top of page

อาบูดาบีเตรียมเปิดศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก


บุกเบิกศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกแห่งใหม่ในอาบูดาบี เพื่อเร่งพัฒนาการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกและออกแบบตลาด สืบเนื่องจากการประชุม COP28

· ศูนย์กลางความรู้แห่งใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัย ให้คำปรึกษา และพัฒนาทักษะชั้นนำของโลก เพื่อบุกเบิกการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศรูปแบบใหม่ และดันอาบูดาบีให้เป็นตลาดชั้นนำระดับโลก

· สมาชิกผู้ก่อตั้ง 9 รายทั่วโลกยืนยันเป็นสมาชิกแล้ว ได้แก่ เอดีจีเอ็ม, เอดีคิว, แบล็คร็อค, ซีไอเอฟเอฟ, จีเอฟเอเอ็นซี, เอชเอสบีซี, มาสดาร์, ไนน์ตี วัน และกลุ่มธนาคารโลก


อาบูดาบีเตรียมจัดตั้งศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Finance Centre หรือ GCFC) ซึ่งจะเข้ามาเร่งการพัฒนากรอบและทักษะด้านการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และทั่วโลก โดยศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนี้มีเป้าหมายที่จะจัดการกับอุปสรรคสำคัญ อันเป็นผลจากกรอบทางการเงินที่ขัดขวางกระแสการลงทุน เพื่อช่วยให้การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศพร้อมให้เข้าถึงได้ ราคาไม่แพง และสอดรับกับผลลัพธ์จากการประชุม COP28 เพื่อนำไปดำเนินการต่อ


ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกทำหน้าที่เป็นคลังความคิดและศูนย์กลางการวิจัยอิสระ เพื่อจัดการกับต้นตอของปัญหาที่ขัดขวางการลงทุน โดยนำการวิจัยที่ล้ำหน้าและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำมารวมกัน เพื่อพัฒนากรอบการทำงานทางการเงินที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ซึ่งมีความสอดคล้องกันในระดับสากลมากขึ้น ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยกับการลงทุนในโครงการที่มีคาร์บอนต่ำ ยั่งยืน และมีความยืดหยุ่น

ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีสำนักงานใหญ่อยู่ในอาคารอาบูดาบี โกลบอล มาร์เก็ต (ADGM) โดยดร. สุลต่าน อัล จาเบอร์ (Sultan Al Jaber) ประธาน COP28 ได้ประกาศเอาไว้เป็นครั้งแรกในระหว่างการประชุมภาคการเงินเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม และในวันนี้ ฯพณฯ อาเหม็ด จาซิม อัล ซาบี (H.E. Ahmed Jasim Al Zaabi) ประธานอาบูดาบี โกลบอล มาร์เก็ต และกรมพัฒนาเศรษฐกิจอาบูดาบี (ADDED) ได้กล่าวปราศรัยในการประชุมสุดยอดสัปดาห์ความยั่งยืนอาบูดาบี (Abu Dhabi Sustainability Week หรือ ADSW) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ADSW วาระพิเศษที่การประชุม COP28 โดยเขาได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้าที่หลัก 3 ประการของศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

· การวิจัย นโยบาย และนวัตกรรม: ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ในฐานะหน่วยงานอิสระและคลังความคิดทางการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศระดับโลกที่มุ่งเน้นภาคเอกชน จะวิจัยอย่างล้ำหน้าและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมถึงหลักการ และแนวทางแก้ไข เพื่อปรับกรอบการทำงานและสร้างตลาดการเงิน ซึ่งจะเข้ามาส่งเสริมการลงทุนที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

· การให้คำปรึกษาและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย: ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชนที่กำลังเผชิญกับอุปสรรคโดยตรงมารวมตัวกัน เพื่อพัฒนาคำแนะนำและการดำเนินการที่มีเป้าหมายในการจัดสรรเงินทุน และจูงใจให้เกิดการสร้างช่องทางการลงทุนที่แข็งแกร่งและเชื่อถือได้ โดยแนวร่วมและความร่วมมือของผู้มีบทบาทที่เกี่ยวข้องจะเป็นหัวใจสำคัญในงานของศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

