top of page

ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่ง แล้วทำไม "โอเปก" ไม่ช่วยทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้

ต่างประเทศ


บรรดาผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกเตรียมหารือกันในวันพรุ่งนี้ (5 พ.ค.) ท่ามกลางแรงกดดันจากทั่วโลกที่เรียกร้องให้ช่วยกันหาทางปรับลดราคาน้ำมันดิบลง หลังจากทำสถิติแตะระดับสูงที่สุดในรอบ 8 ปี


ขณะเดียวกัน หลายชาติสมาชิกในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันต่างเรียกร้องต่อชาติสมาชิกในองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส (Opec+) ในการเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบขึ้น ทว่าชาติผู้นำในกลุ่มนี้ กลับดูไม่รีบร้อนในการช่วยเหลือ


โอเปกพลัส คือใคร

โอเปกพลัส (Opec+) คือ 23 ชาติผู้ส่งออกน้ำมัน มาจากชาติสมาชิกในองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร โดยจะมีประชุมกันที่กรุงเวียนนาของออสเตรียทุกเดือน เพื่อกำหนดปริมาณน้ำมันดิบป้อนตลาดโลก


ในจำนวนชาติสมาชิก มีกลุ่มแกนนำประกอบด้วย 13 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกา และเป็นสมาชิกองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1960 ในลักษณะพันธมิตรทางการค้าที่มีเป้าประสงค์เพื่อกำหนดและบริหารอุปทานน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งการควบคุมราคาน้ำมันอีกด้วย


ปัจจุบัน ชาติสมาชิกโอเปกผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 30% หรือคิดเป็นปริมาณ 28 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบสูงถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เมื่อปี 2016 ราคาน้ำมันดิบตกต่ำลง โอเปกได้ร่วมมือกับ 10 ชาติผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกเพื่อก่อตั้ง โอเปกพลัส ( Opec+) ขึ้น โดยในจำนวนนั้นคือ รัสเซีย ที่มีความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบได้มากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน และหากพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว กลุ่มโอเปกพลัส มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบสูงถึงราว 40% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในตลาดโลก


"กลุ่มผู้ค้าน้ำมันในกลุ่มโอเปกพลัสคือผู้กำหนดความสมดุลในตลาดผ่านอุปสงค์และอุปทาน" น.ส. เคต ดูเรียน (Kate Dourian) นักวิชาการจากสถาบันพลังงาน (Energy Institute) กล่าวและว่า

"พวกเขารักษาราคาให้สูง ด้วยการลดกำลังการผลิตลง เมื่อเห็นว่า ปริมาณความต้องการน้ำมันดิบกำลังลดลง"


ในทางกลับกัน โอเปกพลัสก็มีอำนาจในการปรับลดราคาลง ด้วยการเพิ่มการผลิตน้ำมันเข้าสู่ตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาติผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร กำลังเรียกร้องให้โอเปกพลัสพิจารณาดำเนินการ


ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นได้อย่างไร

ช่วงฤดูใบไม้ผลิ (เดือน มี.ค.) ปี 2020 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้แต่ละประเทศต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตกฮวบ เพราะขาดแคลนผู้ซื้อ

"ผู้ผลิตน้ำมันต้องจ่ายเงินให้คนนำน้ำมันออกไป เพราะพวกเขาไม่มีพื้นที่จัดเก็บน้ำมันทั้้งหมด" น.ส. ดูเรียน กล่าว


หลังจากนั้น สมาชิกกลุ่มโอเปกพลัสจึงเห็นพ้องทยอยลดกำลังการผลิต 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น


ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2021 ซึ่งความต้องการน้ำมันดิบเริ่มฟื้นตัว โอเปกพลัสก็เริ่มทยอยเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันขึ้นในแต่ละเดือน จนทำให้เกิดปริมาณน้ำมันส่วนเกิน 400,000 บาร์เรลต่อวันในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบโดยรวมในขณะนี้ก็ยังอยู่ที่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งยังน้อยกว่าปริมาณที่เคยผลิตได้ในช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19


ทว่า เมื่อรัสเซียรุกรานยูเคน ราคาน้ำมันดิบก็กลับพุ่งสูงขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันแพงขึ้น


"เมื่อโอเปกพลัสได้ลดการผลิตน้ำมันลงราว 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. 2020 พวกเขาตัดลงมากเกินไป" นายเดวิด ไฟฟ์ (David Fyfe) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Argus Media กล่าว


"ตอนนี้ พวกเขา (โอเปกพลัส) กำลังเพิ่มอุปทานน้ำมันอย่างช้า ๆ โดยไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน" เขากล่าว


นายไฟฟ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ซื้อน้ำมันเริ่มมีความกังวลว่า สหภาพยุโรป หรือ อียู จะดำเนินการตามอย่างสหรัฐฯ ด้วยการใช้มาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ปัจจุบันชาติยุโรปนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียมากกว่า 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน


"คำขู่ที่ว่า จะสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียกลายเป็นสิ่งที่หลอกหลอนตลาดไปเสียแล้ว เพราะมันจะนำไปสู่การขาดอุปทานอย่างฉับพลัน" เขากล่าว


เหตุใดโอเปกพลัสจะไม่เพิ่มปริมาณน้ำมันดิบอีก

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องต่อซาอุดีอาระเบียหลายครั้งให้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ แต่ก็ไม่ประสบผลใด ๆ

ด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร ก็ได้ร้องขอให้ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่มการผลิต ในระหว่างการเยือนประเทศทั้งสอง แต่ก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน

"ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังคงมีศักยภาพอีก แต่ก็ปฏิเสธที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันในส่วนของตัวเอง เพียงพวกเขาไม่ต้องการถูกบงการจากชาติตะวันตก โดยให้เหตุผลว่า ช่องว่างระหว่างอุปสงค์กับอุปทานกำลังลดลง และราคาน้ำมันที่สูงเป็นภาพสะท้อนจากภาวะตื่นตระหนกจากส่วนของผู้ซื้อน้ำมัน" น.ส. ดูเรียนกล่าว


ส่วนสมาชิกโอเปกพลัสชาติอื่น ๆ การเพิ่มกำลังการผลิตเป็นเรื่องไม่ง่าย

"ผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น อย่าง ไนจีเรีย และแองโกลา ยังคงมีปริมาณการผลิตต่ำกว่าโควตา รวมกันราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีที่ผ่านมา" นายไฟฟ์กล่าว

"ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 การลงทุนลดลง การติดตั้งโรงกลั่นน้ำมันไม่ได้รับการบำรุงรักษาที่ดีนัก แม้ว่าตอนนี้จะอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถผลิตน้ำมันได้เต็มศักยภาพ"


จุดยืนของรัสเซียเป็นอย่างไร

กลุ่มโอเปกพลัสจำเป็นต้องเคารพการตัดสินใจหรือความต้องการของรัสเซีย เนื่องจากเป็นหนึ่งในสองพันธมิตรรายใหญ่

"ชาวรัสเซียยังคงพึงพอใจกับระดับราคาที่เป็นอยู่ และไม่มีผลประโยชน์อันใดที่เขาจะได้รับ หากว่าราคาจะปรับตัวลดลง" ดร. แคโรล์ แนเคิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านพลังงาน Crystol Energy กล่าว

"โอเปกต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย ดังนั้นพวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะเดินทางตามข้อตกลงที่ทำไปแล้วในปีก่อน นั่นหมายความว่า ปริมาณน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจากตอนนี้ถึงเดือน ก.ย." เธอกล่าวทิ้งท้าย


Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page