ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
"เป็นที่ทราบกันดีว่าประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เชื่อเรื่อง Climate change จึงได้ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสในสมัยแรกที่เป็นประธานาธิบดี ต่อมาประธานาธิบดีไบเดนได้กลับเข้าสู่ข้อตกลงอีกครั้งหนึ่งในปี 2564 จึงได้ออกกฎหมายหลายฉบับ โดยฉบับที่สำคัญคือการให้แรงจูงใจด้านภาษีต่อการพัฒนาพลังงานสะอาด ทำให้เกิดการลงทุนขนานใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการสนับเงินทุนวิจัยด้าน Climate change เกิดการจ้างงานตามมามากมาย ดังนั้นการเข้ามาสู่ตำแหน่งในสมัยที่ 2 ของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากชาวสหรัฐอย่างล้นหลาม และสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในสภาล่าง และสภาบน การปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การยกเลิกแผนพัฒนาพลังงานสะอาดที่ประธานาธิบดีไบเดนดำเนินงานมา เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และต้องผ่านความเห็นชอบ 2/3 เสียงของทั้งสองสภา
นอกจากนี้ แผนการพัฒนาพลังงานสะอาดก็เป็นประโยชน์กับชาวสหรัฐโดยเฉพาะในรัฐสีแดงซึ่งเป็นฐานเสียงของทรัมป์เอง โดยเฉพาะด้านภาษี การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการกักเก็บคาร์บอน (Carbon capture storage) รวมทั้งการพัฒนาพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตามว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ มีนโยบายที่ชัดเจนตอนหาเสียง (Make America great again) ว่าจะเพิ่มการใช้พลังงานฟอสซิลไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ รวมทั้งถ่านหิน ในขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้บริษัทน้ำมันหลายแห่งลังเลใจ และไม่มั่นใจในอนาคต
ประกอบกับในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาผู้นำสหรัฐโดยประธานาธิบดีไบเดน ใส่ใจเรื่องสภาพอากาศอย่างจริงจัง ให้ความร่วมมือกับนานาชาติพร้อมกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนระยะสั้นในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลง 50% ในปี 2030 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสในการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5℃อย่างไรก็ตามการเข้ามาดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 ของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะประกาศถอนตัวอีกครั้งหนึ่งจากข้อตกลงปารีส มีการประเมินว่าสหรัฐจะเพิ่มการปล่อยแก๊สเรือนกระจกขึ้นอีก 4,000 ล้านตันในปี 2030 (โดยลดลง 28 %
แทนที่จะลดลง 50% จากปี 2020) ดังนั้นการเข้าสู่เป้าหมายตามข้อตกลงปารีสในปี 2015 ก็คงต้องเลื่อนออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (สหรัฐเป็นหมายเลข 1-2 ของโลกในการปล่อย) การประชุม COP29 ที่เมือง Baku ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญพูดว่าเป็น “Finance COP” จะมีการปรับเป้าหมายการเงินด้านสภาพอากาศ (Climate finance) ในรอบ 15 ปี และมีข้อเสนอใหม่ NCQG (New Collective Quantified Goal) มาทดแทนเป้าหมายเดิม รวมทั้งจะมีการหารือเรื่องการทำรายงาน NDC 2025 ที่กล้าหาญ และทะเยอทะยานมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยได้รับการประเมินว่ายังไม่มีมาตรการเพียงพอก็อาจจะถูกทวงถามเรื่องนี้
ในขณะที่คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC, Intergovermental Panel on Climate Change) ได้ประเมินสถานการณ์ล่าสุดพบว่าขีดจำกัด 1.5℃อาจจะมาถึงภายในปี 2033 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะ 2℃ ภายในปี 2058 และอาจจะเพิ่มขึ้นแตะ 2.7-3℃ ภายในปี 2100 ผมจะเข้าร่วมประชุมการประชุม IPCC 8-13 ธันวาคมนี้ที่มาเลเซีย คงจะมีการหารือกันต่อไป ภายใต้สถานการณ์การปัจจุบัน โดยข้อมูลล่าสุดจากสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S คาดการณ์ว่าปี 2024 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด และเป็นปีแรกที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นแตะ 1.5℃ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าหากโลกร้อนเกินกว่านั้น โลกจะเผชิญกับความเสียหายที่ไม่อาจย้อนคืนได้ ดังเช่น ภัยคุกคามด้านสภาพอากาศปัจจุบันที่โลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.2℃ หนักหนาสาหัสเพียงใดทั้งในต่างประเทศ และภายในประเทศซึ่งทุกท่านคงทราบดี ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีเส้นทางเดินที่เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันด้านสภาพอากาศของชุมชน มีความเป็น Resilience เป็นต้น
หมายเหตุ :ชุมชน เทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดต้องการสร้างภูมิคุ้มกันตนเองจากภัยคุกคามด้านน้ำ (น้ำท่วม น้ำแล้ง) โปรดติดต่อทีมกู้วิกฤติน้ำ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยประสานได้ที่ คุณนพดล มากทอง โทร 099-0288333
********************
ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
Komentar