คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวสู่ความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับโลก...โดย 6 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานโลกจาก ABET (Accreditation Board for Engineering and Technology สหรัฐอเมริกา พลิกโฉมวิชาชีพวิศวกรไทยสู่หน้าใหม่ในยุคดิสรัพชั่น นับจากนี้ไปจะสร้างความเชื่อมั่นในตลาดแรงงานของโลก แสดงศักยภาพวิศวกรไทยที่มีคุณภาพและความรู้ความสามารถในการทำงานทัดเทียมกับวิศวกรนานาประเทศ และสามารถไปศึกษาต่อได้ทั่วโลก รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ EEC การเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเซียแปซิฟิก (APEC) และเขตข้อตกลงทางการค้าใหม่ระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำเร็จที่ได้รับการรับรองจาก ABET สหรัฐอเมริกา ถึง 6 หลักสูตร ว่า แรงบันดาลใจมาจากความคิดที่ว่า ประเทศอื่นยังทำได้ ประเทศไทยก็ทำได้ และนี่เป็นภารกิจความท้าทายเพื่อประโยชน์ต่อคนไทยและการพัฒนาประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงผนึกพลังความร่วมมือจาก 6 ภาควิชา อาจารย์และทีมงาน ได้ทุ่มเทร่วมกันเรียนรู้และพัฒนายกระดับ เตรียมความพร้อมทั้งระบบ โดยทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ วิเคราะห์รายละเอียด เปลี่ยนข้อจำกัดให้เป็นโอกาส จนนำไปสู่ความสำเร็จ โดยคณะวิศวะมหิดล ได้รับการรับรองมาตรฐานโลกรวดเดียวถึง 6 หลักสูตรจากคณะกรรมการ ABET (Accreditation Board for Engineering and Technology) สหรัฐอเมริกา ได้แก่ 1.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 2.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเคมี 3.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล 4.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า 5.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา 6.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมที่จะตอบสนองนโยบายกระทรวง อว. ในการเป็นโมเดลตัวอย่างและแบ่งปันประสบการณ์พัฒนาการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์แก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ให้ก้าวไปด้วยกัน
มาตรฐาน ABET เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศอย่างไร ABET เป็นเสมือนแบรนด์ของวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก ทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรม การศึกษา และวิชาชีพ ประโยชน์ของ ABET มีหลายด้าน ได้แก่
1. ประโยชน์ต่อผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนไทย คนทำงานหรือนักศึกษานานาชาติ ที่เรียนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง ABET จะสามารถโอนหน่วยกิตไปยังบ้านเกิดหรือประเทศที่จะไปศึกษาต่อได้ และที่สำคัญผู้จบการศึกษาเป็นที่ยอมรับในคุณภาพสากลและมีโอกาสเข้าทำงานได้ทั่วโลก
2. ประโยชน์ต่อบุคลากร อาจารย์และนักวิจัย ทำให้หลักสูตรและมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับในเวทีสากลและภาคีเครือข่ายอย่างกว้างขวาง เป็นโอกาสที่เปิดกว้างต่อความร่วมมือวิจัย แหล่งองค์ความรู้เทคโนโลยี การสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรม เครือข่ายซัพพลายเชนด้านการผลิตเชิงพาณิชย์ที่ตอบโจทย์ในประเทศและประชาคมนานาชาติ รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งทุนวิจัย และแหล่งเงินทุนพัฒนาสตาร์ทอัพมากยิ่งขึ้นอันจะนำไปสู่ความสำเร็จ
3. ประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย ทำให้สถาบันการศึกษาที่ได้การรับรองจาก ABET ได้รับความเชื่อถือ ในมาตรฐานการเรียนการสอนและการดำเนินงานรอบด้าน สามารถพัฒนาองค์กรและการจัดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การศึกษาไร้พรมแดนอย่างแท้จริง ภายใต้มาตฐาน ABET ทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งช่วยยกระดับระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่และการบริหารงานที่ดีเพื่อรักษาคุณภาพของการศึกษาระดับสากลไว้และขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า อย่างไม่หยุดนิ่ง