· สถาบันการเงินสภาพภูมิอากาศ: ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะพัฒนาพื้นฐานความรู้ที่แข็งแกร่ง โดยอาศัยประสบการณ์ในตลาดการเงินสีเขียวที่อาบูดาบี รวมถึงการจัดหาโปรแกรมฝึกอบรมและหลักสูตรที่ปรับให้เหมาะสม เพื่อบ่มเพาะความเชี่ยวชาญและขีดความสามารถในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิ่งนี้จะทำให้ทางสถาบันฯ เป็นผู้นำทางความคิดระดับโลก ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมกับเขตอำนาจอื่น ๆ ในการสนับสนุนการพัฒนากรอบทางการเงินที่ปรับให้เหมาะสมซึ่งสอดคล้องกับอาบูดาบีอย่างดี

โครงการริเริ่มเหล่านี้จะเข้ามาสร้างขีดความสามารถในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสถาบันการเงินระดับโลก ส่งเสริมกิจกรรมตลาดการเงินสีเขียวและระบบนิเวศ และกระตุ้นการลงทุนระหว่างประเทศในโครงการริเริ่มคาร์บอนต่ำและเป็นศูนย์

การประกาศตั้งศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก มีขึ้นพร้อมกับอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญในแวดวงการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นคือการเปิดตัวอัลเทอร์รา (ALTÉRRA) ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะขับเคลื่อนความพยายามระดับนานาชาติในการสร้างระบบการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยุติธรรมยิ่งขึ้น โดยมุ่งปรับปรุงการเข้าถึงเงินทุนสำหรับโลกใต้ (Global South) อัลเทอร์ราตั้งเป้าที่จะระดมทุน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ทั่วโลกภายในปี 2573 โดยขับเคลื่อนตลาดเอกชนไปสู่การลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาซึ่งยังขาดการลงทุนแบบเดิม เพราะมองกันว่าภูมิภาคเหล่านั้นมีความเสี่ยงสูงกว่า ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกสนับสนุนการสร้างตลาดการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยให้อัลเทอร์ราสร้างระบบนิเวศทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอาบูดาบี และปลดล็อกเงินทุนเข้าสู่การลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลกในระดับที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ดร. สุลต่าน อัล จาเบอร์ กล่าวเกี่ยวกับการตั้งศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกว่า "ระดับของวิกฤตสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องมีวิธีแก้ปัญหาที่เร่งด่วนและพลิกวงการจากทุกอุตสาหกรรม การเงินมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนความทะเยอทะยานของเราให้กลายเป็นการปฏิบัติจริง และมีบทบาทสำคัญในการกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในกรอบ 1.5 องศาเซลเซียส การประชุม COP28 จะต้องเป็นจุดเปลี่ยนในขณะที่เรารวมคนทั่วโลกเข้าด้วยกัน เพื่อหาวิธีเชื่อมช่องว่างกับปี 2573 ตามที่ระบุไว้ในกลไกทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) เราจำเป็นต้องมีแนวทางทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งรวมทุกคนไว้ด้วยกัน เนื่องจากทุกคนมีบทบาทสำคัญ นั่นคือเหตุผลที่ผมยินดีอย่างยิ่งกับศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกแห่งใหม่แห่งนี้ ซึ่งจะกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงตลาดการเงินและสถาบันทางการเงินของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยจะทำให้อาบูดาบีและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นแถวหน้าในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับโลกในด้านการเงินที่ยั่งยืน มอบมรดกเชิงบวกต่อไปอีกหลายปีข้างหน้า"

ฯพณฯ อาเหม็ด จาซิม อัล ซาบี กล่าวในงาน ADSW ว่า "อาบูดาบีรู้วิธีในการส่งมอบความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นในขณะที่เราตอบสนองต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมระดับโลก ในทำนองเดียวกับที่เราสร้างอาบูดาบี โกลบอล มาร์เก็ต ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศระดับบุกเบิกในเวลาเพียง 8 ปี ตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่อาบูดาบีจะต้องสร้างผู้บุกเบิกรายใหม่ในด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก โดยศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกแห่งใหม่นี้จะปลดล็อกเงินทุนใหม่ ๆ เข้าสู่ภูมิภาค ในขณะที่เอมิเรตกลายเป็นตลาดหลักสำหรับการเงินที่ยั่งยืน โดยต่อยอดจากกรอบการกำกับดูแลทางการเงินที่ยั่งยืนและก้าวหน้าของอาบูดาบี โกลบอล มาร์เก็ต เรามีความทะเยอทะยานเพื่อให้สิ่งอำนวยความสะดวกชั้นนำของโลกนี้มอบผลประโยชน์ที่สัมผัสทุกมุมของโลกของเรา"

ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นสถาบันระดับโลก ซึ่งนอกจากอาบูดาบี โกลบอล มาร์เก็ต แล้ว สมาชิกผู้ก่อตั้งรายอื่น ๆ ของศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ได้แก่ เอดีคิว (ADQ), แบล็คร็อค (BlackRock), มูลนิธิกองทุนเพื่อการลงทุนพัฒนาเด็ก (Children's Investment Fund Foundation) หรือซีไอเอฟเอฟ (CIFF), พันธมิตรทางการเงินกลาสโกว์เพื่อเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ (Glasgow Financial Alliance for Net Zero) หรือจีเอฟเอเอ็นซี (GFANZ), เอชเอสบีซี (HSBC), มาสดาร์ (Masdar), ไนน์ตี วัน (Ninety One) และกลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) สมาชิกผู้ก่อตั้งจะให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์แก่ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยใช้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และเครือข่ายอันล้ำลึก ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะมุ่งทำงานร่วมกับสถาบันอื่น ๆ ในวงการเดียวกัน และพันธมิตรด้านความรู้ เพื่อต่อยอดบทบาทความเป็นผู้นำทางการเงินที่ยั่งยืน พัฒนาความเชี่ยวชาญภายในองค์กร และมอบผลกระทบสูงสุด

ฯพณฯ โมฮาเหม็ด ฮัสซัน อัลซูไวดี ( H.E. Mohamed Hassan Alsuwaidi) กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอดีคิว กล่าวว่า "ในขณะที่เราทุ่มเทเพื่อเร่งพลิกโฉมเศรษฐกิจและการเติบโตที่ยั่งยืน เราจำเป็นต้องสนับสนุนนวัตกรรมในด้านการเงินที่ยั่งยืน ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เอดีคิวมุ่งมั่นที่จะช่วยสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนซึ่งจะเพิ่มความหลากหลายของเศรษฐกิจอาบูดาบี และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเงินที่ยั่งยืนที่กำลังเติบโตนี้"

แลร์รี ฟิงค์ ( Larry Fink) ประธานและซีอีโอของแบล็คร็อค กล่าวว่า "แบล็คร็อครู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการเปิดตัวศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การมุ่งเน้นอนาคตของคลังสมองแห่งนี้สะท้อนให้เห็นประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจสำหรับลูกค้าของเราหลายรายทั่วโลก ในขณะที่พวกเขาแสวงหาข้อมูล การวิเคราะห์ และข้อมูลเชิงลึกที่ดีที่สุด เพื่อฝ่าฟันความเสี่ยงและคว้าโอกาสการลงทุนเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ในทำนองเดียวกับที่เราทำกับหน่วยงานคลังสมองและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก เราหวังที่จะให้ข้อมูลเชิงลึกและการวิจัยของเราแก่ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก"

เคท แฮมป์ตัน ( Kate Hampton) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซีไอเอฟเอฟ กล่าวว่า "การขยายเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำสำหรับประเทศกำลังพัฒนาถือเป็นสิ่งสำคัญในการคุมอุณหภูมิในกรอบ 1.5 องศาให้ได้ และเพื่อให้เกิดการเติบโตในระยะยาว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และฟื้นตัวได้ ซีไอเอฟเอฟมีความยินดีที่ได้เป็นพันธมิตรกับศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งสามารถนำความโปร่งใสและความทะเยอทะยานมาสู่เป้าหมายทางการเงินในช่วงการเปลี่ยนผ่านของนักลงทุนและทำตามเป้าหมายนั้นให้ได้ และปรับเงินทุนดังกล่าวให้สอดคล้องกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC)"

มาร์ค คาร์นีย์ ( Mark Carney) ทูตพิเศษประจำสหประชาชาติด้านการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและการเงิน และประธานร่วมของพันธมิตรทางการเงินกลาสโกว์เพื่อเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ หรือจีเอฟเอเอ็นซี กล่าวว่า "นวัตกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี เพื่อเร่งการไหลเวียนของการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างสะพานเชื่อมสู่อนาคตที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น จีเอฟเอเอ็นซีหวังที่จะสนับสนุนศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านข้อมูล การดำเนินการ และการลงทุน เราต้องแก้ไขเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส เราขอชื่นชมความเป็นผู้นำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการรับมือกับความท้าทายที่เร่งด่วนและยากลำบากที่สุด และหวังว่าจะได้ร่วมแรงร่วมใจในภารกิจร่วมกันของเราในการยกระดับการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลง และระดมเงินทุนไปแถบโลกใต้"

