"ตัวพลิกเกมทางเศรษฐกิจ" นี่คือคำที่เจ้าหน้าที่ศรีลังกาเรียกเมืองท่าโคลอมโบ (Colombo Port City) มหานครที่กำลังถูกสร้างขึ้นนอกชายฝั่งทะเลของเมืองหลวงของศรีลังกา
เมืองใหม่กลางทะเลแห่งนี้ติดกับย่านธุรกิจที่ร่มรื่นในกรุงโคลอมโบ การก่อสร้างเมืองไฮเทคกำลังดำเนินไป ด้วยการถมทรายลงในทะเลจำนวนมหาศาล ให้เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ เป็นที่พักอาศัย และเป็นท่าเรือ เปรียบเหมือนกับนครดูไบ, โมนาโก หรือฮ่องกง
"โครงการถมทะเลนี้จะเปิดโอกาสให้ศรีลังกาเขียนแผนที่ขึ้นมาใหม่ และสร้างเมืองที่มีคุณภาพระดับโลกเพื่อ แข่งขันกับดูไบและสิงคโปร์" ศลิยา วิกครามาสุริยา สมาชิกคณะกรรมการเศรษฐกิจเมืองท่าโคลอมโบ (Colombo Port City Economic Commission) กล่าวกับบีบีซี
แต่ผู้ไม่เห็นด้วย ตั้งคำถามว่า เมืองแห่งนี้จะเป็นตัวพลิกเกมทางเศรษฐกิจให้กับศรีลังกาได้จริงแค่ไหน
ช่วงเริ่มโครงการ การถมทะเลเพื่อให้ได้ที่ดินใหม่ขนาด 2.6 ตารางกิโลเมตรนั้น ศรีลังกาจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนจากไชน่า ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง (China Harbour Engineering Company--CHEC) 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.46 หมื่นล้านบาท) โดยทางบริษัทจีนจะได้รับสิทธิ์การเช่าพื้นที่นี้ 43% เป็นเวลานาน 99 ปี เป็นการตอบแทนหลังจากมีการขุดลอกนานหลายปี การก่อสร้างดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และเมืองใหม่ก็กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
เครนขนาดใหญ่ภายใต้การควบคุมของวิศวกรชาวจีน กำลังเคลื่อนย้ายแท่งคอนกรีต ขณะที่รถตักดินกำลังตักทรายหลายตันใส่รถบรรทุก แม่น้ำที่ไหลผ่านที่ดินที่ถมทะเลแห่งนี้ ได้มีการขุดลอกแล้ว ทำให้เรือขนาดเล็กและเรือยอชต์ผ่านเข้าออกได้
เจ้าหน้าที่ทางการประเมินว่า โครงการซึ่งเป็นลักษณะนี้แห่งแรกในเอเชียใต้ จะใช้เวลาราว 25 ปีกว่าจะเสร็จสิ้น
ศรีลังกาบอกว่า ดินแดนที่อยู่ในการควบคุมของศรีลังกาและพื้นที่ที่มอบให้กับจีน จะมีการนำไปปล่อยเช่าให้กับบริษัทข้ามชาติ ธนาคาร และบริษัทอื่น ๆ รัฐบาลอาจจะเก็บภาษีจากรายได้ของบริษัทเหล่านี้ได้ด้วย
คาดว่าจะมีคนอาศัยอยู่ในเมืองใหม่นี้ราว 80,000 คน โดยจะมีการยกเว้นภาษีให้กับคนที่ลงทุนและทำธุรกิจในเมืองนี้ ธุรกรรมทุกอย่างในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จะเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
มีการเปิดโครงการเมืองท่าอย่างเป็นทางการในช่วงที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เดินทางเยือนกรุงโคลอมโบในปี 2014 หรือ 1 ปีหลังจากที่เขาเปิดตัวโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งเป็นแผนการอันท้าทายในการสร้างถนน ทางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานทางทะเลทั่วเอเชียและยุโรปเพื่อส่งเสริมการค้าขาย
ศรีลังกาหันมาขอความช่วยเหลือทางการเงินจากจีนเพื่อฟื้นฟูประเทศ หลังจากสงครามอันยาวนานกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทมิฬสิ้นสุดลงในปี 2009 ขณะที่ชาติตะวันตกมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในช่วงที่สี จิ้นผิง เยือนศรีลังกา นายมหินทรา ราชปักษา เป็นประธานาธิบดีของศรีลังกา แต่เขาแพ้การเลือกตั้งในปีเดียวกัน เพราะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีความกังวลเกี่ยวกับเงินกู้ของจีน โดยเฉพาะในการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ทางตอนใต้ที่แฮมบันโตตา
8 ปีต่อมา นายราชปักษา ได้กลับมาครองอำนาจอีกครั้งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีนายโกตาบายา น้องชายดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
แต่ท่าเรือแฮมบันโตตาไม่ได้อยู่ในมือของศรีลังกาอีกต่อไปแล้ว ภายใต้รัฐบาลชุดที่แล้วในปี 2017 ศรีลังกาได้มอบท่าเรือนี้ให้จีนควบคุม หลังจากที่เผชิญปัญหาในการชำระคืนหนี้แก่บริษัทต่าง ๆ ของจีน มีรายงานว่า เงินที่ศรีลังกาได้รับมาบางส่วนถูกนำไปใช้ชำระหนี้อื่นต่อ
บางทีอาจจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ ไม่ใช่ทุกคนในศรีลังกาเห็นด้วยกับที่เจ้าหน้าที่ทางการเมืองท่าพูดถึงโครงการนี้
ความกังวลเกี่ยวกับโครงการนี้มีมากมายรวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ด้วย
หลายคนกลัวว่า ผลประโยชน์จากการพัฒนานี้จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศมากเท่ากับที่บรรดาผู้สนับสนุนโครงการนี้กล่าวอ้าง