4.ประโยชน์ต่อประเทศไทย มาตรฐาน ABET ช่วยให้มีการพัฒนาศักยภาพของวิศวกรไทยในสาขาต่างๆให้มีสมรรถนะสูง พร้อมเป็น Global Engineer สู่ระดับโลก เสริมพลังของการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้ก้าวหน้า สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคมและเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเสริมความทัดเทียมวิศวกรไทยกับวิศวกรในนานาประเทศชั้นนำ เสริมความแข็งแกร่งของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (S-Curve และ New S-Curve) รองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) การพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆ เช่น กลุ่มอาเซียน กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเซียแปซิฟิก (APEC) กลุ่มความตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นต้น
ศ.เมธี เวชารัตนา นายกสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) กล่าวว่า ในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมและวิศวกรรมเทคโนโลยีในนานาประเทศทั่วโลก กำหนดว่าบุคลากรทางด้านนี้ต้องจบการศึกษาที่ได้มาตรฐาน ABET (Accreditation Board for Engineering and Technology) เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่จะแสดงถึงคุณภาพมาตรฐาน ทำให้ผู้ที่จบหลักสูตรที่ได้การรับรอง ABET ในไทยมีความเท่าเทียมกับนานาประเทศ ได้รับโอกาสไปทำงานทั่วโลก หรือเรียนต่อในระดับสากลได้ สำหรับตลาดแรงงานด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนไป ลองมองจีนที่ได้พัฒนาสร้างระบบรางทางรถไฟเชื่อมต่อมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเปลี่ยนภูมิภาคนี้ให้กลายเป็นพื้นที่ของ Regional Business/Economy ตลาดงานวิศวกรจะขยายตัวไปทำงานในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น หากประเทศไทยปรับแนวทางให้สอดคล้องแล้ว ABET ก็มีส่วนช่วยเตรียมกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงให้พร้อมทำงานรองรับความต้องการของตลาดแรงงานและการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ผ่านมาคนไทยเก่งๆ มักย้ายไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ จะทำอย่างไรให้คนเก่งมาพัฒนาประเทศของเรา ดังนั้น ABET จะช่วยดึงดูดให้เยาวชนไทยและประเทศเพื่อนบ้านมาเรียนมากขึ้น ในอนาคตหากสถาบันการศึกษาอื่นต้องการผ่านมาตรฐาน ABET ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากประเทศไทยมีโมเดลมหาวิทยาลัยที่ได้ ABET มีกำลังคนที่จะช่วยชี้แนะการยกระดับสู่ ABET ได้แล้ว
รศ.ดร.วีระ จันทร์คง สมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) กล่าวว่า สมาคมฯ เป็นองค์กรวิชาชีพในสหรัฐ รู้สึกภาคภูมิใจ และยินดีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทยได้รับการรับรอง ABET ความสำเร็จมาจาก 4 ประการ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก (Drivers) คือ 1. มีความเชื่อมั่นในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับภาควิชา อาจารย์และทีมงาน ว่าจะได้รับประโยชน์ต่อผู้เรียน องค์กรการศึกษาและประเทศชาติ 2. มีแชมเปี้ยน หรือทีมทำงานที่ทุ่มเทและร่วมมือกัน 3. การดำเนินงานด้วยความเข้าใจและประสิทธิภาพ 4. ประสานความร่วมมือ พัฒนาและแก้ไขให้เกิดพลังอย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างไม่หยุดนิ่ง
ดร.ลักษมณ สมานสินธุ์ ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ 2 กองการต่างประเทศ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สรุปท้ายว่า โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ให้ได้รับการรับรองจาก ABET เฟส 1 นับว่าเป็นโครงการนำร่อง หรือ Sandbox ที่ลงทุนน้อยแต่สามารถบรรลุผลสำเร็จถึง 9 หลักสูตร โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ABET มากที่สุด 6 หลักสูตร ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 1 หลักสูตร ม.เชียงใหม่ 1 หลักสูตร และ ม.เทคโนโลยีสุรนารี 1 หลักสูตร สำหรับโครงการ เฟส 2 นั้น กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อยู่ระหว่างเตรียมแผนงานสำหรับปี 2568 ถึง ปี 2569 โดยตั้งเป้าหมายจะยกระดับสู่มาตรฐาน ABET ให้ได้จำนวน 20 หลักสูตร ต่อไป
Comments