โนเอล ควินน์ ( Noel Quinn) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเอชเอสบีซี กล่าวว่า "โลกจะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศได้เมื่อมีความคิดพัฒนาต่อไป ตลาดพัฒนาต่อไป และประเทศต่าง ๆ จะต้องร่วมมือกัน เอชเอสบีซีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประธาน COP28 ที่จะทำให้การดำเนินการนี้เป็นการลงมือทำจริง ขณะเดียวกันก็จัดเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อช่วยส่งมอบอนาคตที่สุทธิเป็นศูนย์ด้วย"

โมฮาเหม็ด จามีล อัล รามาฮี ( Mohamed Jameel Al Ramahi) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมาสดาร์ กล่าวว่า "เรายินดีกับความคิดริเริ่มที่สำคัญนี้ และอาบูดาบีเป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการก่อตั้งศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยมาสดาร์ตั้งตารอที่จะสนับสนุนคลังสมองอิสระนี้ด้วยประสบการณ์อันยาวนานของเรา และผลงานจากการบุกเบิกให้เงินทุนและพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดทั่วโลก"

เฮนดริก ดู ทัว ( Hendrik du Toit) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไนน์ตี วัน กล่าวว่า "ไนน์ตี วัน มุ่งที่จะสนับสนุนศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ด้วยความร่วมมือกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปิดตัวครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการที่เด็ดขาดและทะเยอทะยาน"

อาเจย์ บังกา ( Ajay Banga) ประธานกลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า "เราต้องการทรัพยากรและความเฉลียวฉลาดของภาคเอกชน เราต้องการทุกฝ่ายเพื่อมาช่วยเราขับเคลื่อน ความร่วมมือครั้งนี้ผสานรวมความร่วมมือดังกล่าว โดยช่วยยกระดับโซลูชันสำหรับการลงทุนที่คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศและคาร์บอนต่ำ"

ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะมีคุณเมอร์เซเดส เวลา มอนเซอร์เรท (Mercedes Vela Monserrate) ทำหน้าที่ผู้นำในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยคุณมอนเซอร์เรทเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนให้กับอาบูดาบี โกลบอล มาร์เก็ต และเป็นที่ปรึกษาหลักประจำการประชุม COP28 ซึ่งจะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมามากมาย มาใช้ในการเป็นผู้นำศูนย์ฯ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับโลกในด้านการเงินที่ยั่งยืน

คุณเมอร์เซเดส เวลา มอนเซอร์เรท กล่าวว่า "ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นผู้นำศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และมีส่วนร่วมในการพลิกโฉมตลาดการเงินไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้น เราร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกเพื่อสร้างผลงานดี ๆ โดยทำให้การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วย"

ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกยังเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ด้วยทาง www.gcfc.com

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีเงินทุน ความสามารถ และความทะเยอทะยานในการเป็นศูนย์กลางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา อาบูดาบี โกลบอล มาร์เก็ต ได้นำกรอบการกำกับดูแลทางการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance Regulatory Framework) มาใช้ ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่ครอบคลุมมากที่สุดของภูมิภาค ไปจนถึงกรอบการกำกับดูแลการค้นพบ พอร์ตโฟลิโอที่จัดการโดยดุลยพินิจ พันธบัตร และตราสารศุกูก (Sukuk) ที่ออกแบบมาเพื่อเร่งเปลี่ยนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกยังต่อยอดจากโครงการริเริ่มต่าง ๆ ของอาบูดาบี โกลบอล มาร์เก็ต เช่น ปฏิญญาการเงินที่ยั่งยืนอาบูดาบี (Abu Dhabi Sustainable Finance Declaration) ซึ่งมีผู้ลงนามเกือบ 120 ราย และวิทยาลัยการเงินยั่งยืน (School of Sustainable Finance) ที่เอดีจีเอ็ม อคาเดมี (ADGM Academy) ศูนย์การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะสนับสนุนการเงินสีเขียวให้เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดทุน และจะสร้างแรงผลักดันที่ COP28 สร้างขึ้นในการทำให้อาบูดาบี โกลบอล มาร์เก็ต ให้เป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์ด้านการเงินที่ยั่งยืน

การประชุมสุดยอดสัปดาห์ความยั่งยืนอาบูดาบีเป็นแพลตฟอร์มและกิจกรรมระดับโลกที่มาสดาร์จัดขึ้น ซึ่งนำประมุขของรัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำในอุตสาหกรรม นักลงทุน ผู้ประกอบการ และเยาวชนที่ล้วนแล้วแต่มีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคตของโลกของเรามารวมตัวกัน เพื่อหารือและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างกล้าหาญ และเฟ้นหานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมอบโลกที่ยั่งยืนให้คนรุ่นหลัง

Commentaires


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page