top of page

สนข. เร่งแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งระบบบนถนนสายหลักในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล



สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งระบบบนถนนสายหลักในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ณ ห้อง Beijing & Berlin โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น นาดา ดอนเมือง แอร์พอร์ต โดยมีนายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมการสัมมนาฯ ดังกล่าว กระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการศึกษาทบทวนข้อมูลจุดหรือตำแหน่งที่มีปัญหาการจราจรภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนเร่งด่วนในการปรับปรุงเบ็ดเสร็จบนถนนสายหลัก เมื่อปี พ.ศ. 2556 ของ สนข. มีจำนวนทั้งสิ้น 257 จุด และในปี พ.ศ. 2565 สนข. ได้ทำการตรวจสอบสภาพกายภาพและปัญหาการจราจรในปัจจุบัน และได้รวบรวมข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล พบว่า คงเหลือจุดที่มีปัญหาการจราจรที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และดำเนินการแล้วไม่เป็นไปตามแผน ประมาณ 120 จุด ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีทั้งจุดปัญหาประเภททางแยก จุดกลับรถ จุดคอขวดทางกายภาพ และป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง ซึ่งมีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรในบริเวณดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ดังนั้น สนข. จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งระบบบนถนนสายหลักในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีระยะเวลาการศึกษารวม 14 เดือน (เดือนกันยายน 2565 - เดือนตุลาคม 2566) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรเร่งด่วนบริเวณตำแหน่งที่มีปัญหาการจราจรติดขัดเพื่อการแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งจัดทำแนวทางบริหารจัดการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อการขับเคลื่อนให้เกิดการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ รวมทั้งเทคโนโลยีในการวิเคราะห์และวางแผนระบบการจราจรและขนส่งให้แก่บุคลากรของ สนข. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา สนข. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของการศึกษาที่สอดคล้องกับขอบเขตของการดำเนินงาน ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้วมากกว่าร้อยละ 50 ประกอบด้วย 1) งานแก้ไขปัญหาจราจรในระยะเร่งด่วน โดย สนข. ได้ทบทวนการแก้ไขปัญหาจราจร ตามการศึกษาโครงการงานศึกษาจัดทำแผนเร่งด่วนในการปรับปรุงเบ็ดเสร็จบนถนนสายหลัก ปี พ.ศ. 2556 มีการตรวจสอบสภาพปัญหาจราจรและกำหนดจุดปัญหาจราจรในปัจจุบัน รวมทั้งมีการสำรวจ วิเคราะห์สภาพปัญหาจราจร และคัดเลือกจุดปัญหาจากผลคัดกรองจุดปัญหาจราจรจากแผนเร่งด่วนในการปรับปรุงเบ็ดเสร็จ บนถนนสายหลัก ปี พ.ศ. 2556 ร่วมกับการวิเคราะห์ความเร็วเฉลี่ยจากข้อมูล GPS และ CCTV ของโครงการการศึกษาจัดทำโมเดลการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการจราจร กรุงเทพมหานคร ที่ สนข. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา โดยสามารถกำหนดจุดปัญหาจราจรระยะเร่งด่วนได้ 4 กลุ่มปัญหา รวม 127 จุดประกอบด้วย 1. ปัญหาจราจรบริเวณทางแยก 57 จุด 2. ปัญหาคอขวดของถนน 34 จุด 3. ปัญหาที่เกิดจากจุดกลับรถ 18 จุด และ 4. ปัญหาที่เกิดบริเวณป้ายรถโดยสารประจำทาง 18 จุด 2) งานจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยทบทวนแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาจราจรที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจราจรฯ เช่น แผนแม่บทการพัฒนาและบูรณาการโครงข่ายถนน สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และการจราจรในเขตกรุงเทพและปริมณฑล การศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ รวมทั้งรวบรวมแผนงาน/โครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 16 หน่วยงาน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ ตำรวจจราจร และจังหวัดปริมณฑลตลอดจนทบทวน วิเคราะห์การใช้ประโยชน์ที่ดินที่กระทบต่อการจราจร 3) งานจัดทำแนวทางการจัดการจราจร เพื่อให้การขับเคลื่อนให้เกิดการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) โดยทบทวนการศึกษาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางการบริหารจัดการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล การบูรณาการข้อมูลและจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการจราจรและแนวทางบริหารจัดการข้อมูลจราจร เพื่อให้เกิดการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย การประยุกต์ใช้ Technology Smart Mobility โดยใช้ข้อมูลจากการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพจราจรของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ข้อมูลจากระบบ CCTV และข้อมูล GPS ของรถบรรทุกขนส่งสินค้า รถโดยสารประจำทาง และรถแท็กซี่ สำหรับประกอบการวิเคราะห์สภาพจราจรและรูปแบบของปัญหาการจราจรในพื้นที่วงแหวนกาญจนาภิเษก การวิเคราะห์และประมวลผลการจัดทำต้นแบบการเก็บข้อมูลบริเวณทางแยกเพื่อใช้ในการบริหารจัดการสัญญาณไฟจราจรแบบอัตโนมัติร่วมกันหลายทางแยก เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการจราจร การใช้ประโยชน์จากข้อมูลสภาพจราจรกับเว็บไซต์นำทาง ของ สนข. 4) งานสนับสนุนทางวิชาการ และ 5) งานฝึกอบรมทางวิชาการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งระบบบนถนนสายหลักในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กำหนดให้มีการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น จำนวนทั้งสิ้น 8 ครั้ง (ระหว่างเดือนพฤษภาคม - เดือนมิถุนายน 2566) ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำโครงการ ขอบเขตการดำเนินงาน ภาพรวมจุดปัญหาจราจรระยะเร่งด่วน ทั้งสิ้น 127 จุด พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรระยะเร่งด่วนเบื้องต้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานการศึกษาให้เป็นไปตามความเหมาะสม และเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง สำหรับการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ที่ สนข. จัดขึ้นในครั้งนี้ จะครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ฝั่งเหนือ โซน 1 ประกอบด้วยจุดปัญหาจำนวน 15 จุด ในเขตพื้นที่เขตลาดพร้าว เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตสายไหม เขตบางเขน และเขตดอนเมือง ได้แก่ กลุ่มพื้นที่ถนนกำแพงเพชรและพระรามที่ 6 ตัดใหม่ (แยกสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คอขวดถนนพระรามที่ 6 ตัดใหม่ อุโมงค์ทางลอดสะพานรถไฟข้าม-จุดตัดเตชะวณิช) กลุ่มพื้นที่ถนนพหลโยธิน (แยกพลาธิการ ทอ. แยกโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย แยก คปอ. จุดกลับรถหน้าตลาดสะพานใหม่) กลุ่มพื้นที่ถนนสายไหม (แยกหน้าตลาดวงศกร แยกวัดหนองใหญ่) คอขวดถนนเพิ่มสิน (บริเวณศาลเจ้าพ่อสมบุญ) คอขวดถนนงามวงศ์วานก่อนถึงแยกบางเขน (มาจากแยกพงษ์เพชร) จุดกลับรถใต้สะพานข้ามแยกประชานุกูล จุดคอขวดทางขึ้นสะพานวัชรพล ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนปัญญาอินทราตัดถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก (แยกปัญญา) ป้ายรถโดยสารหน้าศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ (ถนนรามอินทรา) และแยกสุคนธสวัสดิ์ โดย สนข. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ไปพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรเร่งด่วนบริเวณตำแหน่งที่มีปัญหาการจราจรติดขัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวม ของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นไปอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page