ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด 5 พ.ค. 66 ลดลง 5.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 74.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเปลี่ยนไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย จากความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอาจเข้าสู่สภาวะถดถอย ทั้งในภาคงบประมาณ การเงิน และการธนาคาร อาทิ วันที่ 4 พ.ค. 66 หุ้น PacWest Bancorp ลดลง 51% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังธนาคารเปิดเผยว่าอาจพิจารณาเพิ่มทุนหรือขายกิจการ, หุ้น Western Alliance Bancorp ลดลง 38% ขณะที่ธนาคารยืนยันสถานะทางการเงินว่ายังไม่ต้องขายกิจการ, หุ้น First Horizon ลดลง 33% ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2551 หลัง Dominion Bank ของแคนาดายุติการเจรจาซื้อกิจการ
ทางด้านนักวิเคราะห์ Reuters คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) อาจยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และนักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ก.ย. 66 ทั้งนี้วันที่ 3 พ.ค. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 5.0-5.25% และจะมีการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 13-14 มิ.ย. 66
คาดว่าราคา ICE Brent ในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden มีแผนหารือร่วมกับแกนนำรัฐสภา 4 ท่าน ในวันที่ 9 พ.ค. 66 ทั้งฝั่งวุฒิสภา ได้แก่ นาย Chuck Schumer (Democratic Senator - Majority Leader), นาย Mitch McConnell (Senate Republican leader) และฝั่งสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ นาย Kevin McCarthy (Speaker of the House - Republican), และนาย Hakeem Jeffries (House Minority Leader) ในประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณ และขยายเพดานหนี้
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· 4 พ.ค. 66 ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate) มาอยู่ที่ 3.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (Marginal Lending Facility Rate) มาอยู่ที่ 4%
· National Bureau of Statistics (NBS) ของจีนรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Manager's Index: PMI) ในเดือน เม.ย. 66 จากเดือนก่อนลดลง 2.7 จุด อยู่ที่ 49.2 จุด ลดลงครั้งแรกตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65
· Kpler รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบสู่เอเชียทางทะเลในเดือน เม.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 76,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Argus รายงาน OPEC และพันธมิตร (OPEC+) รวม 19 ประเทศ ผลิตน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 66 ลดลง 200,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 37.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ข้อตกลงของ OPEC+ อยู่ที่ 40.10 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Goldman Sachs ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ ในปี 2566 จากปีก่อนมาอยู่ที่ +1.6% (จากเดิมที่ +1.4% จากปีก่อน) โดยคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ระดับ 5-5.25% คือระดับสูงสุดในปีนี้ โดย Fed จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก นอกจากนี้ ยังคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
· EIA รายงานสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 เม.ย. 66 ลดลง 82,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 4.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน
Cr.ฝ่ายแผนและบริหารบริษัทในเครือ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
Bình luận