top of page

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "กรุงเทพธนาคม" วิสาหกิจ กทม. ผู้ดูแลการเก็บขยะจนถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียว

CLOSE-UP : Insight


ผลประกอบการปี 2564 กำไรพุ่งกว่า 2,000%

หนึ่งในภารกิจสำคัญของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 คือ การสะสางปมปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส ภายใต้การดูแลของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด



เพียงแค่หนึ่งวันหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายชัชชาติ ได้หารือกับผู้บริหารกรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อขอดูรายละเอียดของสัมปทานการจ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว พร้อมกำหนดกรอบการทำงานเพื่อหาข้อสรุปการแก้ปัญหาสัมปทานและภาระหนี้ของ กทม. ภายในเวลา 1 เดือน

ขณะที่ผ่านมาเพียงสองสัปดาห์ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งกับวิสาหกิจแห่งนี้ที่ กทม. เป็นถือหุ้นรายใหญ่ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ประชุมบริษัทมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง คณะกรรมการชุดใหม่ 7 คน แทนคณะกรรมการบริหารชุดเก่าที่ลาออกยกคณะ

รายนามคณะกรรมการชุดใหม่ ประกอบด้วย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานกรรมการบริหาร ผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ เป็นกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนอีก 5 คนที่เหลือเป็นกรรมการบริษัท ประกอบด้วย ศ.พิเศษ ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์, นายชัยวัฒน์ คลังวิจิตร, นางทิพยสุดา ถาวรามร, นายธรรดร มลิทอง และนายพีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีขึ้นเพื่อการเข้ามาพิจารณาเกี่ยวกับสัญญาโครงการต่างๆ กว่า 20 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพธนาคมโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังเป็นข้อถกเถียงและข้อพิพาททางกฎหมายกับผู้ว่าจ้างอย่าง บมจ. บีทีเอสซี บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)

บีบีซีประมวลเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิสาหกิจแห่งนี้มาเล่า

จาก "สหสามัคคีค้าสัตว์" สู่ "กรุงเทพธนาคม"

วิสาหกิจของ กทม. แห่งนี้ เริ่มต้นในปี 2485 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เริ่มก่อตั้งโดยบุคคล 8 คน ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ในชื่อว่า "บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด เพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าสัตว์ การซื้อ ขาย และส่งออกต่างประเทศ


ต่อมาในปี 2502 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท มีหุ้นรวม 50,000 หุ้น โดยมีเทศบาลนครกรุงเทพในขณะนั้น ถือหุ้นเป็นครั้งแรกจำนวน 3,000 หุ้น


ในระหว่างที่คณะปฏิวัตินำโดยจอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งยึดอำนาจตัวเองทำหน้าที่บริหารประเทศในปี 2514 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 และ 25 ขึ้น โดยรวมเอาจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน เป็นจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ซึ่งต่อมาในปี 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ให้รวมกิจการของนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เป็น "กรุงเทพมหานคร"

หนึ่งปีหลังจากที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 กรุงเทพมหานครได้เข้ามาถือหุ้นทั้งสิ้นในบริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ 44,994 หุ้น คิดเป็น 99.98% จากหุ้นทั้งหมด 50,000 หุ้น


ต่อมา กทม. ได้ ยกเลิกกิจการโรงฆ่าสัตว์ของบริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น "บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด" ในวันที่ 15 ก.ย. 2537 กรุงเทพมหานครยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.98% โดยให้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการให้บริการและการจัดการงานสาธารณูปโภคพื้นฐานในเขตกรุงเทพมหานคร

ผลประกอบการปี 2564 กำไรพุ่งกว่า 2,000%

ภารกิจหลักๆ ของกรุงเทพธนาคมประกอบด้วย การดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพย์สินสาธารณะของกรุงเทพมหานครในระยะยาว เช่น การบริหารจัดการเดินรถโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 30 ปี เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย


นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง รถโดยสายด่วนพิเศษหรือ บีอาร์ที และเรือโดยสาร การสื่อสารและโทรคมนาคม การจัดเก็บและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อในเขต กทม. งานสังคมและสาธารณะ และด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีจำนวนโครงการกว่า 20 โครงการ มูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

ทว่า เมื่อพิจารณาผลประกอบการที่ผ่านมาของกรุงเทพธนาคม ถือว่ามีมูลค่าแตกต่างจากมูลค่าโครงการที่ดูแลอยู่ในปัจจุบัน ข้อมูลผลประกอบการของบริษัฯ ที่รายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ย้อนหลัง 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2560 ระบุว่า บริษัทฯ สร้างรายได้และกำไร ยกเว้นปี 2563 ที่พบว่าขาดทุน ซึ่งส่งผลทำให้กำไรสุทธิในปี 2564 ที่ผ่านมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากกว่า 2,000%

เมื่อปี 2560 บริษัทฯ มีรายได้รวม 636.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.19% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ในปี 2561 มีรายได้ลดลง 29.58% มาอยู่ที่ 447.95 ล้านบาท เช่นเดียวกันกับปี 2562 ที่รายได้ลดลงอีก 20.23% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 357.29 ล้านบาท

แต่ในปี 2563 และ 2564 กรุงเทพธนาคมมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยที่ปี 2563 มีรายได้ 467.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 30.76% จากปี 2562 ส่วนปี 2564 มีรายได้เพิ่มเป็น 935.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 100%

