ทุบสถิติเดิมอย่างเหนือชั้น... ปิดฉากการประชุมปรัชญานานาชาติริยาดประจำปี 2566
คณะกรรมการวรรณกรรม การพิมพ์ และการแปล (Literature, Publishing & Translation Commission) ประกาศปิดฉากการประชุมปรัชญานานาชาติริยาดประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ "ค่านิยมข้ามวัฒนธรรมและความท้าทายด้านจริยธรรมในยุคแห่งการสื่อสาร" (Trans-Cultural Values and Ethical Challenges in the Communicative Age) หลังจากต้อนรับผู้เข้าร่วมงานกว่า 4,900 คน ตลอดระยะเวลา 3 วัน ภายในงานประกอบไปด้วยโปรแกรมทางวิทยาศาสตร์ โครงการด้านการศึกษา และกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย
คณะกรรมการฯ ได้ประกาศความสำเร็จเชิงกลยุทธ์และผลลัพธ์ที่โดดเด่นจากการประชุมตลอดระยะเวลา 3 วัน ประกอบด้วยการเป็นพันธมิตรกับองค์กรในท้องถิ่นและต่างประเทศ 12 แห่ง การลงนามโดยสมาคมปรัชญาซาอุดีอาระเบียเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสมาคมปรัชญาแห่งสหภาพนานาชาติอย่างเป็นทางการ และการได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสถานที่จัดการประชุมปรัชญานานาชาติ (โรม 2567) การประชุมครั้งนี้ได้ต้อนรับคนดังในแวดวงปรัชญามากมาย อาทิ ดร.ไซมอน คริตช์ลีย์ (Dr. Simon Critchley), คุณสุลัยมาน อัล-นัซเซร์ (Suleiman Al-Nasser), ดร.ฮามู นาคารี (Dr. Hamou Naqari), ดร.นาจิบ ฮัสซาดี (Dr. Najib Hassadi), ดร.มาลัก อัล-ยูฮานี (Dr. Malak Al-Juhani), ดร.ซินเธีย ฟรีแลนด์ (Dr. Cynthia Freeland) และ ดร.โรเบิร์ต แบร์นัสโกนี (Dr. Robert Bernasconi) โดยวิทยากรเหล่านี้ได้เข้าร่วมในโปรแกรมทางวิทยาศาสตร์ และบางท่านยังได้จัดเวิร์กชอปสำหรับผู้เข้าร่วมอีกด้วย
การประชุมครั้งนี้ได้ครอบคลุมหัวข้อหลัก 11 หัวข้อ และหัวข้อย่อย 69 หัวข้อ โดยมีวิทยากรทั้งในและต่างประเทศกว่า 70 ท่าน ร่วมด้วยเวิร์กชอปสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ มากกว่า 20 รายการ และกิจกรรมเพิ่มเติมอีก 6 รายการ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาการวิจัยและการเติบโตทางวิชาการ โดยได้รับข้อเสนอโครงการวิทยาศาสตร์ 144 ฉบับ จากกว่า 20 ประเทศ ข้อเสนอเหล่านี้ได้ผ่านการพิชญพิจารณ์ (peer review) และประเมินโดยวารสารปรัชญาศึกษาแห่งซาอุดีอาระเบีย (Saudi Journal of Philosophical Studies) และมีข้อเสนอประมาณ 39 ฉบับที่ได้รับเลือกให้นำเสนอในงาน อีกหนึ่งไฮไลท์ของการประชุม คือ การจัดการแข่งขันโต้วาทีปรัชญาสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยในซาอุดีอาระเบีย โดยทีมชนะเลิศได้รับการประกาศชื่อในวันสุดท้ายของการประชุม ภายหลังจากการอภิปรายเชิงปรัชญาว่าความโดดเดี่ยวส่งผลกระทบต่อตัวตนและอัตลักษณ์อย่างไร
ตลอดช่วง 3 วัน การประชุมได้นำเสนอประสบการณ์เชิงโต้ตอบที่ผู้เยี่ยมชมยกย่องว่ามีความหลากหลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจแนวคิดปรัชญาที่ซับซ้อน ได้แก่ "เขาวงกตแห่งภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางปรัชญา" (The Maze of Philosophical Dilemmas) ซึ่งจำลองปัญหาทางจริยธรรมในชีวิตจริง, นิทรรศการภาพ "จุดตัดระหว่างศิลปะกับปรัชญา" (Intersections of Art and Philosophy) ที่แสดงให้เห็นถึงการบรรจบกันของปรัชญาและศิลปะ, โรงภาพยนตร์สำหรับหนังสั้นเชิงปรัชญาที่ให้ประสบการณ์การรับชมที่ไม่เหมือนใคร และ "จิตรกรรมฝาผนังประวัติศาสตร์ปรัชญา" (Philosophy History Mural) ที่สรุปความเป็นมาของปรัชญานับตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน
Comments