สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระราชทานแบบลายผ้า "ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา" เป็นของขวัญปีใหม่แก่ช่างทอผ้า เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
(23 ม.ค. 65) เวลา 10.00 น. ที่วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ สมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประชาชนชาวจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง เฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทอดพระเนตรการแสดงฟ้อนรำบูชาพระธาตุประสิทธิ์ ทรงนมัสการองค์พระธาตุประสิทธิ์ และเสด็จไปยังศาลาโรงธรรม ทอดพระเนตรนิทรรศการตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเสด็จมาทอดพระกฐินต้น ที่วัดธาตุประสิทธิ์ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2515 และชมนิทรรศการความเป็นมาของกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแบบลายผ้าลายใหม่ "ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา" ให้แก่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ และเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการกลุ่มทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ และนิทรรศการกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งทรงทอดพระเนตรการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 50 กลุ่ม ซึ่งมีกลุ่มผู้เฝ้ารับเสด็จขอพระราชทานคำแนะนำ จำนวน 35 กลุ่ม และกลุ่มถวายรายงานส่งการบ้านผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาตามพระวินิจฉัย จำนวน 15 กลุ่ม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินต้น ณ วัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม และได้มีราษฎร จำนวน 6 คน มารอรับเสด็จและทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไหมแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์รู้สึกพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากผ้าไหมมีลวดลายสวยงามและเป็นเอกลักษณ์แบบพื้นบ้าน ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีรับสั่งให้ราชเลขานุการในพระองค์ฯ พร้อมด้วยราชองครักษ์ฯ มาพบราษฎรทั้ง 6 คน ที่เคยถวายผ้าไหมในคราวนั้น โดยทรงรับสั่งให้ทอผ้าไหมเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วให้นำทูลเกล้าฯ ถวายเป็นประจำทุกปี และหลังจากนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมการทอผ้าไหมโดยอาศัยหลักการที่ว่า "ฟื้นฟูการทอผ้าไหมในช่วงว่างจากการประกอบอาชีพทำนา" เพื่อเสริมรายได้ให้แก่ราษฎร ด้วยการเน้นการทอลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์พื้นบ้านอย่างแท้จริง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ต่อมามีราษฎรสนใจทอผ้าไหมมากขึ้น จึงได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือว่าเป็น "กลุ่มทอผ้าไหมแห่งแรกของประเทศ" และได้โปรดพระราชทานจัดให้มีการอบรมสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องการทอผ้าไหมให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนอุปกรณ์ในการทอผ้าไหมให้แก่สมาชิก พร้อมกับโปรดรับซื้อผ้าไหมที่สมาชิกทอขึ้นทุกปี ต่อมาพระองค์ท่านได้มีรับสั่งให้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านนาหว้า เป็น "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" เมื่อปี 2520 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2541 ทรงรับสั่งให้ตั้งชื่อกลุ่มทอผ้าไหมอำเภอนาหว้า ชื่อ "กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" โดยกลุ่มทอผ้าดังกล่าวได้มีการสืบทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน มีการบรรจุไว้ในหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านนาหว้า โรงเรียนนาหว้าพิทยาคม และโรงเรียนราษฎร์สามัคคี โดยมีสมาชิกกลุ่มในพื้นที่อำเภอนาหว้า ทั้งศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์ และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ รวม 180 คน ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ อย่างต่อเนื่องทุกปี และมีกิจกรรมทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยสมาชิกได้ร่วมกันทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติ ทูลเกล้าฯ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
"ในปี 2565 ได้มีการทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 90 พรรษา จำนวน 92 เมตร อันนับเป็นความภาคภูมิใจของราษฎรชาวอำเภอนาหว้า และชาวจังหวัดนครพนม" นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ
ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแบบลายผ้า "ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา" ให้แก่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก "ผ้าขิดลายสมเด็จ" ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย ซึ่งแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง กล่าวคือ 1) ลาย S ที่ท้องผ้า หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ส่งออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S นี้ หมายถึง ความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ 2) ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อปวงชนชาวไทย 3) ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข 4) ลายต้นสนที่เชิงผ้า หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนพื้นผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ และ 5) ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน
นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของประชาชนชาวจังหวัดนครพนม ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมทักษะและต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าไหม นอกจากนี้ ยังทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่มในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
"กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ภายใต้โครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ได้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
Comments