทศพันธมิตรนาโต้ถูกรุกรานหรือโจมตีโดยประเทศนอกกลุ่มสมาชิก ประเทศพันธมิตรทั้งหมดต้องยื่นมือเข้าปกป้อง” ทำให้รัสเซียรู้สึกถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศตน เพราะจะถูกล้อมด้วยชาติสมาชิกนาโต้ที่ดาหน้ารุมมาถึงหน้าประตูบ้าน ทั้งนี้ มีนักวิเคราะห์และนักวิชาการทางรัฐศาสตร์หลายท่านระบุว่า ความพยายามเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครนดังกล่าวเป็นตัวแปรสำคัญหรือเป็นดั่งเชื้อไฟที่เร่งให้รัสเซียแสดงท่าทีแข็งกร้าวและตอบโต้ยูเครนอย่างรุนแรงดังที่ปรากฎในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อสงครามเกิดขึ้นและอาจยืดเยื้อบานปลาย ผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจโลกและไทยจะเป็นอย่างไร? ท่านผู้อ่านคงทราบกันอยู่บ้างแล้วว่ารัสเซียถือเป็นอภิมหาอำนาจด้านพลังงานของโลก โดยเฉพาะการเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และสินแร่ต่าง ๆ โดยรัสเซียถือเป็นแหล่งพลังงานสำคัญอย่างยิ่งของยุโรป ขณะที่ยูเครนเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ในสินค้าเกษตรและเป็นผู้ส่งออกรายต้น ๆ ของโลก ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และธัญพืชชนิดต่าง ๆ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นดั่งอู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป ดังนั้น เมื่อสงครามมีความยืดเยื้อหรือบานปลายออกไป (ซึ่งผู้เขียนได้แต่ภาวนาขอให้มีการเจรจาตกลงกันได้โดยเร็ว ยุติสงครามที่ไม่จำเป็นนี้ และไม่บานปลายไปจนถึงขั้นสงครามโลก) ย่อมทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่กำลังพุ่งสูงขึ้น อาจสูงอย่างต่อเนื่อง ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อสูงอยู่แล้วที่กำลังส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ ส่วนด้านตลาดการเงิน ก็เห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่เกิดภาวะคุกรุ่นจนสงครามเกิดขึ้น นักลงทุนได้โยกย้ายมาถือครองสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงอย่างพันธบัตร เงินดอลลาร์สหรัฐฯ และทองคำมากขึ้นแล้ว ขณะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ทั้งหุ้นหรือแม้กระทั่งสินทรัพย์ดิจิทัลก็ปรับลดลงอย่างมาก และหากสงครามยังคงยืดเยื้อต่อไป แน่นอนว่าจะเห็นความผันผวนสูงและการปรับลดลงครั้งใหญ่ของราคาสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย อาจได้รับผลกระทบหลัก ๆ จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่สูงขึ้น รวมทั้งราคาของสินทรัพย์ในตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูง ซึ่งไม่แตกต่างจากภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก และหากสงครามยืดเยื้อบานปลาย อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของรัสเซีย โดยเฉพาะยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรรัสเซียนั้นเอง ขณะที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกนำเข้าสินค้าโดยตรงและการลงทุนจากรัสเซียและยูเครนค่อนข้างน้อย รวมทั้งมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวรัสเซียอยู่บ้าง ทั้งนี้ สิ่งที่น่าคิดต่อไปและสำคัญยิ่งกว่าคือ สงครามจะบานปลายเพียงใด มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ออกมาอย่างต่อเนื่องจะออกมาในรูปแบบไหนและรายละเอียดจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการโดดเดี่ยวรัสเซียจากระบบการเงินโลก จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ประเทศไทยปรับตัวได้อย่างทันท่วงที… อย่ากะพริบตาครับ! 1 ย่อมาจาก Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication เป็นระบบการส่งข้อความทางการเงินที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง ซึ่งสถาบันการเงินกว่า 11,000 แห่งใช้บริการและครอบคลุมการใช้งานใน 200 ประเทศ ทั้งนี้ มีสถาบันการเงินและบริษัทในรัสเซียที่ใช้บริการ SWIFT ประมาณ 300 แห่ง ผู้เขียน : สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 (อัปเดตล่าสุด 28 กุมภาพันธ์ 2565)
Comments