นวัตกรรมและวิศวกรรมชีวการแพทย์ (BioMedical Engineering) มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของประเทศและโลก ดังนั้นการเสริมสร้างประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ (Medical Hub) ในภูมิภาคโลกอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างเสริมกำลังคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์เพี่อสร้างสรรค์เฮลท์แคร์และเฮลท์เทครองรับวิถีอนาคต ท่ามกลางความท้าทายของโรคอุบัติใหม่และปัญหาทางสุขภาพ
รศ.ดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิศวะมหิดล ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ภายใต้แนวนโยบายการบริหารของ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี มีเป้าหมายที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ของไทยเป็น “วิศวกรชีวการแพทย์” ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างสูงในนานาประเทศ เนื่องด้วยแต่ละประเทศให้ความสำคัญต่อสุขภาพและสถานการณ์โรคภัยซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน สังคม และเศรษฐกิจ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ สหราชอาณาจักร จะมอบทุนการศึกษา แก่นักศึกษาที่เข้าศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) ในปีการศึกษา 2565 รอบ Academically Talented and Gifted Students จำนวน 2 ทุน เปิดสมัครได้ตั้งแต่ วันนี้ - 23 มิถุนายน 2565 โดยเป็นนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าค่ายฝึกอบรมโครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ศึกษา ค่าย 2 ของมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) และต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.50 ในทุกภาคการศึกษา
ผศ.ดร.วรากร เจริญสุข รักษาการหัวหน้าภาควิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นหลักสูตร ป.ตรีสองปริญญา หรือ Double Degree ระหว่าง 2 สถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ (University of Strathclyde) แห่งสหราชอาณาจักร เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ได้ ทั้งนี้โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในการเพิ่มกำลังบุคลากรและงานวิจัยคุณภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ระดับโลก โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีประสบการณ์ด้านงานวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมศาสตร์ระดับสากล รวมถึงความแข็งแกร่งทางวิชาการในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีมายาวนานกว่า 15 ปี และมีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในหลายประเทศที่มีความพร้อมในการสร้างหลักสูตรร่วมกัน
ด้าน มหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ เป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านการออกแบบและผลิตนวัตกรรม การได้ทำหลักสูตรร่วมนานาชาติวิศวกรรมศาสตร์ครั้งนี้ นำไปสู่การพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างงานวิจัยที่สามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์สู่การเป็นผู้ประกอบการและรองรับภาคอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของโลก นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในต่างประเทศที่มีความพร้อมที่จะสามารถร่วมกันพัฒนากิจกรรมในหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและยกระดับพหุศาสตร์ด้านวิศวกรรม
นอกจากนี้ หลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ (นานาชาติ) นี้ จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาเปิดโลกกว้างไปศึกษาในสหราชอาณาจักร ณ มหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ เป็นเวลา 2 ปี สำหรับหลักสูตรปริญญาตรี โดยจะเน้นการศึกษาที่ก้าวหน้าในการทำโครงการและงานวิจัยร่วมกันระหว่าง 2 สถาบัน ซึ่งจะเสริมประสบการณ์ระดับนานาชาติที่มีคุณประโยชน์ยิ่งต่อผู้เรียน ได้แก่ ความหลากหลายทางด้านโครงงานและงานวิจัย ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับสถาบันทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการและธุรกิจสตาร์ทอัพ จากความสำเร็จและประสบการณ์อันยาวนานของหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา เป็นต้น
留言