การเงิน-การคลัง
วันที่ 18 พ.ค. 65 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. และ นายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ ส.อ.ท. ร่วมแถลงข่าวดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 2565 พบว่า ค่าดัชนีฯ ยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.2 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลกระกอบการ ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงานรวมถึงค่าขนส่ง ขณะที่กำลังซื้อในประเทศชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง นอกจากนี้วันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้การผลิตลดลง ในด้านการส่งออกสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลก รวมทั้งกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี สินค้ากลุ่มโลหะ เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่คลี่คลาย และ Space บนเรือไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออกสินค้า รวมทั้งความล่าช้าของเรือขนส่งยังเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออก อีกทั้งปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี แม้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออกก็ตาม แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเงินบาทที่อ่อนจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจนอาจยิ่งเร่งให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีกได้
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,320 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายน 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 80.4 สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 68.0 สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 60.2 และเศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 55.2 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวล ลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 40.1 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 38.5 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 37.6 ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวลดลงจาก 99.6 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นภายหลังจากภาครัฐลดการอุดหนุนราคาโดยจะปรับขึ้นแบบขั้นบันไดจนถึง 35 บาท ต่อลิตร รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกจะทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะกระทบต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง นอกจากนี้นโยบายปิดเมืองของจีนเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การขนส่งสินค้ามีความล่าช้า รวมถึงเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ในตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตามการยกเลิกระบบ Test & Go เพื่อเปิดประเทศเต็มรูปแบบในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 จะสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในระยะต่อไป
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.) ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนการ ผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ 2.) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนอาทิ โครงการคนละครึ่งเฟส 5 และขยายจำนวนสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 3.) สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Security) ที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ 4.) ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนจนเกินไปและให้สอดคล้องกับประเทศ อื่นในภูมิภาคเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ 5.) ออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังการเปิดประเทศ
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมุ่ง “เสริมสร้างความเข็มแข็งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand)”
Comments