top of page

อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากอิทธิพลของพายุโนรู

กำชับมาตรการความปลอดภัยบริเวณท่าเรือและการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา

คมนาคม-ขนส่ง

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วย นายพิทักษ์ วัฒนพงศ์พิศาล ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำและคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 หลังจากเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุโนรู ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัยและมีน้ำท่วมขัง โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานของกรมเจ้าท่า ระดมสรรพกำลังลงพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง จัดเจ้าหน้าที่พร้อมเรือตรวจการณ์เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง อำนวยความสะดวกประชาชนที่สัญจรทางน้ำ ตลอดจนรับ-ส่งประชาชนที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้การสัญจรทางน้ำ กรณีเรือโดยสารเกิดผลกระทบไม่สามารถให้บริการได้ จนกว่าสถานการณ์น้ำ จะเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงสั่งการให้สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า จัดทำแผนการปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยในภาวะฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน พร้อมกำหนดมาตรการเข้มด้านความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำ ดังนี้

1. ควบคุมความเร็วในการเดินเรือ ในช่วงระดับน้ำขึ้นสูง (เดินเรือกลางน้ำ ช้าและเบา) 2. ให้ผู้ควบคุมเรือ เพิ่มความระมัดระวังในการเทียบท่ารับ – ส่งผู้โดยสาร 3. ให้เจ้าหน้าที่ประจำท่า และผู้ควบคุมท่าเรืออำนวยความสะดวกในการขึ้น-ลงเรือของผู้โดยสาร 4. สั่งเตรียมความพร้อมเรือตรวจการณ์ และเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยทางน้ำ 5. ให้เจ้าหน้าที่ประจำท่า ผู้ควบคุมท่าเรือ และผู้ควบคุมเรือ ตรวจความพร้อมก่อนเรือออกจากท่า

พร้อมกันนี้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ท่าเรือสาทรเพื่อติดตามมาตรการความปลอดภัยบริเวณท่าเรือ โดยสั่งการให้มีหน่วยรับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยทางน้ำภายในท่าเรือ และลงพื้นที่ท่าเรือราชินี เพื่อเร่งติดตามความคืบหน้า การปรับปรุงพัฒนาท่าเรือ ให้พร้อมบริการประชาชน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ก่อนช่วงเทศกาล ลอยกระทงที่กำลังจะมาถึงและพร้อมสำหรับพิธีเปิดท่าเรือที่เตรียมจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ ท่าเรือราชินี ที่กรมเจ้าท่าดำเนินการพัฒนาถือเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ มีผู้โดยสารใช้บริการผ่านท่าเรือฯ เป็นจำนวนมาก อาทิ นักเรียน ประชาชน นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่ง ล้อ-ราง-เรือ ที่สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT บริเวณสถานีสนามไชย สำหรับการปรับปรุง พัฒนาท่าเรือราชินี มีแนวคิดการออกแบบเน้นความสวยงามและมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ให้เป็นท่าเรือที่สวยที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ช่วยให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย โดยดำเนินการพัฒนาปรับปรุงก่อสร้าง ได้แก่ 1. ก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร 2 ชั้น พื้นที่ 1,277 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่ดาดฟ้าหลังคา ให้เป็นลานกิจกรรมใช้ประโยชน์เป็นจุดชมวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมตกแต่งภายในบริเวณอาคารพักคอยเน้นความเป็นไทย มีระบบควบคุมและการให้บริการที่ทันสมัย 2. ก่อสร้างทางเดินเชื่อมท่าเรือกับพื้นที่บนฝั่งจุดเชื่อมต่อทางขึ้นสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย พร้อมซุ้มประตูทางเข้าท่าเรือให้มีความเป็นเอกลักษณ์ 3. ก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ ขนาด 9×24 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับขึ้นลงโป๊ะเทียบเรือ จำนวน 1 โป๊ะ

ทั้งนี้ ภายหลังปรับปรุงแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,900 คน/วัน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 95 % พร้อมเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้


อนึ่ง กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม นำเรือ รถ พร้อมเจ้าหน้าที่ เร่งช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยจากพายุ “โนรู”


รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจากพายุโนรูในหลายพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันได้ลดระดับเป็นพายุดีเปรสชัน พัดเข้าประเทศไทยตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 กระทรวงคมนาคม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า ดำเนินการเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย

โดยในวันที่ 6 ตุลาคม 2565 กรมเจ้าท่า บูรณาการร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยตั้งศูนย์อำนวยการ 8 จุด เจ้าหน้าที่ 70 นาย เรือ 15 ลำ รถ 21 คัน ถุงยังชีพ 100 ถุง ข้าวกล่อง 50 กล่อง แจกน้ำดื่ม 3,580 ขวด ดังนี้


สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 และสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 ร่วมตรวจสอบในอำเภอเมืองเชียงใหม่ พบว่าระดับน้ำในตัวเมืองเชียงใหม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยได้บูรณาการร่วมกับจังหวัดและเทศบาลทำความสะอาด Big cleaning และในเวลา 12.40 น. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพิษณุโลก และสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 2 (นครสวรรค์) ลงพื้นที่ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้การต้อนรับและรายงานผลการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 2 นำรถบรรทุกน้ำดื่มช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พื้นที่ตำบลคลองตะเคียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 686 ครัวเรือน สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 1 นำเรือช่วยขนย้ายทรัพย์สินประชาชน และช่วยรับ - ส่ง พระวัดตะกู อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมนำเครื่องจักรปฏิบัติงานซ่อมแซมผนังกันน้ำแตกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 และสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8 นำเรือและรถช่วยผู้ประสบอุทกภัย พื้นที่ ต.นาหนองไผ่ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ,บ้านนาอ้อ จังหวัดเลย, ตำบลโคกสำราญ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น, อำเภอเมืองและอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย และจัดชุดเจ้าหน้าที่ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัย เตรียมพร้อมกำลังคน ยานพาหนะ บูรณาการร่วมกับจังหวัดในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีที่ได้รับแจ้งเหตุและจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ พยากรณ์อากาศ รับข่าวสาร สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง

ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page