ส่วนกำไรของบริษัทในปี 2560 อยู่ที่ 59.31 ล้านบาท ปี 2561 มีกำไร 26.78 ล้านบาท ปี 2562 มีกำไร 19.44 ล้านบาท ปี 2563 มีผลประกอบการขาดทุน 3.11 ล้านบาท ส่วนปีที่แล้วมีกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 2,145% มาเป็น 63.61 ล้านบาท


เหตุใดปัจจุบันกรุงเทพธนาคมไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน

ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงและความหวังของสังคมหลังจากที่นายชัชชาติดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แล้วคือการจัดการปัญหาเกี่ยวสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กรุงเทพธนาคมเป็นผู้บริหารจัดการโครงการดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ เคยให้สัมภาษณ์ทั้งระหว่างการหาเสียงและหลังจากที่ได้รับตำแหน่งผู้ว่า ฯ กทม. เสนอว่า ทางออกที่ดี หากต้องการต่ออายุสัมปทานโครงการนี้ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2572 ควรจะนำเข้าสู่ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ เพราะยังมีเวลาเพียงพอก่อนที่จะสัญญาสัมปทานปัจจุบันจะสิ้นสุดลง และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมแข่งประมูล ซึ่งอาจจะทำให้ได้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าลดลงอีก และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย(เรื่องยังไม่จบ อ่านเพิ่มใน BBCTHAI อ่านข้อมูลทั้งหมดคลิก(ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "กรุงเทพธนาคม" วิสาหกิจ กทม. ผู้ดูแลการเก็บขยะจนถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียว - BBC News ไทย)


มีคำถาม เหตุใด "ธงทอง"จึงได้รับความไว้วางใจนั่งประธานบอร์ดกรุงเทพธนาคม????

นี้ คือคำตอบ ...!!!!

เพราะก่อนการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. 1 วัน "ธงทอง"หง๋ายไพ่เห็นกันชัดๆว่าเชียร์ใคร?




ผมรู้จักอาจารย์ชัชชาติมาอย่างน้อยก็ในราวสิบห้าปีแล้ว เวลานั้นผมย้ายมารับราชการที่กระทรวงยุติธรรมแล้ว แต่ยังกลับไปสอนหนังสือและเป็นกรรมการนานาชนิดอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงไม่น่าแปลกใจที่ผมจะมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันกับอาจารย์เป็นซึ่งผู้ช่วยอธิการบดีอยู่บ้าง

เวลานั้นอาจารย์เป็นอาจารย์รุ่นใหม่และดาวรุ่งของมหาวิทยาลัย ประวัติการศึกษาที่โดดเด่นบวกกับความสามารถในการทำงานที่ผมได้พบเห็นด้วยตัวเองในมหาวิทยาลัย ทำให้ผมจำชื่อของอาจารย์ได้โดยไม่ต้องท่องซ้ำสอง

เมื่อนาฬิกาเดินหน้าไปเรื่อยๆ อีกช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต เมื่ออาจารย์มาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะที่ผมเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ผมได้พบกับอาจารย์อีกครั้ง ถึงแม้งานของเราจะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรงเพราะอยู่คนละสายงาน แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งผมก็ลุ้นกับทุกเรื่องทุกโครงการที่อาจารย์เสนอและรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงที่มีเครือข่ายครอบคลุมตั้งแต่เหนือจดใต้ทั่วทุกภูมิภาค ด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าเรื่องเหล่านั้นสำเร็จผลขึ้นมาเมื่อไหร่ย่อมเป็นประโยชน์สำหรับเมืองไทยและคนไทยอย่างแน่นอน

หลังจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกลางปีพุทธศักราช 2557 อาจารย์ไปอยู่ในภาคธุรกิจช่วงหนึ่ง แล้วผมก็ได้รับรู้พร้อมกับคนทั้งหลายว่า อาจารย์สนใจที่จะเสนอตัวเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อถึงเวลาที่มีการเลือกตั้ง ตลอดเวลาอย่างน้อยสองสามปีหรือกว่านั้นที่ผ่านมา อาจารย์ศึกษาข้อมูลกรุงเทพทั้งในเชิงลึกและภาพกว้าง คุยกับผู้คนหลากหลายทุกแวดวง รวมทั้งแวะมาคุยกับผมเมื่อปลายปีก่อนเกี่ยวกับงานศิลปวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ เรื่อยไปจนถึงเรื่องเล็ก ได้แก่เรื่องบาทวิถีซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผมและสำหรับคนอีกจำนวนนับล้านในมหานครแห่งนี้ เพื่อนำความคิดเห็นและข้อมูลเหล่านั้นไปวิเคราะห์และเป็นที่มาของนโยบายพร้อมทั้งแนวทางการทำงานที่อาจารย์นำเสนอกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

บนวิถีประชาธิปไตย วันนี้อาจารย์ชัชชาติเสนอตัวให้คนกรุงเทพฯได้พิจารณา ว่าจะไว้วางใจให้อาจารย์ทำหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของเราหรือไม่

ผมตัดสินใจแน่นอนแล้วว่า หนึ่งคะแนนของผม ในตอนสายวันที่ 22 พฤษภาคมที่จะมาถึง อาจารย์ชัชชาตินับเป็นคะแนนของอาจารย์ได้เลยครับ





Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page