เนื่องใน ‘วันนักข่าว’ มาคุยกับ ผศ.อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัย จากธรรมศาสตร์ ในวันที่โลกหมุนผ่านกาลเวลา สื่อมวลชนก้าวหน้าตามโลกเรามากแค่ไหน
ปัจจุบัน Social Media เข้ามามีส่วนทำให้ทุกคนเป็นสื่อได้ แล้วหน้าที่ของสื่อมวลชน กระทบหรือไม่ อย่างไร
ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้กระแสของข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลไปได้อย่างอิสระคือ ใครจะโพสต์จะนำเสนอเนื้อหาอย่างไรก็ได้ โดยเฉพาะในยุคเทคโนโลยีมีความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน ในการผลิตเนื้อหาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวที่กำลังเป็นกระแสในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งสื่อมวลชนเองมีกรอบจรรยาบรรณและจริยธรรมทางวิชาชีพในการดำเนินงาน การที่คนในสังคมใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ เพิ่มความท้าทายในการทำงานให้กับสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน อดีตเราทราบกันว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่ในการพิจารณาประเด็นข่าวสารข้อมูลที่มีคุณค่าของความเป็นข่าว ปัจจุบันการที่จะหยิบยกประเด็นไหนขึ้นมาต่อยอดนำเสนอในรูปแบบของข่าว สื่อเองต้องเพิ่มความระมัดระวังในการนำเสนอมากยิ่งขึ้น คุณค่าของเนื้อหา และข้อเท็จจริง น่าจะเป็น 2 เสาหลัก ที่สื่อมวลชนในปัจจุบันยังคงยืนหยัดท่ามกลางกระแสข่าวสารข้อมูลจำนวนมหาศาล
อะไรทำให้ สื่อมวลชนและนักข่าว แตกต่างกับ Content Creator ทั่วไป ๆ ???
‘บทบาทหน้าที่ คือสิ่งที่ทำให้สื่อมวลชนแตกต่างจาก Content Creator’ Creator มีหน้าที่ในการสร้างสรรค์เนื้อหาในรูปแบบต่าง ๆ ตามความถนัดเพื่อนำเสนอให้เกิดฐานผู้ติดตาม นักสร้างสรรค์เนื้อหาบางรายใช้ Sense of Humor หรือความตลก เป็นกลยุทธ์หลัก ๆ ในการนำเสนอเนื้อหาเพื่อสร้างความบันเทิง บางรายใช้ลีลาการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา เพื่อให้โดนใจกลุ่มผู้ติดตามของตน ซี่งยังมีลีลาการนำเสนอในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย สุดแล้วแต่ว่า Content Creator ท่านนั้น ๆ ต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้กับตนเองอย่างไร
ในขณะที่สื่อมวลชนและนักข่าวมีจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องบทบาทหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริง ข่าวสารข้อมูลที่นำเสนอไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างความบันเทิง สร้างกระแส แต่ต้องเป็นไปเพื่อนำเสนอความจริงให้สังคมได้รับรู้ รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน
มองทิศทางการปรับตัวของนักข่าวในโลกออนไลน์ ที่กำลังไปสู่ Metaverse อย่างไร ทิศทางการปรับตัวของสื่อมวลชน คือการเป็น Role Model หรือเป็นต้นแบบที่ดีในการนำเสนอข้อมูล คงไว้ซึ่งบทบาทของการเป็นผู้นำเสนอความจริง ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อประโยชน์ของประชาชน และการระมัดระวังบทบาทการนำเสนอข่าวสารข้อมูล ไม่ให้เป็นไปเพื่อการสร้างกระแส เพื่อดึงความสนใจ ของผู้รับสารที่เป็น Netizen
ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นที่ชาวเน็ต ทำหน้าที่เป็นนักสืบโซเชี่ยล คอยเก็บข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้จากสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมีการต่อยอดด้วยการนำเนื้อหาเหล่านั้นมานำเสนอในมุมของสื่อมวลชน แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าว ช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือรวมทั้งสร้างน่าสนใจให้เกิดขึ้นกับเนื้อหาเหล่านั้นได้มากขึ้นหลายเท่า
ด้วยอำนาจการนำเสนอที่อยู่ในมือตรงนี้ หากสามารถบริหารจัดการการนำเสนอเนื้อหา และชี้นำสังคมไปในแนวทางที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตากันได้นั้น เชื่อว่ากิจกรรมการนำเสนอเพื่อสร้างกระแส การขยี้ประเด็น รวมถึงการนำเสนอข่าวลวงในอนาคต จะเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ค่านิยมการเรียกฐานผู้ติดตามอีกต่อไป
อะไรคือแกนหลักของ สื่อมวลชนและนักข่าว ที่ทำให้อาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่แตกต่าง
ขึ้นชื่อว่าเป็นวิชาชีพ จริยธรรม และจรรยาบรรณ ในการดำเนินงานเป็นสิ่งที่ทำให้สื่อมวลชนและนักข่าวแตกต่างการผู้นำเสนอเนื้อหาบนสื่อสังคมออนไลน์ประเภทอื่น ๆ ด้วยวิชาชีพที่มุ่งนำเสนอความจริง สร้างสรรค์สังคม นี่คือเส้นทางในการดำเนินงานที่ทำให้สื่อมวลชนมีแนวทางในการนำเสนอด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างจากงานนำเสนอเนื้อหาอื่น ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก ผศ.อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัย อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Comentários