top of page

เปิดหมัดเด็ด"นายกอิ๊งค์"พักดอกเบี้ย 3 ปี หนี้บ้าน-รถ-SMEsขาดส่งเกิน1ปี…ต่อลมหายใจคนไทย พบคำตอบละเอียดใน “ 2025 Empowering Thais : A Real Possibility" 12 ธค.นี้

การเมือง


ถ้าเราเดินผ่านคน 3 คน 1 คนในนั้น “มีหนี้”

หนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในกลุ่มคนที่มีหนี้ ส่วนใหญ่ 57% มีหนี้เกิน 100,000 บาท และ 14% มีหนี้เกิน 1,000,000 บาท และ “เกษตรกร” เป็นอาชีพที่มีหนี้สูงสุด (34%) หากแยกตามรายได้ พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีหนี้มากที่สุด (41%) (ข้อมูลจากสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์)

แม้หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ สศช.ประกาศล่าสุด ลดลงเหลือ 89.6% ต่อจีดีพี จาก 90.7% ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงต่ำกว่า 90% เป็นครั้งแรกในรอบ 3ปีครึ่ง แต่ยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียอยู่ที่ 71% สิงคโปร์ 58.3% อินโดนีเซีย 17.3% และยังอยู่ในระดับที่ “น่ากังวล” เพราะหนี้ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ ผู้กู้มีปัญหาการจ่ายคืน

"จิตติพจน์ วิริยะโรจน์" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้จำนวนหนี้ครัวเรือนจะดูลดลง แต่เมื่อดู “ที่มาของหนี้” พบว่า หนี้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เอาไว้ใช้จ่ายแล้วหายไป เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต ในทางการเงินถือว่า “ไม่ใช่หนี้ดี”


สำหรับ ลูกหนี้บ้าน รถ และ SMEs ถือเป็น “หนี้ดี” หรือ Good Dept โดยปัจจุบัน หนี้บ้านอยู่ที่ 4% หนี้รถ 13% หนี้ที่เป็นรายได้และมีประโยชน์ อีก 3% รวมประมาณ 20% ทั้งหมดเป็นหนี้ที่มีมูลค่าเพิ่ม และสร้างมูลค่าต่อยอดได้

เฉพาะไตรมาส 4/66 หนี้เสียมาจากกลุ่มหนี้รถยนต์ เพิ่มขึ้นถึง 28% ต่อปี หนี้การบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 12% ต่อปี และหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 11.9% ต่อปี เรียกว่า มีทั้งหนี้ดี (หนี้สร้างรายได้และมีมูลค่าเพิ่ม) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

“หากมีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้คนกลุ่มนี้ จะสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้กับประชาชน ได้ลืมตาอ้าปากได้”

การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (กนศ.) เห็นชอบหลักการเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เพื่อแก้หนี้สินภาคประชาชนด้วยการ “พักดอกเบี้ย” ลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถยนต์ สินเชื่อธุรกิจ SMEs

จิตติพจน์ สนับสนุนโครงการนี้เต็มที่ เพราะสถานการณ์หนี้ประชาชนตอนนี้ “มีปัญหามากและควรแก้ไข” โครงการนี้ จะช่วยคนตัวเล็กตัวน้อย ที่มักจะเป็นกลุ่มลูกค้าธนาคารพาณิชย์มองข้าม เพราะยอดหนี้ต่อราย “น้อย” แต่แท้จริงแล้วเมื่อรวมกันในปริมาณมาก ก็สร้างผลกระทบให้กับ “เศรษฐกิจมหภาค” ได้เช่นกัน

จิตติพจน์ กล่าวว่า จากการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) พบว่า ถ้าสามารถลดหนี้ครัวเรือนได้ 1% จะทำให้จีดีพีโตได้ 0.1% เมื่อรวมเข้ากับอีกหลายมาตรการของรัฐ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจองค์รวมเติบโตขึ้น “ลดความเหลื่อมล้ำ” ได้อีกด้วย

สำหรับแหล่งเงินที่ใช้โครงการ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จะปรับลดเงินสมทบที่ธนาคารพาณิชย์ต้องนำส่ง “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” (Financial Institutions Development Fund : FIDF) ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปี จาก 0.46% ต่อปี


หากมีการลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุน FIDF ลงครึ่งหนึ่ง

"ดร.กิตติ ลิ่มสกุล" รองประธานคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ อดีตที่ปรึกษา ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า