"ผลเสียที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งเกี่ยวกับเมืองท่านี้คือ การที่มีการยกเว้นหรือลดภาษีจำนวนมหาศาลไว้ในกฎหมายของเมืองนี้ มีความเป็นไปได้ว่า มีการให้แรงจูงใจทางภาษีกับนักลงทุนบางส่วนมากถึง 40 ปี" เดชาล เด เมล นักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันวิจัยเวริเต (Verite' Research) กล่าว
"การยกเว้นและลดภาษีจำนวนมากไม่ได้เป็นการส่งเสริมรายได้โดยรวมของศรีลังกา"
โครงการภาษีนี้ยังทำให้เกิดความกังวลอื่น ๆ ด้วย สหรัฐฯ เคยเตือนว่า สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่ไม่รัดกุม อาจจะกลายเป็นสวรรค์ของนักฟอกเงิน
โมฮาเหม็ด อาลี ซาบรี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของศรีลังกาไม่เห็นด้วยกับข้อกังวลนี้
"ไม่มีทางที่เรื่องนั้นจะเกิดขึ้นได้ เพราะที่นี่ เรามีทั้งกฎหมายอาญาปกติ กฎหมายฟอกเงิน และเรามีหน่วยข่าวกรองการเงินของเรา ดังนั้น ด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่มีทางที่ใครจะรอดพ้นไปได้" เขากล่าวกับบีบีซี
การที่จีนมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น ทำให้เกิดความกังวลหลายอย่างเกี่ยวกับเป้าหมายที่ท้าทายเชิงกลยุทธ์ระยะยาวของจีน
การที่จีนก้าวเข้ามาในศรีลังกามากขึ้น ทำให้อินเดียกังวลใจ เพราะศรีลังกาถูกมองว่า เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดของอินเดียมาโดยตลอด
โครงการเมืองท่ามีเป้าหมายในการดึงดูดบริษัทข้ามชาติจำนวนมากและนักลงทุนที่มีฐานอยู่ในอินเดียอยู่แล้ว ทำให้อินเดียอาจสูญเสียการลงทุนและโอกาสงาน
เมืองท่าโคลอมโบอาจจะลงเอยด้วยการกลายเป็นด่านหน้าแห่งหนึ่งของจีนในระยะยาวเช่นเดียวกับแฮมบันโตตา หรือไม่
"ในขณะนี้ การที่รัฐบาลนี้ยอมให้กับจีน จีนได้ยึดทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองไปแล้ว" ราชิตา เสนารัตเน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านของศรีลังกากล่าวกับบีบีซี
"วันหนึ่ง ศรีลังกาจะไม่มีอะไรอย่างที่พูดในโครงการนี้"
โจว โป๋ นักวิชาการชาวจีนไม่เห็นด้วย เขากล่าวว่า เป้าหมายคือผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ
"โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนไม่ใช่โครงการการกุศล เราต่างต้องการผลประโยชน์ร่วมกัน นั่นหมายความว่า เราต่างก็ต้องการให้การลงทุนของเรามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ" นายโจว อดีตพันเอกอาวุโสกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ซึ่งปัจจุบันทำงานที่มหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่ง กล่าวกับบีบีซี
"จีนไม่มีเจตนาที่จะทำให้ประเทศไหนติดกับดักหนี้"
เจ้าหน้าที่ทางการศรีลังกา ก็กล่าวในทำนองเดียวกัน
"พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในการควบคุมทางอธิปไตยของศรีลังกา สิทธิ์ในการลาดตระเวน ตำรวจ การตรวจคนเข้าเมือง และหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติอื่น ๆ เป็นของรัฐบาลศรีลังกา" ศลิยา วิกครามาสุริยา จากคณะกรรมการเศรษฐกิจเมืองท่า กล่าว
แต่ศรีลังกา ซึ่งกำลังฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีทางเลือกจำกัด
การระบาดใหญ่ของโควิดสร้างความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยวที่เคยทำเงินมหาศาล และทำให้การจ้างงานในต่างประเทศลดลง ส่งผลให้เงินสำรองสกุลต่างประเทศลดต่ำลง
หนี้ต่างประเทศของศรีลังกาเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.49 ล้านล้านบาท) โดยศรีลังกาติดหนี้จีนอยู่ราว 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.65 แสนล้านบาท)
ในช่วงที่ศรีลังกาต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศรีลังกาได้ขอให้นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีนที่กำลังเยือนศรีลังกา ให้ช่วยปรับโครงสร้างการชำระหนี้
แต่การที่หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศหลายแห่งได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาลงหลายครั้ง โอกาสที่รัฐบาลศรีลังกาจะกู้เงินจากนักลงทุนระหว่างประเทศได้จึงมีอยู่น้อยมาก
มีเพียงจีนที่มีเป้าหมายระยะยาว และกระเป๋าหนัก
แต่ก็อาจจะมีเงื่อนไขหลายอย่าง บางคนเชื่อว่า เมืองที่คล้ายฮ่องกงแห่งนี้ในศรีลังกาจะช่วยให้จีนกุมอำนาจในพื้นที่นี้ของเอเชียในช่วงหลายปีข้างหน้าได้
ที่มา.ขอบคุณข้อมูลจากBBC THAI อ่านเพิ่มเติมกดhttps://www.bbc.com/thai/international-60026987
Comments