"ส่วนนี้ถือเป็นการนำส่วน “กำไร” มาช่วยประชาชน และช่วยเหลือแบบเจาะจง มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน มีแหล่งที่มาของเงินชัดเจน นำมาช่วยลูกค้าของธนาคารพาณิชย์เอง ไม่ได้ดึงเงินงบประมาณแผ่นดินมาใช้

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 9-10 แห่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังสถานการณ์โควิดกำไรเพิ่มขึ้น อ้างอิงจากข้อมูลที่ The Standard Wealth รวบรวม

ปี 2564 กำไร 161,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.6%

ปี 2565 กำไร 192,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5%

ปี 2566 กำไร 226,574 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.4%


9 เดือนแรกของปี 2567 คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น 5% แม้การปล่อยสินเชื่อใหม่จะลดลงก็ตาม

จะเกิดแรงต้านหรือไม่? ดร.กิตติ ตอบคำถามนี้ว่า


“เขาก็เรียนมา ผมก็เรียนมา ต้องรู้ว่าการช่วยเหลือมีขนาดเท่าไหร่ และเป้าหมายอยู่ตรงไหน ที่มาของเงินอยู่ตรงไหน ถ้าที่มาของเงินมาจากกำไร ก็ไม่น่าเป็นอะไร ถ้าคนกำลังจะจมน้ำแล้วรัฐบาลไม่ช่วย ไม่โยนห่วงยางไป รัฐบาลต้องช่วยถูกต้องแล้ว”


จะเกิด Moral Hazard หรือไม่?


“ มาตรการนี้ไม่ได้ยกหนี้ แต่หยุดดอกเบี้ย เพื่อชะลอการยึดเครื่องมือที่ใช้ทำมาหากิน หนี้ประชาชน 89-90% ของจีดีพี จะทำให้เศรษฐกิจเราเดินไม่ได้ ก่อนหน้านี้ได้เงินหมื่นมา ต้องเอาไปใช้หนี้ 8,900 บาท เหลือนิดเดียว ถ้ามีโครงการนี้ หนี้มอเตอร์ไซต์ รถกระบะ ที่ใช้ทำมาหากิน ได้เงินมาก็จ่ายต้น พอปลดหนี้ได้ จะได้มีเงินไว้ใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง” ดร.กิตติ กล่าว


สำหรับกองทุน FIDF การก่อตั้งช่วงแรก (ปี2528) เป็นไปเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ กองทุนก้อนแรกมาจากเงินทดรองของ ธปท. 1,500 ล้านบาท และเงินสมทบจากสถาบันการเงิน รวมกันไม่เกิน 0.15%


FIDF มีบทบาทมากในปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเข้าไปถือหุ้นสถาบันการเงิน 56 แห่ง ทำให้กองทุนฯเป็นหนี้ 1.3 ล้านล้านบาท การใช้หนี้กองทุนฯ ก.คลัง รับผิดชอบจ่ายเงินดอกเบี้ยปีละ 60,000 ล้านบาท และ ธปท.จ่ายเงินต้น นับตั้งแต่ ปี 2540 - 2555 ก.คลังตั้งงบประมาณประจำปี จ่ายดอกเบี้ยทุกปี

ในปี 2555 หนี้คงค้างกองทุนฯ ยังอยู่ 1.14 ล้านล้านบาท รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ออก พ.ร.ก.ผ่าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้นจาก 0.15% เป็น 0.46% ของฐานเงินฝาก เงินที่สมทบเข้ากองทุนฯ นำ ไปจ่ายหนี้ FIDF ทั้งต้นทั้งดอก


ปัจจุบัน (ณ 31 ต.ค. 67) หนี้เงินต้นกองทุนฯ ลดลงจาก 1.14 ล้านล้านบาท เหลือ 5.5 แสนล้านบาท และสถานการณ์กองทุนใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ

จะดีต่อประชาชนและภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไร หากประชาชนที่มีหนี้สิน จะได้รับการช่วยเหลือผ่านมาตรการของรัฐบาล ริเริ่มโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร

ติดตามพร้อมกันใน “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” (2025) Empowering Thais : A Real Possibility) …จากผลงานที่เป็นรูปธรรม สู่โอกาสที่ทำได้จริง 12 ธันวาคม 2567 นี้ 10.00 น.เป็นต้นไป

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page